×

เลือกตั้งใหม่! สภาล่างของสหราชอาณาจักรผ่านร่างกฎหมายให้จัดการเลือกตั้งทั่วไป 12 ธันวาคมนี้

30.10.2019
  • LOADING...

หลังจากเมื่อวันจันทร์ (28 ตุลาคม) ตามเวลาท้องถิ่น สมาชิกสภาสามัญหรือสภาล่าง (House of Commons) ของสหราชอาณาจักร ไม่เห็นชอบญัตติขอจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ก่อนกำหนดในวันที่ 12 ธันวาคมของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน โดยมี ส.ส. โหวตสนับสนุนเพียง 299 ต่อ 70 เสียง ซึ่งไม่ถึง 2 ใน 3 ตามที่กฎหมายวาระการดำรงตำแหน่งในรัฐสภา (Fixed-Term Parliaments Act) กำหนดไว้

 

ทำให้ในช่วงค่ำวานนี้ (29 ตุลาคม) บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เดินหน้าผลักดันให้มีการเลือกตั้งต่อด้วยวิธีการเลี่ยงใช้กฎหมาย Fixed-Term Parliaments Act และเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ต่อสภาเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 12 ธันวาคมแทน ซึ่งวิธีนี้ต้องการเสียงสนับสนุนเพียงกึ่งหนึ่งของสภาล่างเท่านั้นก็จะสามารถออกกฎหมายได้

 

ปรากฏว่าตั้งแต่ก่อนการประชุมสภาเพื่อหารือและลงมติในเรื่องนี้จะเริ่มขึ้น ริชาร์ด เบอร์กอน รัฐมนตรีเงาประจำกระทรวงจากพรรคเลเบอร์ก็ยืนยันว่าพรรคเลเบอร์จะสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง ส่วน เจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคเลเบอร์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านระบุว่าพร้อมสำหรับการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ และยังยืนยันจุดยืนเดิมคือไม่ต้องการ No-Deal Brexit ส่วนหัวหน้าพรรค SNP และลิเบอรัลเดโมแครตก็สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่ก็มี ส.ส. จากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านส่วนหนึ่งที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดย ส.ส. บางคนมีจุดยืนต้องการเห็นการลงประชามติรอบสองมากกว่า

 

และระหว่างการประชุมสภาล่างดังกล่าว พรรคเลเบอร์ก็เสนอให้มีการแก้ไขเนื้อหาของกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อแก้ไขวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 9 ธันวาคม โดยระบุเหตุผลว่าเพื่อให้ไม่ตรงกับช่วงหยุดยาวของนักศึกษาบางส่วนซึ่งอาจทำให้พวกเขาไม่อยู่ใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง แต่โอลิเวอร์​ ดาวเดน รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลจะต่อต้านการแก้ไขกฎหมายนี้ และในที่สุด สมาชิกสภาล่างก็ลงมติ 295 ต่อ 315 ไม่เห็นชอบกับการแก้ไขวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 9 ธันวาคม นอกจากนี้ สมาชิกสภาล่างจากพรรคฝ่ายค้านบางส่วนยังมีการเสนอให้แก้ไขร่างกฎหมายให้เยาวชนอายุ 16-17 ปี และพลเมืองของชาติสมาชิกสหภาพยุโรปที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ได้ แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ถูกยกขึ้นมาพิจารณา

 

และในที่สุด สมาชิกสภาล่างก็โหวตรับร่างกฎหมายเลือกตั้งวันที่ 12 ธันวาคมด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 438 ต่อ 20 เสียง แม้ยังเหลือขั้นตอนของการนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาสูง (House of Lords) แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากที่สภาสูงจะคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยสำนักข่าว BBC รายงานว่าหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะมีการยุบสภาในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้

 

ขณะที่สภายุโรปออกแถลงการณ์ตอบรับคำขอขยายเวลา Brexit ของสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการแล้ว ระบุว่าเส้นตายดังกล่าวจะถูกเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2020 เพื่อให้เวลากับการอนุมัติข้อตกลง Brexit แต่หากข้อตกลงดังกล่าวเป็นที่เห็นชอบของทุกฝ่ายแล้ว สหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปก่อนกำหนดเส้นตายใหม่ในวันที่ 1 ธันวาคม 2019 หรือ 1 มกราคม 2020 ก็ได้

 

ขณะนี้จึงเท่ากับว่า เมื่อสภาสูงผ่านร่างกฎหมายให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 12 ธันวาคม เส้นทางของการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรหรือ Brexit จะยังคงเป็นไปได้ในหลายแนวทาง ตั้งแต่

 

– กรณีข้อตกลง Brexit ล่าสุดของบอริส จอห์นสัน ผ่านการพิจารณาจากสภาเป็นกฎหมายได้สำเร็จทันเส้นตายวันที่ 31 มกราคม 2020 ก็จะนำไปสู่การออกจากสหภาพยุโรปตามกำหนด หรือก่อนกำหนดดังกล่าวได้

 

– หรืออาจจะมีการแก้ไขรายละเอียดข้อตกลงกันใหม่ระหว่างกระบวนการนิติบัญญัติ

 

– กรณีข้อตกลงไม่ผ่านสภา ก็อาจนำไปสู่ Brexit แบบไร้ข้อตกลง (No-Deal Brexit) ในวันที่ 31 มกราคม 2020

 

– กรณีพรรคที่สนับสนุนการทำประชามติรวมเสียงหลังการเลือกตั้งแล้วเพียงพอต่อการโหวตให้มีการทำประชามติได้ อาจเกิดการทำประชามติรอบที่สอง ซึ่งในการทำประชามติก็อาจมีตัวเลือกให้โหวตได้หลากหลาย ทั้งการออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง มีข้อตกลง หรืออยู่ต่อไปในสหภาพยุโรป

 

– หรือกรณีสุดท้าย คือยกเลิก Brexit โดยสหราชอาณาจักรสามารถเพิกถอนการใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการถอนสมาชิกภาพของชาติสมาชิกสหภาพยุโรปได้เองโดยไม่ต้องขอมติจากชาติสมาชิกอียูแต่อย่างใด ซึ่งพรรคลิเบอรัลเดโมแครต แสดงจุดยืนชัดเจนว่าหากพวกเขาชนะการเลือกตั้งได้เสียงส่วนใหญ่ในสภาล่าง พวกเขาจะใช้ทางเลือกนี้แน่นอน

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X