×

เศรษฐกิจประเทศอาเซียนยังน่าสนใจ แบงก์กรุงศรีหนุนลูกค้าญี่ปุ่น-บรรษัทข้ามชาติรุกการค้าและการลงทุน ดันสินเชื่อทั้งปีนี้เติบโต 7%

27.04.2024
  • LOADING...

เศรษฐกิจอาเซียนยังน่าสนใจ แบงก์กรุงศรีเดินหน้าหนุนลูกค้ากลุ่มญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติลุยลงทุนและขยายฐานธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน+3 เน้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-อสังหาริมทรัพย์-พลังงานทดแทน หวังดันพอร์ตสินเชื่อทั้งปีนี้โต 7% จากพอร์ตคงค้าง 2.33 แสนล้านบาท

 

บุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่น (JPC) และบรรษัทข้ามชาติ (MNC) ที่ 7% จากยอดสินเชื่อคงค้าง ณ ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 2.33 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่ม JPC ประมาณ 88% และ MNC 12%

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 1/67 อัตราการเติบโตสินเชื่อจะหดตัว -3.3% แต่เชื่อว่าในปีนี้สินเชื่อจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้

 

โอคุโบะกล่าวว่า ธนาคารพร้อมสนับสนุนลูกค้าไทยและต่างชาติขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยใช้จุดแข็งของเครือข่ายที่มีอยู่ในการสนับสนุน ซึ่งประเทศที่น่าสนใจคือในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ราว 4.5% โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม ที่คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะโตประมาณ 5.8%, ฟิลิปปินส์ 5-6% และอินโดนีเซีย 5% ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจคือกลุ่มคมนาคม และโลจิสติกส์

 

สำหรับประเทศไทย ประเมินว่ามีความท้าทายหลายด้าน เช่น ปัญหาเชิงโครงสร้าง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้กลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับเช่าซื้อชะลอตัว อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของประเทศไทยคืออยู่ในจุดภูมิรัฐศาสตร์ที่ดี จึงเชื่อว่าจะมีความต้องการเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตเข้ามาจากต่างประเทศ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่แบงก์จะเข้ามาสนับสนุนด้านสินเชื่อ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ การค้า พลังงานทดแทน และอสังหาริมทรัพย์

 

“เป้าหมายการเติบโตปีนี้ค่อนข้างท้าทาย จะเห็นว่าความต้องการสินเชื่อปีก่อนหดตัว 10% เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ชะลอการเติบโต แต่ธนาคารยังสามารถทำกำไรได้ดีอยู่ ส่วนปีนี้คาดว่าน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นแม้จะมีความท้าทายอยู่ แต่ธนาคารจะเน้นขยายการเติบโตไปในอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่รถยนต์ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อสังหาริมทรัพย์ และการค้า ที่จะช่วยหนุนการเติบโตได้”

 

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 กรุงศรียังคงสานต่อเป้าหมายในการเป็นธนาคารพันธมิตรที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับลูกค้าธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ โดยมีมุมมองสำคัญในการดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบไปด้วย

 

  1. เร่งส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืน (ESG Ecosystem) ให้กับสังคมไทย โดยอาศัยจุดแข็งในการมีความรู้ความชำนาญในด้าน ESG ผ่านความร่วมมือกับ MUFG เพื่อนำเสนอโซลูชันทางการเงินเพื่อความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Deposit) บัญชีเงินฝากประจำเพื่อใช้สนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืน เป็นต้น

 

  1. ต่อยอดความร่วมมือเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) โดยจะขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับ สปป.ลาว และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่เอื้อต่อสังคม ชุมชน ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน

 

  1. ขยายฐานลูกค้าบรรษัทข้ามชาติจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asian Economies) ด้วยพื้นฐานและปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนในประเทศไทย ทั้งความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลี เป็นต้น

 

  1. ยกระดับบริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Krungsri ASEAN LINK เชื่อมทุกความต้องการทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยกรุงศรีพร้อมใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสานพลังเครือข่ายธุรกิจของธนาคาร และ MUFG ที่ครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศในอาเซียน เช่น Danamon Bank ในอินโดนีเซีย, VietinBank ในเวียดนาม และ Security Bank ในฟิลิปปินส์ เพื่อต่อยอดบริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับลูกค้าที่ต้องการขยายธุรกิจสู่อาเซียน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X