×

10 เรื่องควรรู้ ก่อนร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

17.06.2019
  • LOADING...
ASEAN Summit 2019

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ประชาคมอาเซียน ขับเคลื่อนอยู่บนความร่วมมือ 3 ด้านหลัก ที่เปรียบเป็น 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC), ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC)
  • ธีมหลักของการประชุมปีนี้คือ ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)’ ซึ่งมุ่งเน้นการผลักดันข้อตกลงที่เคยเจรจาให้มีผลในทางปฏิบัติ และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาเพื่อให้เกิดกลไกที่ยั่งยืนในการรับมือกับเรื่องต่างๆ
  • เชื่อว่าไทยมีความพร้อมเป็นเจ้าภาพปีนี้ แต่การที่ยังไม่มีเจ้ากระทรวงที่แน่นอนในการนั่งหัวโต๊ะกำหนดนโยบายบนที่ประชุมอาเซียนระดับรัฐมนตรี อาจจะทำให้การผลักดันนโยบายหลายๆ เรื่องที่ไทยตั้งใจไว้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก

ประเทศไทยจะได้รับเกียรติในฐานะประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี 2019 ซึ่งการประชุมสุดยอดครั้งที่ 34 จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน ที่กรุงเทพมหานคร และนี่คือ 10 เรื่องที่ทุกคนควรรู้ เพื่อเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมซัมมิตอาเซียนปีนี้

 

1. อาเซียนคือชื่อย่อของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of SouthEast Asian Nations: ASEAN) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศ เริ่มต้นจากไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่รวมตัวกันสร้างความร่วมมือกันมาตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 1967 โดยการลงนามในปฏิญญาอาเซียน หรือ ‘ปฏิญญากรุงเทพฯ’ โดยเน้นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความมั่นคงในช่วงสงครามเย็น

 

ต่อมาประเทศบรูไนเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 ในปี 1984 ต่อด้วยเวียดนามในปี 1995 เมียนมา และลาว ในปี 1997 และสมาชิกล่าสุดคือประเทศกัมพูชา ที่เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 1999

 

อาเซียนเกิดขึ้นและพัฒนามาจากประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้ง จนกลายเป็นการบูรณาการในระดับภูมิภาค ที่ก้าวหน้ามากที่สุดในโลก ภายในระยะเวลา 52 ปีที่ผ่านมา

 

2. ปัจจุบันอาเซียนเรียกความร่วมมือในทุกมิติและทุกระดับระหว่างประชาชนกว่า 650 ล้านคนใน 10 ประเทศสมาชิกว่า ‘ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)’ ซึ่งขับเคลื่อนอยู่บนความร่วมมือ 3 ด้านหลักที่ทำงานสอดคล้องประสานซึ่งกันและกัน โดยทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC), ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) ที่เชื่อมโยงกันด้วยแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 คือ ‘มุ่งหน้าไปด้วยกัน Forging Ahead Together’ ที่เน้นในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) มีภูมิคุ้มกัน (Resilience) และไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง (Inclusive)

 

3. ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community: APSC) คือกลไกหลักที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี เป็นกลไกที่สร้างกฎระเบียบ กลไกระงับข้อพิพาท ระงับประเด็นปัญหาที่จะสร้างความขัดแย้งระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง และระหว่างอาเซียนกับประชาคมโลก กลไกนี้เองที่กำหนดหลักการสำคัญที่ว่า สมาชิกอาเซียนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกด้วยกันเอง และยังเป็นกลไกที่สร้างความมั่นคงของมนุษย์ (Human Securities) ในหลากหลายมิติให้กับประชาชนอาเซียน อาทิ ความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด และสิทธิมนุษยชน

 

4. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) คือกลไกหลักทางเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับประชาคมโลก โดยการพัฒนาความเชื่อมโยงมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน ราง ท่าเรือ สนามบิน ระบบโทรคมนาคม ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สินค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน สามารถเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น จนทำให้อาเซียนกลายเป็นฐานการผลิต (Production Base) เดียวกัน และในขณะเดียวกันก็สร้างความร่วมมือกันในมิติกฎระเบียบ มาตรฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า การลด ละเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งในรูปแบบภาษี และมิใช่ภาษี เพื่อให้ธุรกิจที่ใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิตมีความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก และก็ยังเน้นการให้แต้มต่อและสิทธิพิเศษหลากหลายรูปแบบเพื่อทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs สามารถยกระดับเพื่อลดช่องว่างในด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจของธุรกิจของตนกับผู้ประกอบการรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

5. ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) คือความร่วมมือระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อ ‘พัฒนาคนอาเซียน’ โดยในภาวะที่ประชาชนอาเซียนอยู่ในภาวะปกติสุข อาเซียนภายใต้ ASCC จะสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องวัฒนธรรม ศิลปะ กีฬา และการศึกษา แต่ในเวลาที่ประชาชนอาเซียนอยู่ในช่วงเวลาที่เลวร้าย ASCC ก็จะเน้นพัฒนาความแข็งแกร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เด็ก คนชรา กลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานต่างด้าว ผ่านความร่วมมือด้านสวัสดิการสังคมและความยุติธรรมทางสังคม การพัฒนาชนบท และการลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งมีกลไกพิเศษเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสารเคมีและขยะพิษ ปัญหาฝุ่นละอองหมอกควันข้ามชายแดน และความร่วมมือในการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ

 

6. การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยตลอดปี 2019 เป็นวาระที่กำหนดไว้ตามลำดับตัวอักษร (Singapore 2018, Thailand 2019, Vietnam 2020) ซึ่งระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งสมาชิกอาเซียนให้การรับรองในปี 2007 และมีผลบังคับใช้ในปี 2008 นั่นทำให้ในคราวที่แล้วประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2008/2009 และเมื่อเวียนมาบรรจบครบรอบ 10 ปี (10 ประเทศสมาชิก) ประเทศไทยจึงได้รับเกียรติอีกครั้งในปีนี้

 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นเพียงเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 เดือนมิถุนายน และครั้งที่ 35 เดือนพฤศจิกายน 2019 เท่านั้น เพราะความร่วมมือในประชาคมอาเซียนมีในทุกมิติ และทุกระดับดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ดังนั้นตลอดปี 2019 จึงมีการประชุมอาเซียนเกิดขึ้นในประเทศไทยมากกว่า 200 การประชุม ตั้งแต่การประชุมของภาครัฐในระดับคณะทำงาน ไปจนถึงระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี และระดับสุดยอดผู้นำที่เป็นการประชุมของหัวหน้าคณะรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติภายใต้ ‘สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly: AIPA)’ การประชุมของภาคเอกชนเพื่อประโยชน์ในเรื่องของการค้าการลงทุน การประชุมของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อร่วมกำหนด และหาข้อเสนอแนะในการเดินหน้าต่อไปของประชาคมอาเซียน และการประชุมของนิสิตนักศึกษาภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network: AUN) นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง และยังมีการประชุมร่วมกับเครือข่ายในระดับต่างๆ ร่วมกับประเทศคู่เจรจาหลักของอาเซียนร่วมไปด้วย (Dialogue Partners) ไม่ว่าจะเป็นจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แคนาดา, รัสเซีย, สหภาพยุโรป, สหรัฐอเมริกา และสหประชาชาติ แทบจะเรียกได้ว่าตลอดปี 2019 เรามีการประชุมที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนเกิดขึ้นในประเทศไทยทั่วทุกภาค เกือบทุกจังหวัด และเกิดขึ้นหลายครั้งในแต่ละสัปดาห์

 

7. ประเทศไทยกำหนดธีมของการประชุมครั้งนี้ไว้ว่า ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)’ โดยประเด็นสำคัญของการประชุมน่าจะแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน (ตามความเข้าใจของผู้เขียน) เริ่มจาก Advancing นั่นคือ การรวบรวมและทำให้ความร่วมมือหรือเรื่องที่เคยเจรจากันไว้ และมีข้อตกลงต่างๆ สามารถเดินหน้าไปได้จริง และเกิดผลเห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งเจ้าภาพหลักของการดูแลจัดการประชุมคือ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่นี้มาล่วงหน้าแล้วกว่า 2 ปี จนทำให้ความตกลงต่างๆ ที่ผ่านมาจะถูกส่งต่อจนกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ โดยร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ (Partnership) เพื่อให้เกิดกลไกที่ยั่งยืน (Sustainability) ในการรับมือกับเรื่องต่างๆ โดยสิ่งที่จับต้องได้คือ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจะเกิดตัวศูนย์อาเซียน 7 ศูนย์ ได้แก่

 

  1. ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC)   
  2. คลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนในประเทศไทย (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA)
  3. ศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Center of Military Medicine: ACMM)
  4. ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (ASEAN Training Centre for Social Work and Social Welfare: ATCSW)
  5. ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI)
  6. ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Center) และ
  7. ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue: ACSDSD)

 

8. ต่อจากการบริหารจัดการกับเรื่องค้างเก่าที่ไทยเราจะผลักดันต่อจนกลายเป็นศูนย์ที่จับต้องได้จริง อีกเรื่องสำคัญที่เราต้องทำคือการมองไปในอนาคต ประชาคมอาเซียนมีการกำหนดวิสัยทัศน์ 2025 โดยเริ่มต้นปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่ง ณ ปัจจุบัน หลายๆ ประเด็นในวิสัยทัศน์ 2025 ก็ได้เกิดขึ้นจริงไปแล้ว

 

ดังนั้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ได้ว่าจ้างให้ Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยระดับภูมิภาคที่ทำงานวิจัยให้กับอาเซียนและเอเซียตะวันออก ทำงานวิจัยเพื่อเสนอแนะวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับใหม่ที่เรียกว่า ‘ASEAN Vision 2040’ ซึ่งตัวผู้เขียนและศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับนักวิชาการอีกมากกว่า 50 คนจากทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน และประชาคมวิชาการนานาชาติก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบวิสัยทัศน์ของอาเซียนในช่วงเวลาอีก 20 ปีต่อจากนี้ด้วย

 

โดยในรายงาน 4 เล่มใหญ่ๆ มีการวิเคราะห์สถานการณ์โลก ณ ปัจจุบันจากมุมมองภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ เพื่อหาข้อเสนอแนะต่อประชาคมอาเซียน โดยเปรียบเทียบกับความสำเร็จและจุดอ่อนของอาเซียนในอดีตที่ผ่านมา ร่วมกับการวิเคราะห์ถึงบริบทโลกในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวหน้าในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

 

เนื้อหาหลักๆ ของวิสัยทัศน์อาเซียน 2040 จะเน้นเรื่องของภาวะผู้นำ และโครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมการบูรณาการของประชาคมอาเซียนในอนาคต (ASEAN Collective Leadership) สถานะความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ กับประเทศคู่เจรจา (ASEAN Centrality) แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนให้เจริญก้าวหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสร้างภูมิคุ้มกัน หากประชาคมอาเซียนถูกกระทบโดยวิกฤตในรูปแบบต่างๆ รวมถึงแนวทางการสร้างความรู้สึกให้ประชาชนอาเซียนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ และเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน รวมทั้งข้อเสนอแนะสำหรับกลไกการทำงานของประชาคมอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน

 

9. จากการทบทวนความร่วมมือเก่าๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นรูปธรรม สู่การวางแผนเพื่อกำหนดทิศทางของอาเซียนในอนาคต อีกประเด็นสำคัญของการประชุมในเวทีประชาคมอาเซียน คือการกำหนดแนวทางรับมือและสร้างความร่วมมือเพื่อให้เท่าทันกับ Current Issues ที่เกิดขึ้น อาทิ บทบาทของอาเซียนในการสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศผู้ส่งออกสารเคมีและขยะพิษ ในขณะเดียวกันก็เป็นการกดดันให้หน่วยงานภายในของแต่ละประเทศมีธรรมภิบาลมากยิ่งขึ้นในการบริหารจัดการการนำเข้า และส่งออกสารเคมีและขยะพิษ

 

การประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขที่ได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว และมีข้อตกลงในเบื้องต้นที่จะสร้างความร่วมมือด้านยากำพร้า (Orphan Drug) ซึ่งเป็นยาที่จำเป็นสำหรับการวินิจฉัย บรรเทา บำบัด ป้องกัน หรือรักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง หรือโรคที่ก่อให้เกิดความทุพพลภาพอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นยาที่มีอัตราการใช้ต่ำ ขาดแคลน และไม่มียาอื่นมาใช้ทดแทนได้

 

ดังนั้นอาเซียนที่ร่วมมือกันจะสามารถสร้างสต๊อกยา และเพิ่มอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตยาในรายการเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น หรือตัวอย่างจากการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ที่ตกลงจะร่วมพัฒนาเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาค การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศในการทำการค้าระหว่างกัน การสนับสนุนให้ประชาชนอาเซียนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกและปลอดภัย เหล่านี้คือตัวอย่างในการสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือและเตรียมการกับ Current Issues ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอาเซียน

 

10. แล้วคำถามว่าประเทศไทยพร้อมหรือไม่ คำตอบคือ ถึงแม้เราจะยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาร่วมการประชุม แต่สำหรับหน่วยงานภาครัฐในระดับที่เป็นคณะทำงานจริงๆ พวกเขาได้เตรียมงานมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ผมเองในฐานะนักวิชาการอาเซียนก็ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในการเตรียมการประชุมอาเซียนมาแล้วตั้งแต่ปี 2017 หรือ 2 ปีก่อนหน้านี้

 

เชื่อว่าภาพความขลุกขลักจนถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากการเป็นประธานอาเซียนในรอบที่แล้ว (ปี 2008-2009) คงจะไม่ซ้ำรอยเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ก็เช่นเดียวกัน ถึงเราจะมีนายกรัฐมนตรีคนเดิมในวาระใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว แต่การที่ยังไม่มีเจ้ากระทรวงที่แน่นอนในการนั่งหัวโต๊ะกำหนดนโยบายบนที่ประชุมอาเซียนระดับรัฐมนตรี อาจจะทำให้การผลักดันนโยบายหลายๆ เรื่องที่ไทยตั้งใจไว้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก

 

และสิ่งที่จะต้องจับตามองต่อจากนี้คือ การเจรจาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน และเที่ยวนี้ผู้นำจากประเทศคู่เจรจาหลักอีก 10 ประเทศก็จะเข้ามาร่วมประชุมด้วย ท่ามกลางสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทางการค้าในระดับโลกไปตลอดกาล ขณะที่อาเซียนกับความสำเร็จในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP หรืออาเซียน +6) จะกลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับการประชุมปลายปี ที่ต้องติดตามต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising