การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 46 จะจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม โดยปีนี้วาระการประชุม ถูกห้อมล้อมไปด้วยความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์โลก ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจัยหลักมาจากแนวนโยบายที่ค่อนข้างสุดโต่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ ที่หลายชาติอาเซียนรวมถึงไทย เวียดนาม และกัมพูชา เผชิญการเรียกเก็บภาษีสินค้าในอัตราที่ค่อนข้างสูง
ขณะที่ปีนี้ มาเลเซียในฐานะเจ้าภาพและประธานอาเซียน พยายามนำเสนอบทบาทนำในการประสานความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิก ซึ่งนอกจากวาระใหญ่ด้านเศรษฐกิจ ในมุมความมั่นคงของภูมิภาคยังมีปัญหาที่น่าจับตามอง ทั้งกรณีความขัดแย้งในเมียนมา และปัญหาพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับสมาชิกอาเซียนบางประเทศ
และนี่คือวาระร้อนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ ซึ่งน่าจับตามองว่า ทั่วทั้งภูมิภาคจะสามารถจับมือกันรับมือกับความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ได้หรือไม่
ทางรอดสงครามภาษี
ประเด็นสงครามภาษี ถือเป็นความท้าทายหลักของแทบทุกประเทศอาเซียนในตอนนี้ โดยสิ่งที่ต้องจับตามอง คือกรอบเวลา 90 วัน ที่ทรัมป์ระงับการบังคับใช้ภาษีตอบโต้ และจะครบกำหนดในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้
ก่อนหน้านี้ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เตือนว่าหากประเทศใด ยังไม่สามารถเจรจาและบรรลุข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ได้ ก็จะต้องเผชิญการกลับไปบังคับใช้ภาษีตอบโต้ ในอัตราที่ทรัมป์ ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เมษายน ซึ่งในส่วนของไทยคืออัตราที่สูงถึง 36%
จนถึงตอนนี้มีรายงานว่าบางประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย กำลังเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยยังมีความไม่ชัดเจนว่า จะได้เจรจาเมื่อไร
ส่วนมาเลเซียได้มีการส่งคณะผู้แทนไปยังวอชิงตันเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่ชัดเจนเช่นกันว่าสามารถเจรจากับสหรัฐฯ ได้หรือไม่
ทางด้านเวียดนามซึ่งเผชิญกับอัตราภาษีตอบโต้ถึง 46 % มีแนวโน้มจะเป็นตัวเต็งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ
เจมีสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เปิดเผยว่าการเจรจากับเวียดนามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และชี้ว่าผลลัพธ์ของการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และสมาชิกอาเซียน มีความสำคัญต่อการกำหนดว่าประเทศอาเซียน จะรักษาความสามารถด้านการแข่งขันของตนไว้ได้หรือไม่
ด้าน รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อบทบาทของไทยในประเด็นนี้ โดยมองว่า ไทยจะต้องเตรียมความพร้อม และกำหนดยุทธศาสตร์ในการหารือประเด็นต่างๆ อย่างรัดกุม เช่น การหารือกับประเทศสมาชิกที่ได้เข้าไปเจรจาการค้ากับทรัมป์แล้ว เพื่อแชร์ข้อมูลเชิงลึกระหว่างกัน ซึ่งอาจจะยังเจรจาไม่สำเร็จ เพื่อนำมากำหนดและปรับยุทธศาสตร์ที่เราและประเทศสมาชิกนั้นๆ อาจมีร่วมกัน
โดยไทยเองก็อาจจะยื่นข้อเสนอคุยต่อให้ พร้อมแก้ไขรอยรั่วต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเจรจากับสหรัฐฯ
ประเด็นน่าจับตามองอื่นๆ
อีกประเด็นใหญ่ของภูมิภาคคือสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาที่ยืดเยื้อมากว่า 4 ปี โดยมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน เผชิญเสียงเรียกร้องและการสนับสนุนจากหลายฝ่ายให้ผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพในเมียนมาตามแนวทางฉันทามติ 5 ประการให้สำเร็จ
ขณะที่ รศ. ดร.ปิติ มองว่า หนึ่งในประเด็นน่าสนใจที่น่าจะเกิดขึ้นในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ คือการพิจารณารับ ‘ติมอร์เลสเต’ เป็นสมาชิกอาเซียนชาติที่ 11
รศ. ดร.ปิติ อธิบายว่า การเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของติมอร์เลสเต เกี่ยวพันกับ ‘หลักการ IAI’ (Initiative for ASEAN Integration) ซึ่งเป็นโครงการหลักของอาเซียนที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศสมาชิกใหม่ในการปรับตัวและรวมเข้ากับภูมิภาคได้อย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ คาดว่าที่ประชุมอาเซียนจะรับรอง ‘วิสัยทัศน์อาเซียน 2045’ (ASEAN Community Vision 2045) อย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งที่ 46 นี้ ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่กำหนดทิศทางการพัฒนาของอาเซียนในอีก 20 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นการสร้างประชาคมที่มีความยืดหยุ่น สร้างสรรค์ มีพลวัต และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและเสริมสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาค
และนอกเหนือจากเวทีประชุมผู้นำอาเซียน ยังมีการประชุมย่อยที่น่าสนใจ คือการประชุมอาเซียน กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ และจีน (ASEAN- Gulf Cooperation Council -China Summit)
โดยรศ. ดร.ปิติ มองความสำคัญของการประชุมย่อยนี้ ว่า มาเลเซียอาจจะต้องการใช้เวทีนี้ในการแสดงบทบาทในฐานะการเป็นประเทศ ‘ผู้นำโลกมุสลิม’ ขณะที่น่าจับตามองว่าจีนจะดีลอะไรกับบรรดารัฐอ่าวอาหรับเหล่านี้ และไทยเองพอที่จะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์หรือช่วยเติมเต็มช่องว่างของการร่วมมือระหว่างจีนกับรัฐอ่าวอาหรับเหล่านี้ได้บ้างหรือไม่ เช่น อาจเสนอเป็นสะพานเชื่อมทางทะเลระหว่างจีนและรัฐอ่าวอาหรับได้หรือไม่ ซึ่งอาจใช้ต้นทุนในการขนส่งต่ำกว่าเส้นทางขนส่งทางบก เป็นต้น เพื่อผลักดันผลประโยชน์ 3 ฝ่าย เพราะถ้ารัฐบาลไทยไม่เสนออะไรเลย อาจเสียโอกาสสำคัญๆ ให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้
มาเลเซียต้องกล้าปฏิรูป
ที่ผ่านมา อาเซียนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการทำงานที่มีความเข้มงวด แต่การมีร่วมแรงร่วมใจของชาติสมาชิกในการดำเนินการด้านต่างๆ อยู่ในระดับต่ำ และมีความเป็นเอกภาพที่ลดน้อยลง
บทวิเคราะห์จาก The Edge Malaysia ชี้ว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้ ควรที่จะเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ต่อผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และจะต้องลงมือทำอะไรที่มากไปกว่าการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต หรือพิธีรีตองต่างๆ
โดยสิ่งสำคัญสำหรับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน จะต้องมุ่งเน้นการปฏิรูปการทำงานของอาเซียน มากกว่าเน้นเรื่องพิธีการ เช่น การทักทายหรือกล่าวสุนทรพจน์เปิดงานที่ยืดยาว เปลี่ยนมาเป็นการสนทนาอย่างตรงไปตรงมาและการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และให้ความสำคัญต่อความก้าวหน้าและฉันทามติของทั้งภูมิภาค เพื่อเอาชนะความท้าทายในประเด็นต่างๆ
นอกจากนี้ อันวาร์ยังต้องแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำและกำหนดทิศทางการประชุมที่นำไปสู่ผลประโยชน์ของสมาชิกอาเซียน และต้องกล้าที่จะตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของชาติสมาชิกอาเซียนต่างๆ
บทบาทผู้นำไทยในเวทีอาเซียน
ทั้งนี้ รศ. ดร.ปิติ แสดงความกังวลต่อบทบาทนายกรัฐมนตรีไทยในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ โดยตั้งข้อสังเกตว่าไทยมีความพร้อมมากแค่ไหน และจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าหากเตรียมความพร้อมไม่ดี ไม่มีวาระสำคัญที่จะเดินหน้าหรือผลักดัน อาจทำให้ไทยเสียโอกาส
เขาเน้นย้ำว่า ถ้าหากผู้นำไทยรู้จักใช้โอกาสให้เป็นโอกาส ไทยเราก็จะพุ่งทะยานอย่างมาก แต่ถ้าเราไม่รู้จักใช้โอกาสให้เป็น ไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า ก็อาจจะทำให้ไทยพลาดโอกาสสำคัญๆ ไป หรือพูดภาษาบ้านๆ ว่า ‘เสียของ’
“ไทยเราต้องกลับมาทบทวนมากๆ ซึ่งเรามีบทบาทนำในอาเซียนมาโดยตลอด แต่ขณะนี้ดูเหมือนถดถอยเยอะมาก ทำไมเราไม่มองหาโอกาส เช่น ไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ทำไมเราถึงไม่ใช้จุดนี้ต่อยอดและผลักดันประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ แต่กลับกลายเป็นว่า คนอื่นมองเราเชิงลบเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน จากกรณีของการส่งชาวอุยกูร์กลับจีน”
รศ. ดร.ปิติ ยังชี้ว่า ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศพูดมาโดยตลอดว่า นโยบายการต่างประเทศที่ดีต้องเริ่มจากในบ้าน ต่อด้วยประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของไทยก็คือ อาเซียน แต่คำถามคือ “เราได้ทำอย่างที่เราพูดแบบจริงๆ จังๆ อย่างนั้นแล้วหรือยัง?”
อ้างอิง: