×

อาเซียน-จีน จับมือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ตั้งเป้า 1 ปีเพิ่มมูลค่าการลงทุน 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดย THE STANDARD TEAM
03.11.2019
  • LOADING...
Asean

วันนี้ (3 พฤศจิกายน) เวลา 09.45 น. ณ ห้องแซฟไฟร์ 204 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 ภายหลังเสร็จสิ้น นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

 

การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 มีขึ้นเพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน โดยมีประเทศสมาชิก 10 ประเทศอาเซียนและนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วม

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการประชุมในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่อาเซียนและจีนจะได้เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้สูงขึ้นอีกระดับเพื่อประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนถือว่ามีพลวัตมากที่สุดประเทศหนึ่งจากพัฒนาการความสัมพันธ์ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนของภูมิภาค

 

ไทยในฐานะประธานอาเซียนหวังที่จะเห็นความสัมพันธ์อาเซียน-จีนเจริญเติบโตยิ่งขึ้นไปเพื่อความผาสุกและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้อาเซียนชื่นชมจีนสำหรับบทบาทในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและในการช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจความเชื่อมโยง และความร่วมมือระหว่างประชาชนอย่างแข็งขัน

 

ในปี 2561 ที่ผ่านมา ครบรอบ 15 ปีความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนและจีน โดยได้รับรอง ‘วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030’ ที่ถือเป็นแนวทางความสัมพันธ์อย่างรอบด้านระหว่างกัน โดยที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้กระชับความร่วมมือตามวิสัยทัศน์ดังกล่าว เช่น การที่จีนยังคงตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มมูลค่าการลงทุนระหว่างกัน 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปีหน้า 

 

การที่อาเซียนและจีนจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันโดยมีแผนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทของอาเซียนในเรื่องนี้ (MPAC 2025) กับ BRI ของจีน รวมถึงการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

 

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาพลวัตด้านความมั่นคงที่ยั่งยืนระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ และร่วมมือกันเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลางผ่านกลไกต่างๆ

 

ในด้านเศรษฐกิจ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับ Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูง รวมทั้งประสงค์ที่จะเชิญชวนให้อาเซียน จีน รวมถึงประเทศที่สามมาลงทุนใน EEC ในภาคตะวันออกของไทย

 

โดยไทยยินดีที่จะประกาศว่าอาเซียนและจีนกำหนดให้ปี 2563 เป็น ‘ปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้าเพื่อความมั่งคั่งของภูมิภาค

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising