×

จับตาประชุมสุดยอดอาเซียน +3 สมัยพิเศษ กับปฏิญญาสร้างความร่วมมือสู้โควิด-19

14.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน +3 สมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันที่ 14 เมษายน เป็นการประชุมต่อเนื่องจากเวทีหารือประสานงานระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ (ACC Meeting) โดย 10 ชาติสมาชิกอาเซียน บวกจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะออกปฏิญญาพิเศษเพื่อสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคใน 6 ด้านเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกภูมิภาคต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาไร้สัญชาติและข้ามพรมแดน ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือทุกประเทศในภูมิภาคต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับปัญหาไปพร้อมๆ กัน

 

ที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ริเริ่มให้มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคซาร์สในปี 2003, การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขสมัยพิเศษว่าด้วยการรับมือโรคไข้หวัดนก (H1N1) ในปี 2009 และประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน +3 สมัยพิเศษว่าด้วยการเตรียมความพร้อมและรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในปี 2014

 

ในปี 2020 กับการระบาดของโควิด-19 ประเทศสมาชิกอาเซียนก็มีการประชุมกันอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาเริ่มจากการประชุมนัดพิเศษระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และจีน (The Special ASEAN – China Foreign Ministers’ Meeting on the Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว และได้ตกลงกันใน 5 เรื่อง ได้แก่

 

  1. ส่งเสริมการหารือเชิงนโยบายและแลกเปลี่ยนกลไกด้านสาธารณสุขร่วมกันระหว่างจีนและอาเซียน

 

  1. แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ประสบการณ์ การฝึกกำลังคน และประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน

 

  1. การแบ่งปันข้อมูลอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที

 

  1. การใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรค โดยเฉพาะการช่วยเหลือเอสเอ็มอี

 

  1. การหาทางเยียวยาและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคม และมีการตกลงกันว่าเมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสมจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเพื่อรับมือกับปัญหาโควิด-19

.

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม การประชุมในรูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสาธารณสุข (Senior Health Officials) ของทั้ง 10 ประเทศก็เกิดขึ้นตามมา และได้สร้างกลไกในการรับมือการแพร่ระบาดร่วมกันในประชาคมอาเซียน โดยกลไกนี้เรียกว่า ASEAN Emergency Operations Centre Network for Public Health Emergencies หรือเรียกย่อๆ ว่า ASEAN EOC Network โดยประเทศมาเลเซียจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานในการแบ่งปันข่าวสารข้อมูลและองค์ความรู้ในการรับมือ เฝ้าระวัง ดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งสร้างกลไกป้องกันการแพร่ระบาดร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก โดยสามารถอ่านข้อมูลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการของอาเซียนได้ที่ www.asean.org 

 

โดยในหน้าแรกของเว็บเพจประชาคมอาเซียนจะมีไอคอนเด้งขึ้นมาว่า ASEAN Health Efforts on COVID-19 โดยสิ่งสำคัญของกลไกนี้ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอาเซียนคือการวิเคราะห์ข้อมูลโดยระบบ AI และรายงานเป็น Risk Assessment Report ในทุกๆ วัน (อ่านรายละเอียดของความร่วมมือนี้ได้ที่บทความ กลไกอาเซียนต้าน COVID-19: มาช้า ยังดีกว่าไม่มา)

 

ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนก็ได้มีการประชุมออนไลน์อีกรอบเมื่อวันที่ 9 เมษายน ซึ่งเป็นการประชุมประสานงาน ASEAN Coordinating Council Meeting เพื่อปูทางไปสู่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน +3 ร่วมกับผู้นำจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อร่วมกันรับมือกับโควิด-19 ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษ COVID-19 ASEAN Response Fund ซึ่งจะเข้ามาเสริมการทำงานของกลไกการรับมือกับภัยพิบัติในภูมิภาคที่อาเซียนได้เคยจัดตั้งเอาไว้แล้ว นั่นคือกลไก AHA Centre: One ASEAN One Response ซึ่งรัฐมนตรีทั้ง 10 ประเทศรับรอง Joint Statement Special Video Conference of ASEAN Plus Three Health Ministers in Enhancing Cooperation on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) Response รวมทั้งยังมีการทำคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้ง 10 ประเทศแถลงในภาษาของตนเอง โดยให้ปฏิญาณร่วมกันว่าทั้ง 10 ประเทศอาเซียนจะเดินหน้าร่วมมือกันรับมือกับการระบาดในครั้งนี้ (ชมคลิปได้ที่นี่)

 

และจากการประชุม ACC Meeting ก็ปูทางไปสู่การประชุมระดับสุดยอดผู้นำอาเซียนและผู้นำอาเซียน +3 ที่จะเกิดขึ้นบนระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันที่ 14 เมษายน ซึ่งจะมีการประชุมและลงนามในเอกสารสำคัญคือ Declaration of the Special ASEAN Summit on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ซึ่งจะสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคใน 6 ด้าน อันได้แก่

 

  1. ความร่วมมือทางการแพทย์และสาธารณสุข การเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและรักษาชีวิตประชาชน

 

  1. ส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนในการรับมือกับการแพร่ระบาดโดยให้ยึดประชาชนเป็นหลัก รวมถึงการให้การช่วยเหลือประเทศสมาชิกอื่นๆ อย่างเท่าเทียม โดยประเด็นที่น่าสนใจที่สุดคือความร่วมมือนี้จะครอบคลุมทั้ง 10 ประเทศและประชาชนอาเซียนซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศสมาชิก ซึ่งผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาเซียนเองจะให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับกลุ่มผู้อพยพชาวเบงกาลีโรฮีนจา ที่อยู่ในค่ายผู้อพยพในประเทศบังกลาเทศอีกจำนวนมากกว่า 9 แสนราย ซึ่งอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงอย่างที่สุด

 

  1. ร่วมกันต่อต้านข่าวปลอมหรือ Fake News ส่งเสริมการให้มีช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เปิดเผย โปร่งใส และทันต่อสถานการณ์ ส่งเสริมการรับมือกับข่าวลวงและข้อมูลบิดเบือน

 

  1. แสดงออกถึงเจตจำนงและความร่วมมือที่ชัดเจนในการร่วมกันลดผลกระทบ ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาด

 

  1. Inclusive เน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ และหน่วยงานรายสาขาต่างๆ ของอาเซียน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับคณะทำงานต่างๆ โดยเฉพาะคณะทำงานภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน

 

  1. จัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนรับมือโควิด-19 (ASEAN Response Fund) โดยในทัศนะของผู้เขียน อยากจะให้อาเซียนเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ หรือกลุ่ม South Asian Association of Regional Cooperation (SAARC) ซึ่งมีอินเดียเป็นแกนนำในการจัดตั้งกองทุนและระบบการป้องกันการแพร่ระบาดร่วมกันในระดับภูมิภาค (SAARC Common Pandemic Protocol) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความเรื่อง โควิด-19 กับความหวังสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของเอเชียใต้)

 

และสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน +3 ร่วมกับผู้นำจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ประเด็นที่ต้องจับตาคือการรับรองใน Joint Statement of the Special ASEAN Plus Summit on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ซึ่งจะทำให้อาเซียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคู่เจรจาหลัก 3 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็น 3 ประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ แต่ปัจจุบันสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างดี รวมทั้งมีองค์ความรู้และมีประสบการณ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาด เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างกลไกในการรับมือการแพร่ระบาดร่วมกันในประชาคมอาเซียน รวมทั้งยังต้องจับตาดูเรื่องความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจที่ทั้ง 13 ประเทศจะสร้างร่วมกันเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคภายหลังการแพร่ระบาดอีกด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising