×

ถ้าข้าพเจ้า (นักการเมือง) ได้เป็นครูใหญ่…อนาคตของเด็กไทยจะฝากไว้ในมือใคร

16.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • 4 นักการเมืองที่มาร่วมถอดรื้อการศึกษาไทย ไม่ว่าทุกคนจะมีพื้นเพอย่างไรเกี่ยวข้องกับการศึกษามากน้อยแค่ไหน เวลานี้ทุกคนได้รับบทบาทให้เป็น ครูใหญ่โรงเรียนประเทศไทย ที่อนาคตของเด็กไทยกำลังจะอยู่ในมือของพวกเขา

‘ถ้าข้าพเจ้าได้เป็นครูใหญ่’ คือหัวข้อการสนทนา Session 2 ที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมเผยมุมมอง วิสัยทัศน์ ในบทบาท ‘ครูใหญ่โรงเรียนประเทศไทย’ ภายใต้กิจกรรม ‘ถอดรื้อการศึกษาไทย เพื่อการปฏิรูปอย่างแท้จริง’

 

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย Worlddidac Asia

 

นักการเมืองที่เข้าร่วมมาจากหลากพรรค ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย จากพรรคอนาคตใหม่, พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จากพรรคเสรีรวมไทย และ ศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน จากพรรคประชาธิปัตย์  

 

ไม่ว่าทุกคนจะมีพื้นเพอย่างไร เกี่ยวข้องกับการศึกษามากน้อยแค่ไหน แต่เวทีนี้ ทุกคนได้รับบทบาทให้เป็น ‘ครูใหญ่โรงเรียนประเทศไทย’ ที่อนาคตเด็กไทยจะอยู่ในมือของพวกเขา

 

 

ก่อนจะเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนประเทศไทย ต้องเคยเป็นนักเรียนในระบบการศึกษามาก่อน ขอย้อนกลับไปถามว่า วันที่ทุกท่านเป็นเด็ก เป็นนักเรียนแบบไหน

 

ครูกนก: การศึกษาต้องมีเพื่อสังคม

ครูกนกเล่าว่า ตอนเป็นนักเรียนที่พิจิตร เป็นเด็กเรียนหนังสือเก่ง และรู้สึกว่าถ้าจะประสบความสำเร็จในชีวิตต้องเรียนให้เก่ง โดยเฉพาะค่านิยมการเป็นคนจีนทำธุรกิจ ถูกข้าราชการข่มเหงรังแก พ่อแม่ก็จะบอกให้เรียนให้เก่ง จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในสภาพแบบที่เผชิญอยู่ “เรียนให้เก่ง เอาตัวรอดให้ได้ ต้องชนะ” แต่เมื่อมาเรียนที่อัสสัมชัญบางรัก และมีบาทหลวงคาทอลิกทำเรื่องสังคมสงเคราะห์ ทำให้ตนเองได้ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเด็กกำพร้า ได้เห็นความเสียเปรียบของคน จนรู้สึกว่าเราเรียนเพื่อส่วนรวมได้หรือไม่ ต่อมาเมื่อได้เรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทันตแพทย์ ก็ทำกิจกรรม ยุค 14 ตุลาคม ได้ตระหนักว่าการศึกษาไม่ต้องอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น และการศึกษาเป็นเพื่อความก้าวหน้า ความดีงามของสังคม การศึกษาไม่ได้จบในตัวมันเอง แต่การศึกษาต้องเป็นเพื่อสังคม ระบบการศึกษาต้องตอบโจทย์เรื่องนี้

 

ครูเสรี: ต้องคิดเป็น

ครูเสรีเรียนดีได้ที่ 1 จนมาเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ก็เจอความพลิกผัน จากเคยเป็นตัวแทนแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ แต่ต้องท่องกฎหมายตำรามากมาย เทอมแรกที่ได้เรียน จากนักเรียนทั้งหมด 89 คน ครูเสรีสอบได้ที่ 75 ทำให้เสรีต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

 

ด้วยความที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะให้วันพุธเป็นวันพักผ่อน ซึ่งจะฉายภาพยนตร์เพื่อผ่อนคลายความเครียดให้นักเรียน แต่เสรีเลือกจะเข้าห้องดูหนังสือแทน การทำตัวแปลกแยกกลายเป็นการไม่มีระเบียบวินัยในสายตารุ่นพี่ปี 2 จนเสรีถูกรบกวนการอ่านหนังสือ เสรีเล่าอย่างขำขันว่า วันที่เสรีเป็น ผบ.ตร. รุ่นพี่พวกนี้ยังเป็นพันตำรวจเอกอยู่เท่านั้น เพราะ ‘คิดไม่เป็น’ เทอมนั้น จากได้ที่ 75 เสรีขึ้นมาเป็นที่ 25

 

ต่อมาเมื่อขึ้นปีที่ 4 ได้เป็นนักเรียนปกครอง คือปกครองรุ่นน้อง เสรีเผยว่า “เคยปกครอง ทักษิณ ชินวัตร มาแล้วสมัยเป็นนักเรียน ผมแน่แค่ไหน เคยปกครองคนเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว”

 

 

ครูจุ๊ย: เด็กไม่เก่งกีฬา แต่เพื่อนฟินแลนด์พาวิ่งไปด้วยกัน

ครูจุ๊ยคือเด็กชนชั้นกลางในปริมณฑลนนทบุรี สมัยเด็กๆ ไม่เคยต่ำกว่า Top 10 ของห้อง และคิดว่านั่นคือจุดที่เชื่อว่าตัวเองทำหน้าที่ได้ดีแล้ว

 

แต่จุดเปลี่ยนคือการได้ไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่ฟินแลนด์ จากโรงเรียนเมืองกรุง ซึ่งเป็นขนาด 3,000 คน ไปสู่โรงเรียนที่มีคนเรียน 200 กว่าคนในฟินแลนด์ โดยที่พูดฟินแลนด์ไม่ได้ เพื่อนในชั้นเรียนก็ไม่ได้พูดอังกฤษกันได้ทุกคน แต่ครูจุ๊ยเห็นถึงความพยายามของเพื่อนๆ ที่อยากมาช่วยเหลือกันตลอดเทอม นอกจากนั้นในห้องเรียนที่ฟินแลนด์ ครูจุ๊ยได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นในเมืองกรุงคือ “เพื่อนที่นั่งวีลแชร์มาเรียน คุณครูสอนเปียโนที่ตาบอด มีเพื่อนที่ต้องการการศึกษาพิเศษ และมีครูพิเศษมานั่งอยู่ในห้อง”

 

ฟินแลนด์ทำให้ได้เข้าใจถึงความหมายของคำว่า ‘เอื้ออาทร’ ครูจุ๊ยไม่เก่งกีฬา แต่ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทำให้จุ๊ยกลัวคาบกีฬา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “เพื่อน วิ่งไปเป็นเพื่อนจุ๊ย พาวิ่งไปด้วยกัน” ไม่แคร์ว่าจะได้อันดับที่ดีหรือไม่ดี หรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

 

ครูหน่อย: นักเรียนในวันที่บริบทสังคมเปลี่ยนไปจากยุคพ่อแม่

ครูหน่อยเป็นเด็กในเมือง เกิดกรุงเทพฯ ส่วนคุณพ่อเป็นอดีตนักการเมืองโคราช บ้านเกิดอยู่โคราช ปิดเทอมกลับไปที่บ้าน คุณพ่อจะสอนให้สัมผัสชีวิต ได้ไปต่างจังหวัด ถิ่นทุรกันดาร

 

“ไม่โทษระบบการศึกษา” ครูหน่อยให้ความเห็นต่อประโยคที่คนชอบพูดกันว่า “มีคนบอกว่าการศึกษาไทยทำให้ประเทศเป็นแบบนี้” ซึ่งครูหน่อยคิดว่ามันเป็นเพราะ “ความคาดหวังที่เปลี่ยน” จากยุคพ่อแม่ที่ให้คุณค่ากับการรับราชการ ดังนั้นการเรียนเก่งเพื่อสอบราชการให้ได้จึงสำคัญ แต่อีกยุคเป็นการเข้าบริษัทใหญ่ๆ เกรดต้องพอใช้ได้ แต่เด็กต้องเก่งหลากหลายด้าน

 

 

สำหรับคำถามสำคัญว่า จะทำอะไรหากเป็นครูใหญ่โรงเรียนประเทศไทย

 

ครูหน่อย: ครูที่ฟังเด็กและเข้าใจความสร้างสรรค์ของเด็ก

ครูหน่อยบอกว่า ระบบการศึกษาเราปรับตามความต้องการของคนเรียนและผู้จ้างงานไม่ทัน โดยเฉพาะช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จึงไม่ทัน และทุกวันนี้ผู้จ้างงานไม่ได้ดูที่ปริญญาอย่างเดียว แต่อยากได้เด็กที่มีมัลติสกิล มีแพสชัน มีความสร้างสรรค์ แต่การศึกษาเรายังอยู่ในบริบทเดิม  

 

ถ้าเป็นครูใหญ่วันนี้ก็อยากฟังเด็กก่อน เพราะเด็กทุกวันนี้มีกูเกิล มีแหล่งเข้าถึงความรู้ได้มากกว่าเดิม มีโอกาสมากกว่าคนรุ่นตนเอง ความรู้อยู่ในอากาศ 24 ชั่วโมง เราจึงต้องเปลี่ยน ทำให้การศึกษาของไทยทำให้เด็กไทยเป็นพลเมืองของโลก และเด็กใช้ทรัพย์สินของโลกคือเทคโนโลยีมาทำมาหากินได้ ถ้าเป็นครูใหญ่ก็ต้องปรับครั้งใหญ่ ต้องฟังเด็ก เพราะโอกาสของเขามีมากกว่า

 

 

ครูจุ๊ย: สร้างพื้นที่ให้ทุกคนเป็นทีมทำงานร่วมกันได้เต็มศักยภาพที่สุด

อยากเห็นโรงเรียนทำการศึกษาแบบทำร่วมกันเป็นทีม ไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งในการทำเรื่องการศึกษา ทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาเด็ก ‘ทุกคน’ โดยเข้าใจว่าเด็กทุกคนไม่เหมือนกัน และจะไม่ตัดเสื้อชุดเดียวกันให้เด็กทุกคนใส่ ทุกทีม ทั้งทีมนโยบาย ทีมรัฐ ทีมโรงเรียน หรือกระทั่งทีมผู้ปกครอง ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน

 

ครูใหญ่ต้องทำหน้าที่แม่ยก ทุกๆ ทีมต้องทำหน้าที่แม่ยก ส่งเสริมศักยภาพกันและกัน โดยส่งเสริมให้ทุกคนในทีมรู้ตัวว่าศักยภาพของตัวเองคืออะไร ครูใหญ่สร้างพื้นที่ให้ทุกคนสามารถใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อแสดงศักยภาพได้ดีที่สุด

 

โรงเรียนที่ฝึกครู ก็ต้องทำให้ครูค้นเจอศักยภาพตัวเอง สร้างนักเรียนที่มีศักยภาพหลากหลาย และพัฒนาประเทศไปด้วยกัน

 

 

ครูเสรี: ต้องมีทั้งกำลัง ความคิด และจิตใจ

ครูเสรีบอกว่า ผู้ที่เป็นตำรวจจำเป็นต้องฝึกฝนตนเองให้แข็งแกร่งอยู่เสมอ ทั้งกำลัง ความคิด และจิตใจ ให้มากพอจนกระทั่งเกิดอุดมคติให้มั่นคง และจะทำงานให้เกิดประสิทธิภาพได้

 

นอกจากดานความรู้ เด็กต้องได้เรียนกีฬามากขึ้น กีฬาใดเป็นวิชาชีพได้ หาเงินได้ ต้องให้ความสำคัญให้เด็กได้เรียนไปเลย ด้านจิตใจก็ต้องฝึกอบรมเด็กให้กลับไปบ้านก็ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานต่างๆ แล้วกลับมาก็มาเล่าให้เพื่อนนักเรียนในชั้นฟัง  และอบรมให้อยู่ในสังคมได้ มีระเบียบวินัย

 

 

ครูกนก: แก้ปัญหา 3 ด้าน สร้างคนดีก่อนให้เป็นคนเก่ง

ครูกนกชี้ว่า โรงเรียนประเทศไทยมีปัญหาสำคัญ 3 เรื่องที่จะต้องแก้ไข

 

ปัญหาที่หนึ่ง นักเรียนยากจน มีหนี้สิน ดังนั้นโรงเรียนต้องสอนให้มีความรู้ มีงานทำ นำไปประกอบอาชีพได้

 

ปัญหาที่สอง คนไม่มีความรู้อยู่เยอะมาก มีทั้งการได้รับข่าวสารไม่เท่ากัน ดังนั้นเราต้องทำให้คนดีก่อน แล้วทำให้เก่ง เพราะถ้าทำคนเก่งให้เป็นคนดีนี่ยากมาก แต่ทำคนดีให้เก่งเป็นเรื่องที่ทำได้

 

ปัญหาที่สาม โรงเรียนนี้มีความขัดแย้ง ไม่มีพื้นที่ให้เราแลกเปลี่ยน ให้แสดงความเห็น เราไม่เคยฝึกให้คนของเราอดทนกับสิ่งที่เราไม่ชอบ การศึกษาต้องฝึกให้คนสามารถมีความจริงใจที่จะอยู่กับความอดทนในสิ่งที่แตกต่างได้

 

 

ขอหนึ่งประเด็นสำคัญเพื่อปฏิรูปการศึกษาที่จะเลือกมาทำก่อน

 

ครูกนก: คุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นต้องมี 3 ปัจจัย

หนึ่ง วิธีการสอน สอนอย่างไรให้นักเรียนคิดเป็น สอง สาระความรู้ของครูที่สอน ครูไม่มีโอกาสได้รับการพัฒนาสาระองค์ความรู้ สาม ทำให้ครูมีใจอยากสอนหนังสือ

 

ครูจุ๊ย: ฐานข้อมูลเพื่อให้ทุกคนเป็นเจ้าของการปฏิรูป คือสิ่งที่เป็นไปได้

ปฏิรูปต้องทำในสิ่งที่เป็นไปได้ และเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง นั่นคือปฏิรูป ‘ข้อมูล’

 

ฐานข้อมูล ไม่ได้เป็นเพื่อให้คนทำนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลนักเรียนมีกี่คน ต้องการความช่วยเหลือแบบใดบ้าง เอางบประมาณไปทำอะไร ผู้ปกครองก็จะเห็นว่าการใช้งบประมาณไปดีหรือไม่ดี ได้รู้ว่าโรงเรียนจะต้องพิจารณาปรับปรุงการใช้งบประมาณ มันทำให้ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของการศึกษาได้อย่างแท้จริง

 

มันเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทาง ไม่ใช่การกำหนดโดยความรู้สึก แต่กำหนดด้วยตัวเลขที่แท้จริง ข้อมูลที่ถูกต้อง

 

 

ครูหน่อย: โรงเรียนชุมชน เพราะเราไม่จำเป็นต้องตัดเสื้อโหลบังคับให้ทุกคนใส่

ครูหน่อยบอกว่า ถ้าเลือกทำได้หนึ่งอย่าง ฝันอยากให้โรงเรียนเป็นของชุมชน รัฐต้องเล็กลง โรงเรียนต้องโตขึ้น โรงเรียนเป็นของเด็ก ของพ่อแม่ ของชุมชน

 

หลักสูตรวันนี้ต้องเลิกตัดเสื้อโหล เด็กที่อยู่ภูเก็ตต้องได้ใช้ทรัพยากรที่เป็นของภูเก็ตในการทำมาหากินในอนาคต อาจเป็นการท่องเที่ยวเป็นด้านหลัก ที่จะให้ชุมชนที่เขาอยู่ ให้พ่อแม่และตัวเขาร่วมออกแบบการศึกษาที่เหมาะสม ให้เขาทำงานได้ที่ภูเก็ต  หลักสูตรที่ภูเก็ตไม่จำเป็นต้องเหมือนที่ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวมีคุณภาพ

 

ครูเสรี: ปฏิรูปการให้ความสำคัญ 30-30-40 พัฒนากำลัง-ความรู้-จิตใจ

เพราะการพัฒนาคนต้องพัฒนาที่จิตใจ ต้องปรับปรุงการเรียนการสอน ให้กำลัง 30 ความรู้ 30 จิตใจ 40 มีสัดส่วนแบบนี้ทั้งหมด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising