×

ประชุมอาเซียน 2023: ประเด็นน่าจับตา ไบเดนไม่มาสะท้อนอะไร และปัญหาท้าทายหลังจากนี้

06.09.2023
  • LOADING...
ประชุมอาเซียน 2023

บรรดาผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 2023 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 กันยายนนี้ ที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ท่ามกลางความขัดแย้งในกลุ่มประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จากความพยายามผลักดันสันติภาพในเมียนมาที่หยุดชะงักลง รวมถึงหารือประเด็นวิกฤตในทะเลจีนใต้และการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนภายในภูมิภาคนี้ที่นับวันยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างมาก

 

ประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีรัฐบาลชุดใหม่ สื่อหลายสำนักรายงานว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย อาจพลาดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่แล้วเสร็จ โดยมอบหมายให้ ศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนประเทศไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมอาเซียนที่อินโดนีเซียแทน

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงประเด็นที่น่าจับตามองในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 2023 รวมถึงบทบาทของไทยและอาเซียนต่อกรณีรัฐประหารในเมียนมา และภาพรวมความสำเร็จของอาเซียนในรอบทศวรรษ

 

ประเด็นที่น่าจับตามองในการประชุมอาเซียน 2023 

 

รศ.ดร.ปิติระบุว่า ถ้าเป็นเรื่องของฝ่ายไทยเราเอง ก็เป็นเรื่องของกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ทำให้ไม่มีผู้นำรัฐบาลไทยเข้าไปประชุมในครั้งนี้ ตามมาด้วยประเด็นเมียนมา ประเด็นเรื่องผลลัพธ์ของการประชุม ซึ่ง รศ.ดร.ปิติมองว่า การประชุมในปีนี้เหมือนกับเป็นภาคต่อจากที่เราเคยเป็นเจ้าภาพอาเซียนเมื่อปี 2019 แล้วปี 2020-2022 ด้วยสถานการณ์โควิดและบริบทแวดล้อมอื่นๆ ทำให้การประชุมหลังจากนั้นเกิดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญๆ ยังไม่ถูกผลักดัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอินโด-แปซิฟิก ซึ่งทั้งไทยและอินโดนีเซียต่างมองเป็นเรื่องใหญ่ เลยกลายเป็นเหมือนกับว่าสิ่งที่เราทำไว้เมื่อปี 2019 ได้รับการต่อยอดในปี 2023 

 

ขณะที่เจ้าภาพอินโดนีเซียเองก็ ‘เสียหน้า’ ไม่น้อยที่ผู้นำสหรัฐฯ อย่าง โจ ไบเดน ไม่เดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้ สิ่งที่เราต้องจับตาดูคือ บทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ทั้งหมดนี้จะเป็น 4 เรื่องที่เราคงต้องคุยกัน

 

การที่ผู้นำรัฐบาลไทยไม่ไปร่วมประชุม ส่งผลแค่ไหนต่อการขับเคลื่อนมติอาเซียนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

 

รศ.ดร.ปิติอธิบายว่า จริงๆ แล้วกระบวนการทำงานของอาเซียน แน่นอนว่าผู้นำรัฐบาลเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับสูงสุด แต่ว่าระหว่างทาง กลไกที่สำคัญๆ ตั้งแต่การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสมาจนถึงระดับรัฐมนตรีก็มีกระบวนการตัดสินใจไปแล้วระดับหนึ่ง เพียงแต่ว่ามาทำให้เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 

 

สำหรับกรณีของประเทศไทย ที่ผ่านมาเรื่องที่เป็นวาระสำคัญและเจรจากันมาตลอดทั้งปี ได้มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นเรื่องหลักๆ เราคงไม่ได้เสียประโยชน์อะไร แต่แน่นอนว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนมีกระบวนการที่เรารู้จักกันในนาม ‘ASEAN Way’ ซึ่งหมายรวมถึงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่บางครั้งเรื่องสำคัญๆ อาทิ กรณีเมียนมา เขาก็คงไปพูดคุยกันในเวทีที่ไม่ได้เป็นทางการเหล่านั้น ซึ่งเราเองก็อาจจะพลาดโอกาสตรงนั้นจากการที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยไม่ได้ไปเข้าร่วมการประชุม แม้ปลัดกระทรวงจะมีอำนาจเต็มในการเข้าร่วมประชุม แต่การตัดสินใจก็จะไม่เหมือนกับระดับผู้นำรัฐบาล หรืออย่างน้อยระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

ความท้าทายของ เกา กิม ฮวน ในฐานะเลขาธิการอาเซียนคนใหม่ 

 

รศ.ดร.ปิติให้ความเห็นว่า นี่เป็นครั้งแรกที่กัมพูชาได้รับโอกาสให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน แต่ว่า เกา กิม ฮวน (Kao Kim Hourn) ก็ไม่ได้เป็นหน้าใหม่ในวงการอาเซียน เขาทำงานในกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา และเป็นมือสำคัญของกัมพูชาที่พูดคุยในข้อตกลงและรายละเอียดที่ได้นำพากัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในช่วงทศวรรษ 1990 เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีใครสักคนที่รู้จักอาเซียนได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ในกัมพูชาก็น่าจะเป็นเกา กิม ฮวน

 

แน่นอนว่าเขาอาจมีช่วงเวลาที่ต้องเรียนรู้ลักษณะของงานที่เป็นตำแหน่งใหม่อยู่บ้าง แต่ถือว่าด้วยประสบการณ์ที่ทำงานเกี่ยวกับอาเซียนมาโดยตลอด กระบวนการเรียนรู้ตรงนี้ไม่ได้ช้า และเท่าที่ผ่านมาจากการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ตลอดจนระดับรัฐมนตรี รวมไปถึงซัมมิตเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่ได้มีประเด็นอะไรที่ต้องเป็นห่วงหรือเป็นกังวล

 

อะไรคือความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่สุดของอาเซียนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

 

รศ.ดร.ปิติกล่าวว่า ถ้าในช่วงเวลา 10 ปีย้อนหลัง แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก นั่นก็คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน และประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน ที่เกิดขึ้นในปี 2015 ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักที่ทำให้อาเซียนพลิกจากวิกฤตต่างๆ กลายเป็นโอกาสได้ในหลากหลายเวที 

 

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี 2019 ไทยกับอินโดนีเซียทำงานหนักมากในการผลักดันเอกสารสำคัญที่เรียกว่า ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP ได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะช่วยยืนยันความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ท่ามกลางความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้ ซึ่งตามที่อาจารย์เข้าใจคือมีอย่างน้อย 15 ประเทศแล้วที่จัดทำยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกออกมา ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่พื้นที่ของคุณเลย เพราะฉะนั้น เราเองยืนยันเรื่องพวกนี้ได้ และปีนี้อินโดนีเซียก็ยังขานรับประเด็นนี้ต่อ รศ.ดร.ปิติชี้ว่านี่คือความสำเร็จประการที่ 2 ทำให้เรายังคงยืนยันการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ท่ามกลางความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์ 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่สืบเนื่องกันด้วย แต่ว่าอาจเกินขอบเขตของอาเซียนออกไป แต่ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จด้วย นั่นก็คือการสรุปข้อตกลงของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ‘ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค’ (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทำให้เราสามารถมีเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในช่วงเวลาที่มหาอำนาจทำสงครามการค้า เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีกัน ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อาเซียนประสบผลสำเร็จมากที่สุดในช่วงตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

 

กรณีความไม่สงบในเมียนมา กระทบต่อภาพลักษณ์ของอาเซียนมากน้อยแค่ไหน

 

รศ.ดร.ปิติระบุว่า เวลาเรามองเมียนมา เราต้องมองด้วยมุมมองที่ปราศจากอคติก่อน บางทีคนมักจะมองเมียนมาด้วยสายตาที่เลือกข้างแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไปแล้ว อาเซียนเองประสบความสำเร็จในเรื่องของเมียนมาหรือเปล่า เราก็ต้องไปดูว่าหลังจากที่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เกิดอะไรขึ้น 

 

อาเซียนใช้เวลาไม่นาน ถัดจากนั้นอีกแค่สองเดือน อาเซียนก็สามารถออก ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ได้ รศ.ดร.ปิติมองว่า นี่ก็ถือเป็นพัฒนาการหนึ่งของอาเซียน จากเดิมที่ตัวใครตัวมัน จะมีปฏิวัติรัฐประหารอย่างไรก็ไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นเรื่องภายในประเทศนั้นๆ แต่ด้วยเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ผูกพันกันมากยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นครั้งแรกๆ ที่สมาชิกอาเซียนต่างรู้สึกว่า เราจะมาต่างคนต่างอยู่อย่างนั้นไม่ได้ เราจำเป็นต้องหาทางพูดคุยในประเด็นนี้ร่วมกัน 

 

พัฒนาการนี้เราจะเห็นว่าในฉันทามติ 5 ข้อ ประสบความสำเร็จอยู่เพียง 1 ข้อเท่านั้น นั่นคือเรื่องที่อาเซียนให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance) ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด นาทีนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาแบ่งออกเป็น (1) ความรุนแรงมาจากทุกฝ่าย มาทั้งจากฝ่ายเผด็จการทหารและทั้งจากฝ่าย ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (National Unity Government: NUG) และรัฐบาล NUG ก็มีกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่า People’s Defence Force รวมกับกองกำลังติดอาวุธที่เรียกว่า ‘องค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์’ (Ethnic Armed Organization) ทุกอย่างกลายเป็นความรุนแรงและถูกตีความเป็นเรื่องการเมืองหมด

 

ล่าสุดทอร์นาโดที่พัดถล่มทางตอนใต้ของเมียนมาเมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศแทบไม่นำเสนอข่าวประเด็นนี้ ในขณะที่องค์กรที่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ภายใน 24 ชั่วโมงคือ ‘ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ’ (AHA Centre) ที่สามารถส่งทีมแพทย์และทีมช่วยเหลือได้ในทันที เช่นเดียวกันกับพื้นที่ที่มีประเด็นอ่อนไหวมากๆ อย่างกรณีโรฮิงญา อีกทั้ง AHA Centre ยังได้รับข้อมูลจากภายในเมียนมาที่จะนำมาใช้ประกอบการดำเนินนโยบายของอาเซียนได้อีกเต็มไปหมด เพียงแต่ว่าอาจได้รับการพูดถึงในพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการ

 

(2) มีมหาอำนาจภายนอกแทรกแซงอย่างชัดเจน เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ศูนย์ราชการเมียวดีของเมียนมา มีโดรนติดอาวุธทิ้งระเบิด ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทางการและผู้บริหารระดับสูงเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง คาดว่าอาจเป็นกะเหรี่ยง KNU หรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมากที่กลุ่มกองกำลังเหล่านี้จะครอบครองอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและมีราคาแพงเช่นนี้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจภายนอก โดยเฉพาะจากโลกตะวันตก 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า คุณไม่ได้สนใจแล้วว่าคนที่เสียชีวิตเป็นคนที่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารหรือไม่ คุณสนใจแค่ต้องการทำลายระบอบซึ่งเป็นมุมมองที่น่ากลัวมาก และถ้าถามว่าผู้นำอาเซียนรู้เรื่องนี้ไหม คำตอบคือรู้ ถ้าคุณไปดูผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ในเอกสารดังกล่าวที่กล่าวถึงเมียนมาจะมีการระบุว่า “Any other effort must support the implementation of Five-Point Consensus” ซึ่งสะท้อนว่าอาเซียนเปิดทางให้สามารถมีความพยายามอื่นใดก็ได้ในกรณีของเมียนมา ตราบใดที่ความพยายามอื่นใดนั้นสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อ 

 

หลังจากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประเทศไทยเริ่มทำการทูตแบบ ‘Quiet Diplomacy’ รวมถึงเชิญประชุมฉาก 1.5 และเป็นการประชุมแบบไม่เป็นทางการ เราเชิญประชุมทุกฝ่ายที่เป็น Policy Maker นักวิชาการ เอาสองกลุ่มนี้มารวมกัน กลายเป็นฉาก 1.5 และไม่ได้เชิญแค่เฉพาะ 10 ประเทศอาเซียน มีตัวแทนจีน อินเดีย บังกลาเทศ และญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วย เพราะต้องการให้ทุกฝ่ายสามารถคุยกันได้ถึงสถานการณ์จริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าในเวทีอาเซียนบล็อกเขาไปแล้วก็ไม่มีพื้นที่ให้คุยแล้ว เราก็เลยต้องเปิดพื้นที่คุยในประเด็นนี้ 

 

นี่คือภาพสะท้อนของ ‘Any other effort’ พอเราจัดครั้งที่ 1 เสร็จทุกฝ่ายแฮปปี้ ตามมาด้วยครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เราเริ่มเห็นแล้วว่าสัญญาณดีเริ่มมา ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในช่วงเวลานั้น จึงส่งจดหมายส่วนตัวไปถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน โดยเชิญประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อช่วงกลางปีนี้ โดยหวังว่าฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมาจะขยับจุดยืนบางอย่าง เพื่อให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น แต่การเมืองในประเทศไทยกลับโจมตีดอนว่าสนับสนุนเผด็จการทหารเมียนมา ต่อมาดอนได้ไปเนปิดอว์และได้พบกับ ออง ซาน ซูจี กลายเป็นผู้นำระดับสูงของต่างประเทศคนแรกที่ได้พบกับออง ซาน ซูจี นับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารเมื่อต้นปี 2021 และการที่ได้พบกับออง ซาน ซูจี ก็ยืนยันได้ว่าเธออยู่ในเงื่อนไขด้านสุขภาพที่ยังโอเค และยังยืนยันได้ว่าออง ซาน ซูจี ต้องการ Dialogue ให้มีการเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่างกัน 

 

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า “เราเองก็แสดงบทบาทในเชิง Pro-active เพราะคุณเองก็คงไม่อยากให้มีใครมาติดอาวุธให้กับกองกำลังที่อยู่ริมรั้วบ้านเรา เราก็คงจะทำทุกอย่างและเราก็มีสิทธิทำด้วย เพราะฉะนั้น เราก็เห็นแหละว่าบางทีสิ่งที่ประเทศไทยทำก็ประสบความสำเร็จในทางที่เราทำ และสิ่งที่เราทำก็เป็นบทบาทนำในอาเซียน”

 

รู้จัก AOIP เบื้องต้น: AOIP คืออะไร

 

รศ.ดร.ปิติอธิบายว่า ในปี 2019 ที่เราเป็นเจ้าภาพอาเซียน ไทยกับอินโดนีเซียได้ผลักดันเอกสารสำคัญที่เรียกว่า ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP ได้สำเร็จ “คุณลองนึกภาพดูว่านี่คือสนามหลังบ้านเรา แล้วทุกคนบอกจะมาใช้สนามหลังบ้านเรา แต่เราบอกแล้วว่าถ้าคุณจะมาใช้สนามหลังบ้านผม เรื่องแรกที่ผมบอกเลยใน AOIP คือผมไม่คุยเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ หลังบ้านผม ถ้าคุณจะเข้ามาทำอะไร คุณต้องเน้นเรื่อง ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ (Sustainable Development)

 

“ประเด็นที่ 2 ของ AOIP คือเสาหลักด้านเศรษฐกิจที่ระบุว่า พื้นที่นี้จะไม่ได้เป็นพื้นที่ที่พวกคุณมาทำสงครามการค้ากัน เรายังยืนยันในเรื่องของซัพพลายเชน และสรุปข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง RCEP ได้เมื่อปี 2019 และในปีนี้เจ้าภาพอย่างอินโดนีเซียก็พูดถึงความพยายามในการผลักดันให้ RCEP กลายเป็นสถาบันมากยิ่งขึ้น และอาจมีการก่อตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP ขึ้นในอนาคต การประชุมหนนี้จึงเหมือนเป็นการประชุมภาคสองที่ต่อเนื่องมาจากปี 2019 ถ้าไม่รีบทำปีนี้ แล้วปี 2024 สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนและอาจไม่ได้ผลักดันเรื่องพวกนี้อีก สปป.ลาว อาจจะไปเน้นเรื่องโลจิสติกส์และพลังงาน ซึ่งก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

 

“ประเด็นที่ 3 ถ้าเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้จากข้อ 2 จะต้องเชื่อมโยงกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจีนคุณจะมี Belt and Road Initiative ถ้าสหรัฐฯ จะมี Indo-Pacific Economic Partnership ถ้าญี่ปุ่นจะมี Free and Open Pacific คุณต้องทำให้มันสอดคล้องกับแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) ซึ่งประเทศไทยเป็นคนเสนอเมื่อปี 2009 ในขณะที่เราเป็นประธานอาเซียน

 

“จะเห็นได้ว่าเราก็ใช้วิธีการที่เรามีแพลตฟอร์มอยู่แล้ว ผลักดันให้เราเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น พอเป็นการประชุมที่อินโดนีเซียในปีนี้ สิ่งที่เราจะได้เห็นต่อคือ หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน จะได้ประชุมกับผู้นำอาเซียนและมีแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อหา Positive Sum Game ระหว่าง Belt and Road Initiative กับ AOIP เราจะได้เห็น คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ หารือกับผู้นำอาเซียน และบอกว่า Indo-Pacific Strategy ของสหรัฐฯ กับ AOIP จะเชื่อมโยงกันอย่างไร เราจะได้เห็นการประชุม ASEAN – เกาหลีใต้ ครั้งที่ 24 และพูดถึงว่านโยบายของ ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กับ AOIP จะเกี่ยวพันกันอย่างไร แล้วเราก็จะเห็น ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น บอกว่า Free and Open Indo-Pacific กับ AOIP จะร่วมมือกันได้อย่างไร 

 

“และประเด็นที่ 4 ของ AOIP เราบอกว่าถ้าจะคุยประเด็นเรื่องความมั่นคง ขอให้ไปใช้แพลตฟอร์มร่วมกันที่เรียกว่า ASEAN Regional Forum ที่ไทยเคยเป็นผู้เสนอในปี 1995”

 

การที่ โจ ไบเดน และ สีจิ้นผิง ไม่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมอาเซียน 2023 สะท้อนนัยอะไรหรือไม่ 

 

รศ.ดร.ปิติชี้ว่า ปกติแล้ว สีจิ้นผิง ไม่ได้เดินทางมาร่วมการประชุมอาเซียนอยู่แล้ว แต่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจีนทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนแทนประธานาธิบดีจีน สิ่งนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่เริ่มต้นความสัมพันธ์อาเซียน-จีนในปี 1997 ถ้าเป็นสีจิ้นผิงมาเองอาจจะสะท้อนนัยความผิดปกติ เพราะอาจสื่อให้เห็นว่าสีจิ้นผิงมีปัญหาอะไรกับหลี่เฉียงหรือเปล่า ซึ่งอันนั้นน่ากลัวกว่ามาก 

 

และการที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมอาเซียนในครั้งนี้ ถือว่าอินโดนีเซียเสียหน้าไม่น้อย เพราะพยายามจัดตารางเวลาให้เอื้อต่อการเดินทางของผู้นำประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ โดยปกติผู้คนจะทราบดีว่า การประชุม G20 การประชุมอาเซียน และการประชุม APEC จะเป็น 3 การประชุมสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี แต่ในปีนี้เจ้าภาพจัดการประชุม APEC เป็นสหรัฐฯ นั่นหมายความว่าถ้าหากจัดในช่วงปลายปีทั้งหมด ผู้นำสหรัฐฯ อาจไม่ได้เดินทางเข้าร่วมเวทีการประชุมอื่นๆ พออินเดียเลื่อนจัดการประชุม G20 ในปีนี้เร็วขึ้น เจ้าภาพการประชุมอาเซียนจึงขยับวันให้เร็วขึ้น เพราะมองว่าผู้นำสหรัฐฯ อย่างโจ ไบเดน จะเดินทางออกนอกประเทศนานไม่ได้ และอาจมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพ แต่ท้ายที่สุดผู้นำสหรัฐฯ อย่างโจ ไบเดน ก็ไม่เดินทางมาร่วมการประชุมในครั้งนี้

 

“แต่การไม่มาประชุมอาเซียนของผู้นำสหรัฐฯ ยังไม่สำคัญเท่ากับการที่ผู้นำสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนเวียดนาม สิ่งนี้สะท้อนนัยให้เห็นว่าสหรัฐฯ อาจไม่สนใจภูมิภาคนี้อีกต่อไป ไม่ใช่ไม่สนใจภูมิภาคในเชิงทำเลที่ตั้งหรือเชิงยุทธศาสตร์ แต่ไม่สนใจกระบวนการที่จะมานั่งเจรจาในเวทีการประชุมระดับภูมิภาคอย่าง East Asia Summit (EAS) ที่จัดขึ้นพร้อมๆ กับการประชุมอาเซียน เพราะสหรัฐฯ ทราบดีว่าอำนาจของตนเองอยู่ในขาลง สู้ไปเวียดนามในช่วงเวลาที่เวียดนามกำลังเปราะบางที่สุดดีกว่า เพราะขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจของเวียดนามกำลังน่าเป็นกังวล ประกอบกับวิกฤตการเมืองที่มีคลื่นใต้น้ำและปัญหาคอร์รัปชัน คุณคิดว่าถ้าสหรัฐฯ ตัดสินใจคุยกับเวียดนามหรือแม้แต่เมียนมาในช่วงเวลานี้ คุณคิดว่าประเทศเหล่านี้จะกล้าต่อรองกับสหรัฐฯ เหรอ เพราะฉะนั้น สหรัฐฯ จะยอมคุยก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ กำหนดเกมได้ และพูดคุยแล้วต้องรู้ว่าจะชนะ นั่นยิ่งทำให้อินโดนีเซียเสียหน้าเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่ยอมทำทุกอย่าง แต่สหรัฐฯ กลับไม่มา และเลือกไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันแทน”

 

รศ.ดร.ปิติกล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องที่เป็นความท้าทายที่สุดของอาเซียนในขณะนี้คือเรื่องเศรษฐกิจ เพราะลูกค้ารายสำคัญของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ต่างกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ปี 2024 อาเซียนจะมีแนวทางจัดการให้ซัพพลายเชนต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับประเทศเหล่านี้และประชาคมโลกเข้มแข็งได้อย่างไร รวมถึงอยากเห็นอาเซียนมีวิธีการจัดการต่อวิกฤตในเมียนมาในแนวทางใหม่ๆ ถ้าที่ผ่านมาฉันทามติ 5 ข้อมันไม่ฟังก์ชันมา 2-3 ปีแล้ว อาจจะต้องหาแนวทางใหม่ และหนึ่งในแนวทางที่ได้ผลคือแนวทางที่ประเทศไทยใช้ อาเซียนน่าจะต้องพิจารณาในประเด็นนี้ใหม่ หลังจากการแทรกแซงของมหาอำนาจภายนอกที่เด่นชัดมากยิ่งขึ้น

 

ภาพ: Achmad Ibrahim / POOL / AFP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising