วันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา คือวันแรกที่แข้งสาวลูกครึ่งไทย-อเมริกัน แอชลีย์ หรือ อัญชลี ฮอลล์ เข้าร่วมทดสอบฝีเท้ากับฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลไซปรัส คัพ 2019
โดยแข้งวัย 28 ปีที่สามารถลงเล่นได้ทั้งตำแหน่งกองหน้าและปีก ปัจจุบันค้าแข้งอยู่กับเอมวี มีเชอเลน สโมสรในลีกหญิงของเบลเยียม
ในเวลานี้อัญชลีมีโอกาสติดทีมชาติไทยครั้งแรกและทำตามความฝันด้วยการเป็นหนึ่งในตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง 2019 ที่จัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 7 มิถุนายนถึง 7 กรกฎาคมนี้
นอกจากการแข่งขันเพื่อเป็นความหนึ่งในโลกฟุตบอลหญิงแล้ว สำหรับฟุตบอลโลกหญิงในปีนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญสำหรับการเรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างฟุตบอลชายและฟุตบอลหญิง
โดยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล แชมป์โลกปี 2015 ฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ จำนวน 28 คนได้ตัดสินใจยื่นฟ้องสมาคมฟุตบอลแห่งสหรัฐอเมริกาในนครลอสแอนเจลิส เพื่อเรียกร้องสิทธิและผลตอบแทนที่เทียบเท่านักเตะทีมชาติฝ่ายชาย
เนื่องในโอกาสการนับถอยหลังสู่ฟุตบอลโลกหญิง 2019 THE STANDARD ได้มีโอกาสสัมภาษณ์อัญชลีถึงประสบการณ์และวิธีคิดในฐานะนักฟุตบอลหญิงอาชีพที่ค้าแข้งอยู่ในลีกยุโรป รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของทีมนักกีฬาหญิงที่สร้างสถิติโลกถึง 2 ครั้งในการเข้าร่วมโครงการ Equal Playing Field ในปี 2017 ที่สร้างสถิติขึ้นไปเล่นฟุตบอลที่ยอดเขาคิลิมันจาโร แทนซาเนีย ที่ความสูง 5,714 เมตร และในปี 2018 ที่ลงเล่นฟุตบอลในบริเวณเดดซี ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1,412 ฟุต เป็นพื้นดินจุดที่ต่ำที่สุดของโลก เพื่อเป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในโลกกีฬา
เล่าถึงวันที่ทีมคุณเดินทางไปทำลายสถิติโลกเมื่อปี 2017 ให้เราฟังหน่อย
เราเดินทางขึ้นไปถึงยอดเขาคิลิมันจาโรเมื่อเดือนมิถุนายน 2017 ร่วมกับ Equal Playing Field องค์กรที่ต้องการสร้างความตื่นตัวในความไม่เท่าเทียมต่อผู้หญิงในวงการกีฬา
เราใช้เวลาเดินทาง 7 วันเพื่อปีนขึ้นสู่ยอดเขา และเล่นฟุตบอลในจุดสูงที่สุดที่ฟีฟ่ารับรอง โดยมีเพียงนักเตะหญิงลงเล่นที่ความสูง 5,714 เมตร ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากลำบาก แต่เราก็ได้ประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม
หลังจากเราประสบความสำเร็จกับภารกิจแรก เจ้าชายจากจอร์แดนก็ได้เชิญเราไปสร้างสถิติโลกอีกครั้งในการเล่นฟุตบอลที่จุดที่ต่ำที่สุดของโลก ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 326 เมตร ซึ่งนอกจากการแข่งขันฟุตบอล เราได้จัดคลินิกสอนฟุตบอลสำหรับเยาวชนหญิงในชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สัมผัสกับความสนุกของฟุตบอลด้วย
จุดประสงค์หลักของ Equal Playing Field คืออะไร
จุดประสงค์หลักคือความเท่าเทียมในสนามแข่งขัน เราต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่านักกีฬาหญิงควรจะได้รับทุกอย่างที่เท่าเทียมกัน จากการทำงานที่เท่ากัน ความเท่าเทียมในฐานะนักกีฬาและความสำเร็จ ซึ่งบางครั้งเราก็ประสบความสำเร็จมากกว่านักกีฬาชายในการแข่งขันบางอย่าง
จุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ 21 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ตอนที่เริ่มเล่น ตอนนั้นฉันอายุ 9 ขวบ อยู่ในเมืองเล็กๆ ที่มีชื่อว่าฮาซาร์ด ในรัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา ประชากรของเมืองนี้มีเพียง 4,000 คน ฟุตบอลไม่ใช่กีฬาที่มีชื่อเสียง และเมืองนี้ก็เพิ่งก่อตั้งลีกฟุตบอลเป็นครั้งแรก จำได้ว่าตอนนั้นต้องลงเล่นกับเด็กผู้ชาย รวมถึงพี่น้องของฉันด้วย
ใครคือแรงบันดาลใจในการเล่นฟุตบอลของคุณ
ที่ผ่านมามีหลายคนที่เป็นแรงบันดาลใจ แต่คนที่สำคัญที่สุดคือโค้ชช่วงมหาวิทยาลัยที่ช่วยให้มีแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องในการเล่นฟุตบอล แต่ถ้าหากพูดถึงไอดอลในวงการฟุตบอลก็ต้องยกให้ มียา แฮมม์ ตำนานนักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ
การใช้ชีวิตในฐานะนักฟุตบอลอาชีพในลีกเบลเยียมเป็นอย่างไร
เบลเยียมและยุโรปเป็นประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับการเป็นนักฟุตบอลหญิงอาชีพ มันเป็นการแข่งขันที่สูง และมีระบบลีกการแข่งขันที่แข็งแกร่ง
คิดอย่างไรกับการตัดสินใจของฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ในการยื่นฟ้องสมาคมฟุตบอลแห่งสหรัฐฯ
ส่วนตัวคิดว่าการตัดสินใจนี้เป็นการช่วยเหลือเพื่อนผู้หญิงในการทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่น มันเป็นบทพิสูจน์ว่าแม้ว่าทีมที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จมากที่สุดทีมหนึ่งในโลกก็ต้องพบเจอกับปัญหาที่คล้ายกับผู้หญิงอื่นๆ ทั่วโลก เป็นการพิสูจน์ว่าเรายังมีจุดที่ต้องพัฒนากันอีกมาก
สถานการณ์ในปัจจุบันของการผลักดันสิทธิผู้หญิงในโลกกีฬาเป็นอย่างไร
การผลักดันสิทธิผู้หญิงในโลกกีฬาตอนนี้เป็นหัวข้อสำคัญในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้มีแคมเปญที่ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนมากขึ้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการนำเสนอข่าวสารการแข่งขันกีฬาหญิงให้กับเยาวชนทั้งชายและหญิง
ที่ผ่านมาเราจะได้ยินตลอดว่าเด็กหญิงมีไอดอลเป็นนักกีฬาชาย แต่น้อยมากที่เราจะได้ยินเด็กผู้ชายที่มีไอดอลเป็นนักกีฬาหญิง และนั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น
วันหนึ่งคุณอาจจะใส่เสื้อทีมชาติไทยลงสนามพบกับทีมชาติสหรัฐฯ บ้านอีกหลังของคุณในศึกฟุตบอลโลก วันนั้นคุณจะรู้สึกอย่างไร
ฉันรู้สึกผูกพันกับประเทศไทย เนื่องจากฉันมีรากฐานมาจากไทย แต่พอถึงเวลาจริง สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องเล่นเพื่อตราสัญลักษณ์บนหน้าอก และมันคงเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมากที่จะได้ลงสนามร่วมกับนักเตะทีมชาติสหรัฐฯ ที่เป็นแรงบันดาลใจในการเล่นฟุตบอลของฉัน
คิดอย่างไรกับฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยกับความสำเร็จในเวทีนานาชาติ
ศักยภาพของฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและน่าภูมิใจเวลาได้เห็นพวกเขาสามารถแข่งขันกับทีมชั้นนำของเอเชียและของโลกได้ พวกเขาแสดงให้เห็นถึงบุคลิกและสปิริตที่แข็งแกร่ง
สุดท้ายนี้คุณคาดหวังอะไรกับฟุตบอลโลก 2019 หากได้รับใช้ทีมชาติไทยในรายการนี้
เป้าหมายสำหรับการแข่งขันนี้ไม่ใช่แค่การเป็นส่วนหนึ่งของทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกกีฬา แต่รวมถึงการได้รับโอกาสเป็นตัวแทนบ้านเกิดและประเทศที่มีความหมายมากสำหรับฉันเอง ได้โอกาสร่วมต่อสู้ในฐานะส่วนหนึ่งของทีมชบาแก้ว!
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์