×

โควิด-19 กับความหวังสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของเอเชียใต้

27.03.2020
  • LOADING...

“A common danger unites even the bitterest enemies.” อริสโตเติล (384-322 ก่อนคริสต์ศักราช

 

องค์กรความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียใต้ (The South Asian Association for Regional Cooperation หรือ SAARC) คือความร่วมมือระหว่าง 8 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียใต้ อันได้แก่ อัฟกานิสถาน, บังกลาเทศ, ภูฏาน, อินเดีย, มัลดีฟส์, เนปาล, ปากีสถาน และศรีลังกา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1985 และมีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล 

 

ถึงแม้ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ล้วนเป็นรัฐชาติที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ มาอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างน้อยเราก็เห็นความก้าวหน้าบางประการ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียใต้ (South Asian Free Trade Area หรือ SAFTA) ในปี 2006

 

โดยประเทศสมาชิก SAFTA จำแนกประเภทของสมาชิกออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ ประเทศกำลังพัฒนา อันได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อันได้แก่ เนปาล, ภูฏาน, บังกลาเทศ, อัฟกานีสถาน และมัลดีฟส์ โดยประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาต้องเริ่มต้นลดภาษีในอัตราร้อยละ 20 ในระหว่างปี 2006/2007 จากนั้นต้องทยอยลดภาษีให้กับประเทศสมาชิกอื่นๆ จนกลายเป็น 0% ในปี 2012 และยืดเวลาการลดภาษีจนกลายเป็น 0% ไปอีก 3 ปีสำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 

 

แน่นอนว่าในกรอบความร่วมมือนี้ อินเดียแสดงความเป็นพี่เบิ้มอย่างเต็มที่ อาทิ ในปี 2008 อินเดียประกาศลดอัตราภาษีศุลกากรแต่เพียงฝ่ายเดียว จนจัดเก็บภาษีที่อัตรา 0% สำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท (ยกเว้นสินค้าในรายการสินค้าอ่อนไหว) ให้กับประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด

 

นอกเหนือจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรี SAFTA แล้ว SAARC ก็ยังมีข้อตกลงเพื่อสร้างความร่วมมือในมิติอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการท่องเที่ยว, การพัฒนาภาคเกษตรและชนบท, ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ และเทคโนโลยีชีวภาพ, ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการเงิน, กิจการด้านสังคม, ความร่วมมือด้านข่าวสารข้อมูล และการแก้ไขปัญหาความยากจน, ความร่วมมือด้านพลังงาน การขนส่ง วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี, ความร่วมมือด้านการศึกษา ความมั่นคง และวัฒนธรรม และความร่วมมือด้านอื่นๆ (จะเห็นว่าการจัดกลุ่มทางด้านความร่วมมือของกลุ่ม SAARC มีลักษณะที่โดดเด่น และแตกต่างกว่าการสร้างความร่วมมือของกลุ่มประเทศอื่นๆ)

 

ถึงแม้ความร่วมมือในกรอบ SAARC จะเดินช้าๆ แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในกลไกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยึดโยงเอเชียใต้เข้าไว้ด้วยกัน อย่างน้อยก็จนเกิดความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานอย่างรุนแรงในปี 2016 อันเป็นผลมากจากเหตุการณ์ Uri Attack ปี 2016

 

ช่วงเช้ามืดของวันที่ 18 กันยายน 2016 การโจมตีโดยผู้ก่อการร้าย 4 ระลอกเกิดขึ้นที่ศูนย์บัญชาการทางการทหารของกองทัพบกอินเดียในเขตอูรี ใกล้กับเส้นควบคุม (Line of Control) ในรัฐชัมมูและกัศมีร์ (จัมมูและแคชเมียร์) เหตุการณ์นี้ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต 19 นาย บาดเจ็บราว 30 นาย โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุในครั้งนี้คือ Jaish-e-Mohammed ซึ่งมีกองกำลังปฏิบัติการอยู่ในปากีสถาน และการที่รัฐบาลปากีสถานไม่แสดงความจริงใจในการดำเนินการเพื่อกำจัดกลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มนี้ ก็สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลอินเดียอย่างยิ่ง เพราะถือว่านี่คือการสนับสนุนการก่อการร้าย 

 

จากเหตุการณ์นี้ อินเดียประกาศไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ SAARC ที่จัดขึ้นในวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2016 โดยมีรัฐบาลปากีสถานเป็นเจ้าภาพ ณ กรุงอิสลามาบัด ซึ่งหลังจากอินเดียประกาศไม่เข้าร่วมประชุม รัฐบาลภูฏาน เนปาล และอัฟกานิสถาน ก็ประกาศไม่เข้าร่วมประชุมเช่นกัน ทำให้ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน การประชุมสุดยอดผู้นำ SAARC ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย

 

จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2020 ในเอเชียใต้มีจำนวนผู้ป่วยแล้ว 1,954 ราย เสียชีวิตรวม 31 ราย โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดคือ ปากีสถาน จำนวน 1,022 รายซึ่งส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้านคือ อิหร่าน ที่มีความใกล้ชิด และมีกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน

 

ตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดของโรคที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน รัฐบาลอินเดียก็แสดงบทบาทนำในเอเชียใต้โดยการช่วยเหลือจัดเที่ยวบินไปรับประชาชนอินเดีย และประชาชนมัลดีฟส์ 9 คน รวมกับประชาชนบังกลาเทศ 23 คนออกจากเมืองอู่ฮั่น และในช่วงที่มีการระบาดของโรค รัฐบาลอินเดียเองก็ได้ให้ความช่วยเหลือ โดยการส่งสินค้าเวชภัณฑ์ต่างๆ ไปให้กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งมัลดีฟส์และภูฏานแล้ว โดยเวชภัณฑ์เหล่านี้ถูกส่งออกไปจำนวน 317 กล่อง น้ำหนักรวมกันมากกว่า 5.5 ตัน โดยเวชภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่จัดส่งไปคือหน้ากากอนามัยสำหรับแพทย์ น้ำยาฆ่าเชื้อและทำความสะอาด เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัลสำหรับวัดอุณหภูมิร่างกาย ถุงมือและชุดใส่สำหรับป้องกันการติดเชื้อของแพทย์และพยาบาล 

 

แต่บทบาทผู้นำของรัฐบาลอินเดียเท่านั้นยังไม่พอ เพราะเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียส่งคำเชิญไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่ม SAARC ทุกประเทศ เพื่อให้ผู้นำของทั้ง 8 ประเทศมาร่วมประชุมร่วมกันผ่านระบบทางไกล (VDO Conference) เพื่อหาทางรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ร่วมกัน และนี่คือครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ผู้นำของกลุ่ม SAARC (แม้ว่าจะขาดนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน) ได้มาพบปะร่วมกัน แม้จะเป็นการประชุมทางไกลก็ตาม

 

ในการประชุมวันนั้น เราเห็นภาพนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ร่วมประชุมกับประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน อัชราฟ ฆานี, นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาสินา, นายกรัฐมนตรีภูฏาน โลเท เชอร์ริง, ประธานาธิบดีมัลดีฟส์ อิบราฮิม โมฮัมเหม็ด โซลีห์, นายกรัฐมนตรีเนปาล คัดห์กา ปราสาด ชาร์มา โอลิ และประธานาธิบดีศรีลังกา โคฐาภยะ ราชปักษะ ประชุมผ่านหน้าจอร่วมกันในฐานะผู้นำประเทศ และยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของปากีสถาน ซาฟาร์ มีร์ซา เข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของนายกรัฐมนตรี อิมรอน ข่าน ด้วย

 

อินเดียในฐานะผู้เชิญประชุม และประเทศขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มทั้งในมิติประชากร พื้นที่ ขนาดเศรษฐกิจ และระดับการพัฒนาการเศรษฐกิจ ประกาศจะตั้งกองทุน COVID-19 Emergency Fund โดยให้แต่ละประเทศร่วมสมทบทุนตามความสมัครใจ และอินเดียจะใส่เงินตั้งต้นให้กองทุนนี้จำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้กองทุนนี้สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายร่วมกัน ในการที่จะจัดตั้งกลไกรับมือการแพร่ระบาดในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังเสนอแนะให้ทั้งกลุ่มร่วมกันจัดตั้งคณะแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญในลักษณะ Rapid Response Team ร่วมกัน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที และอินเดียจะเป็นผู้สร้างระบบการอบรมหลักสูตรเข้มข้นในการรับมือกับการแพร่ระบาดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของแต่ละประเทศสมาชิก SAARC (อินเดียใช้ภาษาอังกฤษแบบอินเดียว่า Online Training Capsule for Emergency Response Team) โดยเป็นหลักสูตรอบรมแบบออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าทุกประเทศตอบรับทันที ยกเว้นปากีสถานที่ต้องการเวลาในการปรึกษาหารือ เนื่องจากผู้เข้าร่วมการประชุมไม่ใช่ระดับผู้นำ

 

นอกเหนือจากนี้แล้ว อินเดียยังเสนอที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีในระบบ Integrated Disease Surveillance Portal ซึ่งใช้ในการสืบค้น (Trace) เส้นทางการแพร่ระบาดของผู้ติดเชื้อให้กับประเทศสมาชิก แนะนำว่ากลไกของ SAARC ที่เรียกว่า SAARC Disaster Management Centre น่าจะเป็นแกนกลางที่ต้องถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดร่วมกัน โดยเสนอตัวว่า Indian Council of Medical Research (ICMR) จะรับเป็นแกนกลางในการประสานงาน โดยทั้งหมดจะทำให้ SAARC สามารถสร้าง Common SAARC Pandemic Protocols ร่วมกัน เพื่อจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดซึ่งไร้สัญชาติ และไม่มีพรมแดนนี้ได้ เรื่องที่ยังต้องมีการหารือกันต่อสำหรับประเทศในกลุ่ม SAARC คือผลกระทบทางเศรษฐกิจ และหากในอนาคตสามารถคิดค้นยา และ/หรือวัคซีน สำหรับต่อสู้กับไวรัสนี้ได้ จะมีกลไกใดหรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อทำให้การจัดหาและการผลิตยาเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยต้นทุนที่ทำให้ประชาชนเอเชียใต้สามารถเข้าถึงได้

 

ล่าสุด การประชุมทางไกลของทีมแพทย์อาวุโสของกลุ่มประเทศเอเชียใต้เกิดขึ้นแล้วในวันที่ 26 มีนาคม 2020 เพื่อวางแผนร่วมกันในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 กองทุน COVID-19 Emergency Fund ก็มีการใส่เงินกองทุนเพิ่มเติม 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากศรีลังกา 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากบังกลาเทศ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากเนปาล 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากอัฟกานิสถาน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐจากมัลดีฟ และ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐจากภูฏาน ทำให้ปัจจุบันเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 18.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ SAARC Disaster Management Centre จัดตั้งเว็บไซต์ www.covid19-sdmc.org ขึ้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับทุกประเทศเอเชียใต้ 

 

ความร่วมมือของกลุ่มประเทศในเอเชียใต้ดูเหมือนจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง แต่คำถามสำคัญคือ มันจะยั่งยืนและสามารถชุบชีวิต SAARC ให้กลับมาได้หรือไม่

 

แน่นอนว่าเรายังไม่เห็นความร่วมมือย่างเต็มที่จากปากีสถาน ผู้นำไม่ได้เข้าร่วมประชุม รัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจ เงินกองทุนก็ยังไม่ร่วมลงขัน และที่สำคัญในการประชุมออนไลน์ของผู้นำเมื่อวันที่ 16 มีนาคม รัฐมนตรีสาธารณสุขยังมัวแต่พูดเรื่องประเด็นความขัดแย้งของอำนาจอธิปไตยระหว่างอินเดียและปากีสถานในบริเวณแคชเมียร์อีกต่างหาก นั่นทำให้เราเห็นความไม่ลงรอยบางอย่างระหว่างกลุ่มยังคงเกิดขึ้น ดังนั้นความเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อที่จะชุบชีวิต SAARC คงยังต้องมีแรงผลักเพิ่มขึ้นอีก

 

นักวิเคราะห์ของอินเดียจำนวนหนึ่งก็มองสถานการณ์นี้ว่า แท้จริงแล้ว นอกจากเหตุผลทางมนุษยธรรมของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นเหตุผลอันดับที่ 1 แล้ว การเมือง-ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเองก็เป็นประเด็นสำคัญลำดับที่ 2 ที่ทำให้อินเดียต้องออกมาเล่นบทนำในเรื่องนี้ เพราะถ้าอินเดียไม่ทำ พวกเขามองว่า ในเอเชียใต้ก็จะได้เห็นอีกมหาอำนาจหนึ่งแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามา นั่นคือ จีน โดยเข้าผ่านทางปากีสถาน และตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เมื่อกลไกระดับภูมิภาคของตนเองไม่ทำงาน ในช่วงเวลาที่ทุกคนเปราะบางมากที่สุด มหาอำนาจภายนอกก็เข้ามาขยายอิทธิพลผ่าน Soft Power ได้ง่ายและมีพลัง ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ หลากหลายสถานที่ในประเทศอิตาลี ชักธงของสหภาพยุโรปลงจากยอดเสา เพราะในเวลาที่วิกฤตที่สุด อิตาลีมองไม่เห็นความช่วยเหลือใดๆ จาก EU แต่ธงชาติที่ผู้คนในอิตาลีชักขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงชาติสีน้ำเงินและดาวสีเหลือง 12 ดวงของสหภาพยุโรป คือ ธงชาติสีแดงที่มีดาวสีเหลือง 5 ดวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ภาพเหล่านี้เองที่ทำให้อินเดียอยู่เฉยไม่ได้

 

เมื่อเราเห็นสถานการณ์ในอินเดียและเอเชียใต้แล้ว คำถามสำคัญคือ แล้วบทบาทของไทย และประชาคมอาเซียนในเรื่องนี้อยู่ที่ตรงไหน เราจะวางบทบาทนำในระดับภูมิภาค ในฐานะมหาอำนาจระดับกลาง อย่างที่ไทยอยากจะเป็นได้อย่างไร

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘การพัฒนาความเชี่ยวชาญเอเชียใต้ศึกษา South Asian Experts’ ที่ได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X