×

จากยูเครนสู่อาเซียน: กรณีศึกษา Hybrid Warfare (สงครามผสมผสาน) ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง

26.02.2022
  • LOADING...
asean-and-hybrid-warfare

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • สถานการณ์ในประเทศยูเครนที่เป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ 2 ขั้ว คือรัสเซียและพันธมิตร NATO ที่นำโดยสหรัฐฯ คือสิ่งพิสูจน์ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างใช้ยุทธวิธีแบบ Hybrid Warfare ในยูเครนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา จนในที่สุดความขัดแย้งนี้ก็พัฒนากลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบดังที่เกิดขึ้น
  • เมื่อไรก็ตาม ผู้นำและประชาชนเลือกข้างมหาอำนาจ ตกเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจโดยประมาท ไม่ปกป้องคุ้มครองพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติตนเอง เมื่อนั้น 3 ปัจจัยที่จะทำให้สงครามไฮบริดพัฒนาจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบที่มีมหาอำนาจเข้าแทรกแซงกิจการภายในก็พร้อมที่จะเกิดขึ้น
  • ย้อนกลับมาดูประชาคมอาเซียนกับคำถามว่า มีพื้นที่ใดที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกนำสงครามผสมผสานมาใช้ จนอาจพัฒนากลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ เหมือนกับที่ยูเครนกำลังเผชิญอยู่ คำตอบคือ เมียนมา

การสงครามผสมผสาน

การสงครามผสมผสาน หรือ Hybrid Warfare เป็นยุทธศาสตร์ทางทหารซึ่งใช้การสงครามทางการเมือง และผสมรวมการสงครามตามแบบ (Conventional Warfare) การสงครามนอกแบบ (Unconventional Warfare) และการสงครามไซเบอร์ (Cyber Warfare) กับวิธีชักจูงจิตใจแบบอื่น (Psychological warfare) เช่น ข่าวปลอม (Misinformation/Disinformation) การทูต การเมือง การแบ่งฝักฝ่ายทางสังคม การต่อสู้ทางกฎหมาย การแทรกแซงการเลือกตั้งต่างประเทศ ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation: IO) เมื่อใช้ปฏิบัติการเคลื่อนไหวกับความพยายามบ่อนทำลาย ผู้รุกรานเจตนาหลบเลี่ยงการระบุที่มาหรือการตอบโต้กลับ การสงครามผสมผสานสามารถใช้อธิบายพลวัตที่ยืดหยุ่นและซับซ้อนของพื้นที่การรบที่ต้องอาศัยการตอบสนองที่พลิกแพลงและยืดหยุ่น

 

บทเรียนจากยูเครน

สถานการณ์ในประเทศยูเครนที่เป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ 2 ขั้ว นั่นคือ รัสเซียฝ่ายหนึ่ง และพันธมิตร NATO ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาอีกฝั่งหนึ่ง คือสิ่งพิสูจน์ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างใช้ยุทธวิธีแบบ Hybrid Warfare ในยูเครนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา จนในที่สุดความขัดแย้งนี้ก็พัฒนากลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบดังที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และยูเครนกลายเป็นเพียงประเทศที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดินแดน บูรณภาพแห่งดินแดน ชีวิตผู้คนที่สับสนอลหม่าน แตกฮือย้ายหนีออกจากถิ่นพำนัก พลัดที่นาคาที่อยู่ และต้องเผชิญกับระบบเศรษฐกิจที่ย่อยยับ ในขณะที่พันธมิตร NATO ในยุโรปได้รับผลกระทบทางลบที่มีต้นทุนสูง ในรูปแบบของโอกาสทางธุรกิจ/เศรษฐกิจที่สูญเสียเนื่องจากคงไม่สามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานราคาถูกจากรัสเซียได้อีกต่อไป 

 

รัสเซียถึงแม้จะได้ดินแดนในทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ แต่ก็ต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการสูญเสียภาพลักษณ์ในประชาคมโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ผ่านหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการสงครามและพลังงานที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น (อย่าลืมว่าสหรัฐฯ กดดันให้ยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานราคาถูกจากรัสเซียมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน) รวมทั้งบารมีและอิทธิพลของตนเองในกลุ่มพันธมิตร NATO ที่กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

 

สำหรับประเทศไทยและสมาชิกอาเซียน เราต้องถอดบทเรียนจากสถานการณ์ในครั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้การแทรกแซงของมหาอำนาจนำความวิบัติมาสู่ภูมิภาคดังที่เกิดขึ้นในประเทศยูเครน

 

คำถามสำคัญคือ ปัจจัยหลักใดที่ทำให้ยูเครนถูกมหาอำนาจแทรกแซงผ่าน Hybrid Warfare ได้จนสัมฤทธิ์ผลกลายเป็นความขัดแย้งและความสูญเสียในขณะนี้ สำหรับผู้เขียนพิจารณาว่า เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก นั่นคือ 

 

  1. ปมความขัดแย้งที่ถูกกดทับเป็นเวลานานในพื้นที่ 
  2. มหาอำนาจมองเห็นผลประโยชน์ในการเข้ามาแทรกแซง 
  3. ผู้นำของยูเครนและประชาชนของยูเครนที่เลือกข้างสนับสนุนมหาอำนาจให้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน และพร้อมที่จะห้ำหั่นกันเอง

 

ปัจจัยที่ 1 ยูเครนมีปมความขัดแย้งมาตลอดประวัติศาสตร์ เนื่องจากแต่เดิมยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิของซาร์แห่งรัสเซีย จนหลังการปฏิวัติรัสเซียโดยพรรคบอลเชวิกในปี 1917 ชาวยูเครนบางส่วนภายใต้การสนับสนุนของเยอรมนีจึงต้องการแยกตัวก่อตั้งประเทศยูเครน แต่แล้วก็ถูกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งเมื่อมีการสถาปนาสหภาพโซเวียตในปี 1922 ยูเครนกลายเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนที่เกิดจากการรวมพื้นที่ที่มีผู้คนที่แตกต่างกันทางความคิดอันเนื่องมาจากรากทางสังคมและประวัติศาสตร์ รวมทั้งชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน โดยมีแม่น้ำ Dnieper ที่ไหลผ่านกลางประเทศจากเหนือลงใต้สู่ทะเลดำ แบ่งชาวยูเครนออกเป็น 2 ฝั่ง โดยทางฝั่งตะวันออกเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ Slavic-Rus ที่มีความใกล้ชิดทางศาสนา สังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ร่วมกับประชาชนชาวรัสเซียและเบลารุส ในขณะที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเป็นกลุ่มที่มีรากทางสังคมวัฒนธรรมผสมปนเปกับหลากหลายเชื้อชาติในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ความขัดแย้งเหล่านี้ ซึ่งจะพัฒนาต่อไปจนกลายเป็นเกมการเมืองที่มหาอำนาจเข้ามาแทรกแซง และพยายามใช้การสงคราม Hybrid Warfare บ่อนเซาะจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้คนในประเทศเดียวกัน

 

ปัจจัยที่ 2 ยูเครนอยู่ในความสนใจของมหาอำนาจ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีดินแดนใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในทวีปยุโรป รองจากรัสเซีย ตั้งอยู่ในทำเลที่เชื่อมโยงประเทศในยุโรปตะวันออก อันได้แก่ โปแลนด์, สโลวาเกีย, ฮังการี, โรมาเนีย และมอลโดวา สู่ทะเลดำ นอกจากนี้ดินแดนแห่งนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการทำการเกษตร และยังเป็นเส้นทางลำเลียงสำคัญของพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ จากไซบีเรียผ่านรัสเซียเข้ามายังยุโรป ในขณะที่ฝ่ายรัสเซียเอง ตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียตก็วางกำลังทางการทหารในยูเครน เพื่อใช้ทะเลดำเป็นปากทางสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อันทำให้สามารถควบคุมดุลอำนาจทางยุทธศาสตร์ทางการทหารในยุโรปได้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่าเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 หัวรบนิวเคลียร์ของโซเวียตยังคงตกค้างอยู่ในยูเครนถึง 1,249 หัวรบ รวมกับกองทัพรถถัง เรือรบ และเรือดำน้ำ ปัจจุบันรัสเซียก็ต้องการยูเครนเป็นรัฐกันชนกับพันธมิตร NATO และเป็นเส้นทางลำเลียงทรัพยากรก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียต้องการค้าขายกับยุโรป ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทั้งพันธมิตรฝ่าย NATO ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ต่างก็ต้องการช่วงชิงการขยายอิทธิพลเหนือดินแดนยูเครน

 

ปัจจัยที่ 3 ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เราเห็นภาพการใช้เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจต่างชาติทั้ง 2 ฝั่งในการใช้ปฏิบัติการข่าวสารข้อมูล เพื่อสนับสนุนให้นักการเมืองที่มีอิทธิพลที่ทำตัวเสมือนเป็นตัวแทนของมหาอำนาจ มาเป็นผู้สมัครแข่งกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยมีประชาชนยูเครนในแต่ละภูมิภาคที่ต้องการดึงให้ประเทศของตนเองใกล้ชิดมหาอำนาจตะวันตกคือ สหรัฐฯ และ NATO ในขณะที่ประชาชนอีกฟากของประเทศก็พยายามจะดึงให้ประเทศของตนเองใกล้ชิดกับรัสเซียทางฝั่งตะวันออก การเมืองภายในประเทศยูเครนกลายเป็นการแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และเมื่อประสานผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็นำไปสู่การประท้วง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติสีส้มในปี 2004/2005 ที่ภายหลังการเคลื่อนไหวทางการเมือง ยูเครนก็ได้ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยูชเชนโก ที่เลือกข้างพันธมิตรตะวันตก NATO สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา และเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2010 การเมืองเปลี่ยนขั้ว ยูเครนก็ได้ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ที่สนับสนุนรัสเซีย และหันหลังทำนโยบายยูเทิร์นให้กับสหภาพยุโรปและ NATO รวมทั้งกับสหรัฐฯ

 

เมื่อถึงจุดนี้การแทรกแซงด้วยการสงครามผสมผสานผ่านการก่อความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ การใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาก็นำไปสู่การที่ประชาชนสองฝั่งทั้งตะวันตกและตะวันออกของประเทศพร้อมที่จะปะทะ เพราะมีการนำเอาเรื่องของการเลือกข้างมหาอำนาจมาผสมปนเปกับการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ความรุนแรงที่ประชาชนปะทะกันจนมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเป็นจำนวนมากก็เกิดขึ้นในเหตุการณ์ Euromaidan ปี 2014

 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ การขับไล่ประธานาธิบดียานูโควิชที่นิยมรัสเซียออกจากตำแหน่ง และการขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ซึ่งประกาศสงครามกับรัสเซีย และเดินหน้าความร่วมมือกับสหภาพยุโรป 

 

เหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านข้างต้นนั้น เกิดขึ้นพร้อมกับบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนก็สูญสลายไปด้วย เนื่องจากหลังเหตุการณ์ Euromaidan จบลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ประชาชนในคาบสมุทรไครเมียที่ได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการต่างๆ ภายใต้การสงครามผสมผสาน Hybrid Warfare ก็จัดให้มีการลงประชามติในวันที่ 16 มีนาคม 2014 และคะแนนประชามติก็ออกมา โดยเสียงส่วนใหญ่ทำให้สาธารณรัฐไครเมีย (Republic of Crimea) ก่อตั้งขึ้นในวันต่อมา คือวันที่ 17 มีนาคม 2014 โดยรัสเซียรับรองเอกราชของสาธารณรัฐไครเมียในวันเดียวกับที่ก่อตั้ง และอีก 2 วันต่อมา คือวันที่ 18 มีนาคม 2014 สาธารณรัฐไครเมียก็ขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ทุกอย่างเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน นั่นแปลว่ามีการเตรียมการอย่างเป็นระบบมาก่อนหน้า

 

ในขณะที่ภูมิภาคดอนบาสอันประกอบไปด้วย แคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮันสก์ ก็ต้องการประกาศตนแยกตัวจากยูเครนเช่นกัน ในนามสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ จนนำไปสู่การเจรจาและลงนามในความตกลงกรุงมินสก์ (Minsk Protocol) ซึ่งเป็นการลงนามความตกลงของ 3 ฝ่าย ระหว่างยูเครน รัสเซีย และตัวแทนจาก Organization for Security and Co-operation in Europe (OSCE) คือเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยในความตกลงดังกล่าวเปิดทางให้โดเนตสก์และลูฮันสก์สามารถจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นขึ้นมาปกครองดูแลกิจการของตนเองได้ (Local Self-Governance) 

 

และเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง ยูเครนก็ได้อดีตดาราหนุ่มฝีมือดีทางการแสดง และเป็นตัวแทนของพันธมิตรตะวันตกอย่าง โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี เข้ามาดำรงตำแหน่ง ในขณะที่รัฐบาลนำยูเครนใกล้ชิดตะวันตกมากยิ่งขึ้น ถึงขั้นที่ยูเครนเรียกร้องไปยังสหรัฐฯ และพันธมิตร NATO ให้นำระบบขีปนาวุธ Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) เข้ามาติดตั้งในบ้านของตนเอง เหมือนเป็นการยั่วยุและชักศึกเข้าบ้าน

 

ในขณะที่รัสเซียก็ใช้การสงครามนอกแบบสนับสนุนจนเกิดความไม่สงบในพื้นที่เปราะบางของภูมิภาคดอนบาส จนล่าสุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 ยูเครนร้องต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติขอให้ประชุมหารือด่วน หลังรัฐสภารัสเซียมีมติในวันเดียวกันเตรียมขอให้ผู้นำรัสเซียรับรองโดเนตสก์และลูฮันสก์ที่ประกาศแยกจากยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 เป็นรัฐอิสระ

 

เมื่อผู้นำและประชาชนต่างแตกแยกหนุนหลังมหาอำนาจให้ห้ำหั่นกัน ประเทศตนเองก็เป็นเพียงแค่สนามรบ ที่ในที่สุดประธานาธิบดีเซเลนสกีก็ได้แต่เพียงแถลงกับประชาชนยูเครนผ่านระบบวิดีโอทางไกลในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2022 มีใจความว่า “เราถูกปล่อยให้ปกป้องประเทศของเราเองเพียงลำพัง ผมไม่เห็นมีใครเลย ใครพร้อมมอบคำรับประกันยูเครนในฐานะสมาชิก NATO บ้าง? ทุกคนต่างกลัวกันหมด”

 

เมื่อถึงเวลาที่ยูเครนถูกโจมตีเข้าจริงๆ พันธมิตร NATO ที่พยายามเชื้อเชิญให้ยูเครนเข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2013 ก็ได้แต่เพิกเฉย ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา 

 

บทเรียนสู่อาเซียน

ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ในภูมิภาคของเรา คำถามสำคัญคือ ในประชาคมอาเซียนมีพื้นที่ใดที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกนำสงคราม Hybrid Warfare มาใช้ จนอาจพัฒนากลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ มีพื้นที่ไหนที่มีครบทั้ง 3 ปัจจัย

  1. ปมความขัดแย้งที่ถูกกดทับเป็นเวลานานในพื้นที่ 
  2. มหาอำนาจมองเห็นผลประโยชน์ในการเข้ามาแทรกแซง 
  3. ผู้นำและประชาชนที่เลือกข้างสนับสนุนมหาอำนาจให้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน และพร้อมที่จะห้ำหั่นกันเอง

 

คำตอบอยู่ที่เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของประเทศไทย นั่นคือ เมียนมา

 

เมียนมาเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วย 7 รัฐ และ 7 เขต 7 เขตคือพื้นที่ที่คนกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พม่า ในขณะที่อีก 7 รัฐ เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยโดยกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ตั้งแต่การได้รับเอกราชของพม่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่ามีการยอมรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์ของกลุ่มคนในประเทศถึง 135 ชาติพันธุ์ และยังมีบางชาติพันธุ์ที่ทางการเมียนมาไม่ยอมรับ โดยเฉพาะกลุ่มเบงกาลี-โรฮีนจา ซึ่งตลอดทั้งประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมียนมา เราเห็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์เข้าทำสงครามกับกองทัพพม่า และปัญหาเหล่านี้เลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อมีการเข้ามาแทรกแซงของกลุ่มพุทธสุดโต่งที่ต่อต้านการนับถือศาสนาอื่นๆ ในเมียนมา นั่นคือปัจจัยที่ 1 ที่จะนำไปสู่ความวิบัติ

 

ปัจจัยที่ 2 ถามว่าเมียนมาเป็นที่จับตาของมหาอำนาจ และมหาอำนาจต้องการแทรกแซงหรือไม่ คำตอบคือ ต้องการอย่างยิ่ง เมียนมาตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงเอเชียตะวันออกผ่านจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านไทย และเอเชียใต้ผ่านอินเดียและบังกลาเทศเข้าด้วยกัน นอกจากนั้นแล้วเมียนมายังควบคุมเส้นทางการค้าในอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย ในบริเวณซึ่งสหรัฐฯ ต้องการสร้างพันธมิตรเพื่อปิดล้อมการขยายอิทธิพลของประเทศจีน ในขณะเดียวกัน เมียนมาก็มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรมบนพื้นดิน อัญมณีใต้พื้นดิน ก๊าซธรรมชาติในอ่าว และทองคำในมหาเจดีย์ ดังนั้นเมียนมาจึงเป็นที่จับตาของมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน และอินเดีย ซึ่งต่างก็มีความฉกาจฉกรรจ์ในการใช้ Hybrid Warfare ด้วยกันทั้งสิ้น

 

สำหรับปัจจัยที่ 3 ความสุ่มเสี่ยงปรากฏอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น ภายหลังการทำรัฐประหารโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ประชาชนเมียนมาแตกออกเป็น 2 กลุ่มทันที และเป็น 2 กลุ่มที่พร้อมที่จะห้ำหั่นกัน โดยฝ่ายทหารมีกองกำลังทหารบ้าน ทหารประชาชนที่เรียกว่า กองกำลังปยูซอที ในขณะที่กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลของ มิน อ่อง หล่าย ก็รวมตัวกันเป็นจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งก็มีกองกำลังภาคประชาชนป้องกันตนเอง ที่ทำงานร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ และถ้าเราสังเกตดีๆ ในหลายๆ พื้นที่ของการชุมนุม จะมีการใช้ธงชาติของประเทศมหาอำนาจ ทั้งนำมาสนับสนุนเรียกร้องในการชุมนุม และการนำมาเผา นำมากระทืบ เพื่อแสดงออกบางอย่าง

 

ถ้าเมื่อไรก็ตาม ผู้นำและประชาชนเลือกข้างมหาอำนาจ ตกเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจโดยประมาท ไม่ปกป้องคุ้มครองพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติตนเอง เมื่อนั้น 3 ปัจจัยที่จะทำให้สงครามไฮบริดพัฒนาจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบที่มีมหาอำนาจเข้าแทรกแซงกิจการภายในก็พร้อมที่จะเกิดขึ้น

 

และนี่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังอย่างแท้จริง เพราะต้องอย่าลืมว่า ไทยและเมียนมามีพรมแดนติดกันถึง 2,401 กิโลเมตร จากภาคเหนือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เชื่อมมาเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลงมายังภาคตะวันตกทางกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ยาวลงมาทางใต้ ผ่านประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จนถึงจังหวัดระนอง และต้องอย่าลืมว่า ไทยเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมหาศาลจากเมียนมาเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ เช่นเดียวกับภาคการผลิตทั้งสินค้าและบริการที่เราพึ่งพาแรงงานเรือนล้านจากเมียนมา ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากของไทยก็ส่งออกไปขายยังประเทศที่มีประชากรกว่า 55 ล้านคนแห่งนี้ ดังนั้นสงครามในเมียนมาจึงเป็นสิ่งที่ไทยไม่ต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด

 

ดังนั้นไทยและประชาคมอาเซียนต้องเดินหน้าหาแนวทางใหม่ๆ ในการสร้างสันติภาพ และเดินหน้าเศรษฐกิจในเมียนมาให้ได้ ก่อนที่การแทรกแซงจะเกิดขึ้น

 

ภาพ: Pierre Crom / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X