บริษัทชั้นนำระดับโลกจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังย้ายฐานการผลิตและสถานที่ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร และเพื่อรับมือกับอุปสรรคทางการค้าโลก ซึ่งการเคลื่อนย้ายรอบนี้อาจส่งผลให้การส่งออกของบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรับเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ในระยะเวลา 6 ปีข้างหน้า
รายงานผลการวิจัยด้านเศรษฐกิจฉบับล่าสุดของ Nomura ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นจากบริษัทข้ามชาติมากกว่า 100 แห่ง และจัดเก็บข้อมูลจากกระแสการลงทุนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ระบุว่า ภาคการผลิตกำลังกระจายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน โดยส่วนใหญ่จะเป็นทุนจากประเทศอินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย และเม็กซิโก
“ด้วยความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น บริษัทต่างๆ กำลังมองหาถิ่นฐานที่จะช่วยลดการพึ่งพาจีนมากเกินไป และกระจายห่วงโซ่อุปทาน หรือกำลังเปลี่ยนการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางการค้า และป้องกันความเสี่ยงที่จะถูกคว่ำบาตรเพิ่มเติม” นักวิเคราะห์ระบุในรายงาน
การย้ายฐานการผลิตหรือการขยายการผลิตจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดในภาคส่วนต่างๆ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกายและของเล่น สินค้าทุน สินค้าคงทนสำหรับผู้บริโภค และเซมิคอนดักเตอร์
งานวิจัยระบุอีกว่า การลงทุนส่วนใหญ่ในอินเดียมาจากสหรัฐอเมริกาและประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ในขณะที่บริษัทจีนกำลังเป็นผู้นำในการรุกเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ท่ามกลางอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นมากมาย Nomura ประมาณการว่า การส่งออกของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นสองเท่าภายในปี 2573 เป็นมากกว่า 7.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่มาเลเซียจะจัดส่งสินค้ามูลค่า 6.52 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 เช่นกัน ส่วนไทย มูลค่าการส่งออกน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนล้านดอลลาร์ภายในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม คงเป็นเรื่องยากที่จะไม่พึ่งพาจีนเลย เนื่องจากสินค้าขั้นกลางจำนวนมากยังคงมีแนวโน้มที่จะมาจากจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปอีกหลายปี ในขณะเดียวกัน การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตดังกล่าวนั้นจะทำให้เกิดการ Dislocation และทำให้เกิดความสูญเสียบางส่วน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้เตือนถึงสัญญาณของการ Fragmentation ที่เพิ่มขึ้น
“การค้าข้ามประเทศที่มีความสอดคล้องทางภูมิรัฐศาสตร์มากกว่า จะยืนหยัดได้ดีกว่าการค้าระหว่างประเทศที่มีความสอดคล้องทางภูมิรัฐศาสตร์น้อยกว่า” Gita Gopinath รองกรรมการผู้จัดการคนแรกของ IMF กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
ฟิลิปปินส์หลุดเรดาร์ สวนทาง ‘เวียดนาม-ไทย’
Nomura ระบุในรายงานว่า ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียดูเหมือนจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกสำหรับบริษัทระดับโลกที่กำลังมองหาฐานการผลิตใหม่ แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค มีจำนวนประชากรมาก และมีแนวโน้มการปฏิรูปที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยโอกาสในการเติบโตจะเปลี่ยนจากประเทศพัฒนาแล้ว ไปยังประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Wild-Geese-Flying Pattern’
ในบรรดาห่านเอเชียฝูงใหม่ Nomura กล่าวว่า เวียดนามและไทยเป็นผู้ชนะที่ชัดเจนเมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่รวบรวมและผลการสำรวจของบริษัทข้ามชาติประมาณ 130 แห่ง โดยทั้งไทยและเวียดนามนั้นถูกคาดหวังว่าจะสามารถสานต่อความสำเร็จนี้ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยอาจจะเหนื่อยกว่า เพราะกำลังเผชิญความสามารถในการแข่งขันที่เสื่อมถอย
อ้างอิง: