×

จับตาประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน: ผู้นำเขาคุยเรื่องอะไรกัน

20.06.2019
  • LOADING...
asean-summit-2019

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • การประชุมที่จะเกิดขึ้นในระหว่างสัปดาห์นี้ ไม่ใช่เพียงเฉพาะการประชุมของผู้นำเท่านั้น ในความเป็นจริงยังมีการประชุมอื่นๆ (Sub Meetings) ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน
  • ในบรรดาการประชุมย่อยๆ ที่จะเกิดขึ้นในห้วงระยะเวลาเดียวกัน เรื่องสำคัญที่สุดที่ทุกฝ่ายจับตามองถึงผลลัพธ์จากการประชุมมี 2 ประเด็น นั่นคือ 1. ท่าทีของผู้นำอาเซียนต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Outlook) 2. ท่าทีของประเทศอาเซียนต่อการเจรจาการค้าในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP
  • นาทีนี้ อินโด-แปซิฟิก ที่มีอาเซียนตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลาง กำลังกลายเป็นเวทีประลองกำลังของมหาอำนาจเก่าคือ สหรัฐอเมริกา และมหาอำนาจเก่ากว่าที่ต้องการกลับมาทวงบัลลังก์ นั่นคือ จีน
  • ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ต้องจับตาว่าท่าทีของผู้นำอาเซียนต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Outlook) จะเป็นอย่างไร

ในบทความที่แล้ว ผมได้ปูพื้นให้คุณผู้อ่านได้ทราบไปแล้วถึงข้อมูลเบื้องต้นที่พวกเราชาวไทยควรรู้ในฐานะที่เราจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียน ซึ่งจะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2019 (อ่าน 10 เรื่องควรรู้ ก่อนร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน)

 

ในบทความชิ้นนี้ ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อครับว่า แล้วในระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2019 ที่ไทยจะเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน พวกผู้นำเขามีวาระการประชุมกันในเรื่องอะไรบ้าง

 

การประชุมที่จะเกิดขึ้นในระหว่างสัปดาห์นี้ไม่ใช่เพียงเฉพาะการประชุมของผู้นำเท่านั้นนะครับ ในความเป็นจริงยังมีการประชุมอื่นๆ (Sub Meetings) ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน ได้แก่ (คำแปลชื่อในภาษาไทยอาจจะไม่ตรงกับชื่อทางการนะครับ ผมใช้การแปลเพื่อให้เข้าใจหน้าที่การทำงานเป็นหลัก)

 

  • การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (ASEAN Senior Officials’ Meeting: ASEAN SOM)
  • การประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับคณะกรรมการเจรจาการค้าอาเซียน (Preparatory ASEAN Trade Negotiating Committee Meeting)
  • การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMP-EAGA ครั้งที่ 13 (BIMP-EAGA Senior Official’s Preparatory Meeting for the 13th BIMP-EAGA Summit) โดย BIMP-EAGA ย่อมาจาก Brunei Indonesia Malaysia Philippines East ASEAN Growth Area ซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคของกลุ่มประเทศอาเซียนภาคพื้นมหาสมุทร (บรูไน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์)
  • การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำ IMT-GT ครั้งที่ 12 (IMT-GT Senior Official Preparatory Meeting for the 12th IMT-GT Summit) โดย IMT-GT ย่อมาจาก Indonesia Malaysia Thailand Growth Triangle หรือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค
  • การประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat: AMM)
  • การประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในประเด็นข้อตกลงการค้าเสรี Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ ASEAN+6 (Special ASEAN Economic Ministers’ Meeting on RCEP)
  • การประชุมคณะผู้ประสานงานประเด็นความร่วมมือในเสาหลักประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community (APSC) Council Meeting)
  • การประชุมคณะผู้ประสานงานประเด็นความร่วมมือระหว่าง 3 เสาหลักของประเทศประชาคมอาเซียน (ASEAN Coordinating Council: ACC)
  • การประชุมของหัวหน้ารัฐบาลอาเซียน (ASEAN Leader’s Interface) การประชุมนี้คือเวทีที่ผู้นำของทั้ง 10 ประเทศจะได้พบปะหารือและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ โดยจะจัดในวันที่ 23 มิถุนายน 2019 ช่วงเช้า ณ โรงแรม Plaza Athenee และในตอนบ่ายเราคงได้เห็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในฐานะประเทศอาเซียน อ่านแถลงการณ์ร่วมที่เป็นผลลัพธ์จากการประชุม
  • การประชุมสุดยอดผู้นำ IMT-GT ครั้งที่ 12 (the 12th IMT-GT Summit)
  • ประชุมสุดยอดผู้นำ BIMP-EAGA ครั้งที่ 13 (the 13th BIMP-EAGA Summit)

 

จะเห็นได้ว่าการประชุมครั้งนี้มีหลายการประชุมย่อยๆ เกิดขึ้นในห้วงระยะเวลาเดียวกัน แต่ทั้งหมดผมคิดว่า เรื่องสำคัญที่สุดที่ทุกฝ่ายจับตามองถึงผลลัพธ์จากการประชุมน่าจะมี 2 ประเด็น นั่นคือ

 

  1. ท่าทีของผู้นำอาเซียนต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Outlook)
  2. ท่าทีของประเทศอาเซียนต่อการเจรจาการค้าในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP

 

ซึ่งทั้งสองเรื่องถือเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะอาเซียนซึ่งเป็นความร่วมมือของทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในการเชื่อมโยง 2 มหาสมุทร นั่นคือมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก และมหาสมุทรอินเดียทางทิศตะวันตก

 

โดยแท้จริงแล้วทุกครั้งที่เราเขียนคำว่า อินโด-แปซิฟิก เครื่องหมาย – ตรงกลางระหว่าง 2 มหาสมุทรก็คืออาเซียนนั่นเอง ด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ อาเซียนจึงมีแต้มต่อทั้งในมิติภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-Politics) และภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geo-Economics) ในห้วงเวลาที่มหาอำนาจทั่วโลกกำลังดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

 

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเป็นคำใหม่ที่เพิ่งจะถูกใช้ในราว 10-12 ปีมานี้ โดย Gurpreet S Khurana นักยุทธศาสตร์และผู้อำนวยการบริหารสถาบัน New Delhi National Maritime Foundation แห่งประเทศอินเดีย

 

โดยเขาพิจารณาว่าหลังจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนในปลายทศวรรษ 1970 สหรัฐอเมริกาก็ต้องการทำนโยบายที่จะขยายอิทธิพลและความร่วมมือเข้ามาในภูมิภาค ทำให้เกิดคำว่า ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ ดังนั้นเมื่ออินเดียเริ่มต้นการปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจก็คงจะต้องให้ความสนใจกับ ‘อินโด-แปซิฟิก’ มากยิ่งขึ้น

 

และความคิดของ Khurana ก็ถูกต้อง เมื่อจีนต้องการกลับมาทวงความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก (ซึ่งจีนเป็นมาตลอดตั้งแต่ ค.ศ. 1 ถึงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อจีนแพ้สงครามกับยุโรป) โดยจีนเรียกเป้าหมายของการพัฒนาขึ้นมาเป็นจีนที่ทันสมัยและล้างอายจากศตวรรษแห่งความอัปยศ (ค.ศ. 1839-1949) ให้ได้ในวาระครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. 1949-2049) นี้ว่า ‘ความฝันของจีน, China Dream, 中国梦’

 

การปฏิรูปของจีนตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 2 ส่งผลให้จีนเริ่มเปิดประเทศสู่ตลาดการค้าในทศวรรษ 1990 จีนรับรู้และเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกที่สหรัฐฯ วางเกมเอาไว้ผ่านการเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกในช่วงต้นทศวรรษ 2000 และพอถึงปลายทศวรรษ 2000 จีนก็เริ่มถึงจุดอิ่มตัว และต้องการเครื่องมือการปฏิรูปใหม่เพื่อบรรลุความฝันของจีน

 

หลังปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงปลายของผู้นำรุ่นที่ 4 หูจิ่นเทา ส่งไม้ต่อให้ผู้นำรุ่นที่ 5 สีจิ้นผิง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่จีนได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากวิกฤตเศรษฐกิจ Sub-Prime ในสหรัฐฯ และในยุโรป วิกฤตในสหรัฐฯ และยุโรปทำให้กำลังซื้อตกต่ำ และในเมื่อกว่า 80% ของ GDP ของจีนในขณะนั้นขึ้นกับการส่งออก และตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีนก็คือสหรัฐฯ และยุโรป นั่นทำให้จีนเจอภาวะถดถอยในอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออก จนนำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2009/2010 ภายใต้นโยบาย New Normal (新常态)

 

ภายใต้การปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าว จีนตั้งเป้าหมายไว้ 2 เป้าหมาย นั่นคือ 1. การลดการพึ่งพาการส่งออก และกำหนดเป้าหมายให้มากกว่า 60% ของผลผลิต ที่ผลผลิตในจีน (GDP) ต้องถูกบริโภคภายในประเทศ และ 2. จีนต้องหาคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง ไม่พึ่งพาแต่เฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป

 

โดยข้อที่ 2 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงภายใต้ยุทธศาสตร์ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road: OBOR) ( 一带一路) ซึ่งในภายหลังถูกเรียกใหม่ในชื่อ ความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) โดย BRI คือการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าจากจีนสู่คู่ค้าใหม่ ตลาดกระจายสินค้าใหม่ และแหล่งทรัพยากรใหม่ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป

 

ในขณะที่ข้อ 1 เพื่อเสริมสร้างให้การบริโภคภายในประเทศกลายเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จีนต้องทำ 2 เรื่อง นั่นคือ 1. ต้องทำให้คนจีนรวยขึ้น ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009 (และนั่นทำให้ไทยได้อานิสงส์นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเข้ามาท่องเที่ยวในไทย) และ 2. คนจีนที่รวยขึ้นเหล่านั้นจะกินของจีน ใช้ของจีนก็ต่อเมื่อพวกเขาเห็นว่าสินค้าจากจีนเป็นสินค้าคุณภาพสูง นั่นทำให้เกิดนโยบาย Made in China 2025 (中国制造 2025) ที่ทางการจีนพยายามยกระดับ ล้างภาพลักษณ์ของสินค้าจีนที่เคยถูกมองว่าเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ เป็นสินค้าปลอม ให้สินค้าจีนกลายเป็นสินค้าคุณภาพสูงให้ได้สำเร็จในปี 2025 ผ่านการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ

 

โดยทางการจีนให้สิทธิพิเศษทางการลงทุนในเงื่อนไขที่ดีที่สุดกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน โดยทำตามนโยบายของจีนที่ต้องการการพัฒนาคนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับจีน นั่นทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ หลายๆ อย่างเกิดขึ้นในจีนและจับตาจับใจผู้บริโภคอย่างยิ่ง อาทิ โทรศัพท์มือถือ Huawei P30 Pro ที่ซูมได้ 50 เท่า ด้วยอุปกรณ์ของ Sony (ญี่ปุ่น) ผนวกกับเทคโนโลยีของ Leica (เยอรมนี) และในปัจจุบัน สินค้าแบรนด์เนม สินค้าคุณภาพสูงจำนวนมากก็ผลิตจากประเทศจีน

 

อ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านคงเข้าใจแล้วว่า สงครามการค้าที่ขยายผลลุกลามกลายเป็นสงครามเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่นี่คือความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ต้องเร่งควบคุมการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน แต่ผู้นำคนไหนจะเลือกใช้วิธีการอย่างไรก็เท่านั้นเอง จะใช้วิธีการเจรจาเพื่อวางกฎระเบียบการค้าการลงทุนในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างโอบามา หรือจะทำสงครามใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างกรณีของทรัมป์ ก็เป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ต้องทำ เพื่อรักษาสถานะมหาอำนาจผู้ควบคุมระเบียบโลกของตน

 

นโยบาย Made in China 2025 ครอบคลุมภาคการผลิตที่จีนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ อันได้แก่ Information technology, Numerical control tools and robotics, Aerospace equipment, Ocean engineering equipment and high-tech ships, Railway equipment, Energy saving and new energy vehicles, Power equipment, New materials, Medicine and medical devices และ Agricultural machinery

 

ซึ่งหลายภาคการผลิตเหล่านี้สามารถต่อยอดทางการทหาร โดยเฉพาะการผลิตอาวุธได้ และจีนยังตั้งข้อแม้ด้วยว่า หากนักลงทุนต่างชาติรายใดก็ตามเข้ามาลงทุนในภาคการผลิตเหล่านี้ในจีน จีนจะเปิดตลาดขนาดประชากร 1.4 พันล้านให้ พร้อมกับการสนับสนุนการลงทุนในเงื่อนไขที่ดีที่สุดบนข้อแม้ที่ว่า ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านั้นต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีของตนให้กับจีนด้วย

 

ดังนั้นการออกนโยบายตอบโต้ Made in China จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสหรัฐฯ และเป็นการป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ สูญเสียสถานะผู้จัดระเบียบโลกด้านความมั่นคง

 

ความพยายามในการยับยั้งและจำกัดการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนมีมาก่อนหน้าสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว เช่น ในสมัยของประธานาธิบดีโอบามา เครื่องมือหลักที่ใช้คือข้อตกลงการค้า Trans-Pacific Partnership Agreement (TPP) แต่ในกรณีของทรัมป์ เขาไม่ต้องการใช้ TPP เพราะเขาพิจารณาว่า ข้อตกลงที่มีหลายประเทศในระดับภูมิภาคเช่นนี้มีความยุ่งยากและมีต้นทุนที่สูงเกินไปในการที่สหรัฐฯ จะต้องไปเจรจาและยอมผ่อนปรน ลดหย่อน และให้สิทธิประโยชน์กับหลายๆ ประเทศ

 

ทรัมป์คือคนที่มองว่าการเจรจาแบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าจะสามารถทำได้ง่ายและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า หรือแม้แต่การใช้นโยบายในลักษณะฝ่ายเดียว (Unilateral) ก็จะเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ มากกว่า เราจึงเห็นการประกาศสงครามการค้า

 

นอกจากสงครามการค้าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สหรัฐฯ ต้องทำคือ การปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของจีนในพื้นที่จริง ซึ่งเริ่มต้นโดยการยกระดับกองเรือที่ 7 เอเชีย-แปซิฟิก กองเรือรบของสหรัฐฯ ที่ประจำการอยู่ในภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งประกอบไปด้วยเรือรบ 70 ลำ เครื่องบินรบ 300 ลำ และทหารอากาศและทหารเรือมากกว่า 40,000 นาย ให้กลายเป็นกองเรือที่ 7 ‘อินโด-แปซิฟิก’

 

ตามมาด้วยการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่เป็นแนวร่วมในการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน โดยได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์เก่าที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2007 ในนาม Quadrilateral Security Dialogue (QSD) หรือ The Quad อันประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และอินเดีย

 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสหรัฐฯ เดินเกมผิดพลาด ประกาศสงครามการค้ากับจีนในเดือนกรกฎาคม 2018 ประเทศที่ได้รับผลกระทบทางลบที่เลวร้ายเป็นอันดับ 2 รองจากจีน กลับกลายเป็นมิตรประเทศของสหรัฐฯ อย่างญี่ปุ่นไปแทน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2018 และสร้างสรรค์ข้อตกลงกับจีนในการจับมือกันเพื่อไปลงทุนในประเทศที่ 3 นั่นเท่ากับสหรัฐฯ ได้เสียแนวร่วมญี่ปุ่นในการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีนไปเสียแล้ว

 

ล่าสุด สหรัฐฯ ยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences: GSP) ที่เคยเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าในอัตราต่ำกับสินค้านำเข้าจากประเทศอินเดีย นั่นเป็นการสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับรัฐบาลอินเดีย เพราะเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ได้รับรู้เลยว่าใครคือมิตรแท้ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียใต้ ท่ามกลางสงครามการปราบปรามผู้ก่อการร้ายของสหรัฐฯ

 

จะเห็นได้ว่านาทีนี้ อินโด-แปซิฟิก ที่มีอาเซียนตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลาง กลายเป็นเวทีประลองกำลังของมหาอำนาจเก่าคือ สหรัฐฯ และมหาอำนาจเก่ากว่าที่ต้องการกลับมาทวงบัลลังก์ นั่นคือ จีน

 

แน่นอนว่าอาเซียนมีทั้งสมาชิกที่ในอดีตเคยเป็นมหามิตรและศัตรูคู่อาฆาตกับสหรัฐฯ และในปัจจุบันต่างก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ แต่ก็ยังหวังผลประโยชน์ในทางการค้าการลงทุนและการพึ่งพิงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

 

ในทางกลับกัน ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับจีน บางประเทศเคยเป็นมิตรกับจีน บางประเทศก็เคยเป็นศัตรูกับจีน บางประเทศก็ขัดแย้งกับจีนเพราะเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ แต่ทุกประเทศก็พึ่งพาจีนในฐานะที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าการผลิตในระดับโลก (Global Value Chains: GVCs) เดียวกัน และตลาดจีนก็เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่หอมหวานอย่างยิ่ง

 

ด้วยเหตุผลที่เล่ามาทั้งหมดนี้เอง ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ต้องจับตาว่าท่าทีของผู้นำอาเซียนต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกจะเป็นอย่างไร และท่าทีนี้ก็คงจะต้องถูกนำเสนออีกครั้งโดยนายกรัฐมนตรีของไทยในเวทีการประชุมของกลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือ G-20 ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

 

และท่ามกลางสงครามการค้าและการแข่งขันระหว่างการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการปิดล้อมการขยายอิทธิพลนี้เอง อาเซียนและประเทศคู่เจรจาหลักอีก 6 ประเทศก็ต้องการอย่างยิ่งที่จะมีข้อตกลงทางการค้าเสรีเพื่อแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมว่า ทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาหลักคือ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย ยังคงสนับสนุนการค้าเสรีและเป็นธรรมในระดับโลก

 

นั่นจึงเป็นที่มาของการกำหนดท่าทีของประเทศอาเซียนต่อการเจรจาการค้าในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ซึ่งควรจะหาข้อสรุปไปได้แล้วตั้งแต่ปี 2015 แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

 

แต่จากการที่ตัวผมเองได้มีโอกาสพูดคุยสนทนากับผู้ที่มีโอกาสร่วมวงเจรจาข้อตกลงการค้าฉบับนี้ เราได้เห็นท่าทีในแง่บวกเพิ่มขึ้นอย่างมากจากประเทศสมาชิกบางประเทศที่เดิมอาจจะยังไม่ให้ความสำคัญกับการเจรจา RCEP มากนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากแรงกดดันของสงครามการค้าก็เป็นไปได้ ที่ทำให้บางประเทศกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้ง และนักวิชาการและผู้เจรจาหลายท่านก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าภายในปีนี้ที่ไทยเป็นประธานการประชุมสุดยอด RCEP ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถ้าเราไม่ได้เห็นการลงนามในข้อสรุปของข้อตกลงการค้าเสรี RCEP อย่างน้อยเราก็คงจะได้เห็นว่าข้อบทที่เจรจายากๆ อาทิ การลดอัตราภาษี การยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้า การเปิดตลาด น่าจะสามารถตกลงกันได้

 

นอกจากเรื่องอินโด-แปซิฟิก และ RCEP แล้ว อีกเรื่องที่ประชาคมโลกจับตามองเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ ของประเทศเมียนมา

 

ประเด็นแรกสุดที่เราเห็นก็คือ อาเซียนหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า โรฮีนจา แต่เลือกที่จะใช้คำว่า สถานการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ แทน ทั้งนี้เนื่องจากทางการเมียนมาไม่เคยยอมรับการมีตัวตนของคนกลุ่มนี้ และเรียกคนกลุ่มนี้ว่า เบงกาลี และประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

 

นั่นทำให้เราเชื่อได้ว่า ด้วยหลักการการไม่แทรกแซงกิจการภายใน และด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดของรัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี ทางการเมียนมาที่ต้องทำงานร่วมกับกองทัพ และดำรงอยู่ได้เพราะปัจจัยเดียวคือการสนับสนุนของประชาชนชาวพม่า (ซึ่งก็ไม่ต้อนรับชาวโรฮีนจาด้วยเช่นกัน) นั่นทำให้ออง ซาน ซูจีเองคงไม่ต้องการนำเอาประเด็นนี้เข้ามาหารืออย่างเป็นทางการในเวทีประชุมผู้นำอาเซียน

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา เราเห็นการลงพื้นที่ของเลขาธิการอาเซียน เห็นตัวแทนของฝ่ายไทยคือ อาจารย์สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ลงพื้นที่ และเห็นทางการเมียนมาเริ่มต้นกระบวนการนำคนเหล่านี้กลับเข้าพื้นที่ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน พวกเราคงจะได้รับรู้ว่าผู้นำอาเซียนคงจะหารือเพื่อหาทางออกในประเด็นเหล่านี้อย่างไม่เป็นทางการ อย่างน้อยถึงปัญหาจะไม่จบ แต่เชื่อว่าก็คงจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น

 

ถ้าผมเป็นผู้นำอาเซียน สิ่งที่ผมจะเสนอ ถึงแม้จะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แต่ผมจะเสนอให้อาเซียนอนุญาตให้นำอุปกรณ์ยังชีพ ช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ ที่เรามีเก็บไว้อยู่แล้วในคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนในประเทศไทย (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA) และให้บุคลากรทางการแพทย์จากศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center of Military Medicine: ACMM) เดินทางไปช่วยเหลือชาวโรฮีนจา-เบงกาลีเหล่านี้ แต่ไม่ใช่ในรัฐยะไข่ หากแต่เป็นที่ Cox’s Bazaar ในบังกลาเทศที่พวกเขาอพยพไปอยู่ เราต้องไปช่วยเหลือพวกเขา ให้พวกเขารู้ว่าแม้พวกเขาจะไม่ได้เป็นประชาชนเมียนมา แต่เขาเป็นประชาชนอาเซียน และอาเซียนจะดูแลพวกเขา

 

นอกจากนั้นแล้วเรื่องอื่นๆ ที่เราจะเห็นจากการประชุมครั้งนี้คือ การประชุมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Green Meeting) เราจะไม่ได้เห็นขวดน้ำพลาสติก แต่จะได้เห็นการใช้วัสดุรีไซเคิลในการจัดการประชุม และข้อตกลงต่างๆ ที่จะออกมาดังนี้

 

  • แนวทางการปฏิบัติของอาเซียนต่อปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูลในท้องทะเล (ASEAN Framework of Action on Marine Debris) ซึ่งจะนำไปสู่การลงนามใน Bangkok Declaration on Combating Marine Debris in ASEAN Region
  • แถลงการณ์เชียงใหม่ของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชพรรณจากป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES: Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) ที่ว่ามาตรการตอบโต้การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย (Chiang Mai Statement of ASEAN Ministers Responsible for CITES and Wildlife Enforcement on Illegal Wildlife Trade)
  • หลักการและข้อตกลงเกี่ยวกับเครือข่ายสมาคมอาเซียนในแต่ละประเทศสมาชิก (Concept Note and Terms of Reference for the Network of ASEAN Associations of ASEAN State Members) โดยสมาคมอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของภาครัฐและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความร่วมมือของอาเซียนในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และช่วยทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงประโยชน์ของอาเซียนที่มีต่อการดำเนินชีวิต ทั้งยังมุ่งหวังที่จะเป็นช่องทางให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ผ่านการดำเนินกิจกรรมของสมาคมฯ ที่จะเป็นเวทีเปิดกว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับอาเซียนจากภาคประชาชนทุกระดับวัย และจากหลากหลายสาขาอาชีพ
  • ผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน เพื่อการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานในทุกภาคส่วนของสังคม และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ASEAN Labour Ministers’ Statement on Future Work: Embracing Technology for Inclusive and Sustainable Growth)
  • รายงานของเลขาธิการอาเซียนเรื่องผลการดำเนินงานของอาเซียนที่ผ่านมา (Report of the Secretary General of ASEAN on ASEAN Work)
  • รายงานของผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียนเรื่องผลการดำเนินงานที่ผ่านมา (Report of Executive Director of the ASEAN Foundation) โดยมูลนิธิอาเซียน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1997 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้าง จิตสำนึกของความเป็นอาเซียนในหมู่ประชาชน และเพื่อให้การสนับสนุนกิจกรรม/โครงการเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม สื่อ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกอาเซียนอย่างเท่าเทียมกัน
  • รายงานผลการดำเนินการของ ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน (Report of APSC Council)
  • รายงานผลการดำเนินการของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Report of AEC Council)
  • รายงานผลการดำเนินการของประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (Report of ASCC Council)
  • แถลงการณ์วิสัยทัศน์อาเซียนต่อการเป็นพันธมิตรในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Vision Statement on Partnership for Sustainability)
  • แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนต่อปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2019 (ASEAN Leaders’ Statement on the ASEAN Cultural Year 2019)

 

และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2019

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising