×

ศิลปินเพลงกับการแสดงออกทางการเมือง

26.10.2020
  • LOADING...
ศิลปินกับการแสดงออกทางด้านการเมือง

HIGHLIGHTS

9 mins. read
  • โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีอเมริกาที่มีศิลปินแต่งเพลงให้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่าภูมิใจ แต่ทว่าไม่มีเพลงไหนมีเนื้อหากล่าวสดุดีเขาเลยสักเพลง ตัวอย่างเบาะๆ เช่นเพลง Hallelujah Money (feat. Benjamin Clementine) โดยศิลปินแห่งโลกเสมือนอย่าง Gorillaz ที่ทุกคนทราบดีว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังศิลปินแอนิเมชันกลุ่มนี้ก็คือ เดมอน อัลบาร์น แห่งวง Blur นั่นเอง
  • This Is My Truth, Tell Me Yours (1998) อัลบั้มคลาสสิกของ Manic Street Preachers ซึ่งตั้งชื่อตามวาทะของ Aneurin Bevan นักการเมืองจากพรรคแรงงานในเวลส์ อัลบั้มนี้มากับเพลงเด่นชื่อยาวเฟื้อยอย่าง If You Tolerate This Your Children Will Be Next แปลตรงๆ ว่า “ถ้าคุณยอมจำทนกับสิ่งนี้ คนต่อไปที่จะต้องทนต่อก็คือลูกหลานของคุณนั่นแหละ” ความหมายฟังดูคุ้นๆ นะ ลองนึกดีๆ ใช่แล้ว! มันมีคำไทยที่สละสลวยกว่านี้ที่มีความหมายเดียวกัน นั่นคือ ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ นั่นเอง
  • Radiohead เริ่มแสดงทิศทางการเขียนเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมและการเมืองตั้งแต่อัลบั้มชุดที่ 2 The Bends (1995) ที่มีเพลงแฝงความรู้สึกต่อต้านระบบทุนนิยมอย่าง The Bends, Fake Plastic Trees จนมาเห็นความชัดเจนสุดๆ ในอัลบั้มต่อมา OK Computer (1997) ที่เหมือนเป็นมหากาพย์ที่ทำนายไลฟ์สไตล์ในอนาคตได้ตรงเผง ทั้งที่ในยุคนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของการมีคอมพิวเตอร์ติดบ้านกับอินเทอร์เน็ต 56K

การเมืองเป็นเรื่องร้อนแรงในทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในประเทศโคตรพัฒนาในชาตินี้ หรือประเทศค่อยพัฒนาในชาติหน้า ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างสามารถสร้างความร้าวฉานลงลึกไปถึงหน่วยเล็กที่สุดอย่างสถาบันครอบครัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ สายเลือดเดียวกันของพ่อลูกยังสามารถบาดหมางกันได้ด้วยเรื่องการเมือง เพื่อนซี้ร่วมสาบานยังเลิกคบกันได้เพราะการเลือกฟากฝั่งการเมืองที่แตกต่าง การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบจากการเมืองหรอก ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้ตัวหรือไม่ว่ามันกระทบกับเราตรงติ่งไหนของร่างกาย ทั้งกายหยาบและกายละเอียด

        

การที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมาแสดงความเห็นส่วนตัวด้านการเมืองในพื้นที่สาธารณะนั้น ขึ้นอยู่กับสังคมที่บุคคลนั้นๆ อาศัยอยู่ด้วยว่าเอื้อที่จะยอมรับในความเห็นต่างหรือไม่ โดยเฉพาะบุคคลที่ยืนอยู่ในที่แจ้ง มีชื่อเสียง ซึ่งในที่นี้เราขออ้างอิงถึงศิลปินนักดนตรี ทุกคำพูดของพวกเขาล้วนมีผลย้อนหลังกลับมาที่ตนเองราวกับภาษีอากรในชาติปางก่อน ที่สรรพากรชอบพาย้อนรอยไปตรวจสอบในวันที่เอกสารทางธุรกรรมกลายร่างเป็นผงแป้งย้อนคืนสู่ธรรมชาติตามกาลเวลาไปเสียแล้ว ความคิดเห็นทางการเมืองจากวาจาของศิลปิน อาจพาทัวร์ลงถึงหน้าบ้าน หรืออาจมีผลลัพธ์ที่เลวร้ายถึงขั้นสูญสิ้นอาชีพ โดยเฉพาะในประเทศที่อ่อนไหวต่อความเห็นต่างอย่างบ้านเรา จึงมีศิลปินไม่มากนักที่กล้าเอาอาชีพและอนาคตในหน้าที่การงานมาเดิมพัน เพราะทุกชีวิตต่างต้องรักษาตนเองไว้เพื่อความอยู่รอด เป็นที่เข้าใจได้ว่านี่คือสัญชาตญาณ หากแต่เรื่องนี้ก็เป็นมาตรวัดสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงทักษะความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ของสมาชิกในสังคม การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ซึ่งมีที่มาจากระบบการศึกษานั่นแล เพราะอย่าลืมว่าศิลปินก็เป็นแค่ประชาชนคนหนึ่งที่ต้องพกบัตรประชาชนเหมือนคนทั่วไป

 

ในประเทศฝั่งตะวันตก ที่เราต้องยอมรับถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่มากกว่าฝั่งเรา มีปรากฏให้เห็นมากมายถึงการออกความเห็นทางการเมืองอันหลากหลายของเหล่าศิลปินคนดัง โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย และที่มากไปกว่านั้นก็มีหลายศิลปินที่สร้างสรรค์บทเพลงขึ้นมาเพื่อแสดงความเห็น หรือเป็นบทบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองต่างๆ มาตั้งแต่อดีตกาล เมื่อครั้งที่โลกเรายังไม่มีสื่อโซเชียลมีเดีย ศิลปินดังที่เขียนบทเพลงเกี่ยวกับการเมืองจนแทบจะเป็นอัตลักษณ์ของเขาอยู่แล้วได้แก่ บรูซ สปริงสทีน, บ็อบ ดีแลน, U2, Manic Street Preachers, Radiohead เป็นต้น

 

 

อเมริกา ดินแดนอิสระเสรีเหนืออื่นใดในการแสดงออก

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เชิดชูเรื่องความอิสระเสรีมาแต่ไหนแต่ไร จนถึงขั้นต้องสร้างวัตถุสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่อย่างเทพีเสรีภาพที่กลายเป็นแลนด์มาร์ก และไอคอนสำคัญของประเทศมาช้านาน วาทะของศิลปินชาวอเมริกันในเรื่องการเมืองจึงเต็มไปด้วยความเผ็ดร้อนโดยไม่ต้องผ่านการเซนเซอร์ใดๆ และด้วยระบบที่ผู้นำประเทศมาจากสามัญชนคนธรรมดา ในบางสมัยมีทั้งเติบโตมาจากการเป็นลูกชาวนา ไม่ได้สืบต่อตามคติของอารยธรรมโบราณที่ว่าผู้ปกครองเป็น ‘สมมติเทพ’ ที่คนธรรมดาไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ การแสดงออกทางการเมืองของอเมริกันชนจึงมีความโบ๊ะบ๊ะๆ ตรงไปตรงมา ด่าคือด่า โกรธก็พูด เกลียดก็ตะโกน F*** Word อย่างไม่กริ่งเกรงใดๆ

 

ยิ่งในยุคสมัยนี้ เราเห็นความชัดเจนมากกับเสียงตอบรับที่เกิดกับประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีคุณสมบัติอันอิหยังวะอย่างสุดโต่งอยู่หลายข้อ จนเกิดจลาจลขึ้นมาในหลายพื้นที่ ณ วินาทีที่ผลการเลือกตั้งถูกประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 และยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่องมาจนจะครบสมัย ใกล้เลือกตั้งใหม่ในเดือนหน้านี้แล้ว

 

ต่อมา ในพิธีฉลองเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการของทรัมป์ในเดือนมกราคม 2017 มีศิลปินดังมากมายที่ได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมทำการแสดงดนตรี เหมือนทุกครั้งที่งานนี้คล้ายจะเป็นคอนเสิร์ตเฉลิมฉลองย่อมๆ ตามธรรมเนียม แต่ทว่าในสมัยของทรัมป์นั้นศิลปินเกือบทั้งหมดปฏิเสธที่จะเข้าร่วมแสดง ปล่อยให้เป็นงานพิธีที่โหรงเหรงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ตัวอย่างศิลปินเบอร์ใหญ่ๆ ที่ไม่ยอมเข้าร่วมงานตามคำเชิญได้แก่ เดวิด ฟอสเตอร์, เอลตัน จอห์น, Ice T, เซลีน ดิออน, จอห์น เลเจนด์, อดัม แลมเบิร์ต, The Dixie Chicks, บรูซ สปริงสทีน, คานเย เวสต์, Moby, KISS และอีกมากมายที่ไม่เพียงแค่ปฏิเสธคำเชิญ แต่ยังมีการตอบกลับผ่านบทสัมภาษณ์และโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทางทวิตเตอร์ ด้วยถ้อยคำเจ็บแสบยิ่งกว่าการเอารักแร้ไปแถกระดาษทราย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า แม้แต่วงมาร์ชท้องถิ่นที่ตามปกติจะได้มาจากการรับสมัครแข่งขันจากโรงเรียนต่างๆ มาเล่นเพื่อเป็นเกียรติและเสริมโปรไฟล์ให้กับตนเอง แต่ในงานพิธีของทรัมป์นั้น ไม่มีโรงเรียนไหนส่งวงมาร์ชมาสมัครเข้าร่วมเลย…เจ็บ

 

โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีอเมริกาที่มีศิลปินแต่งเพลงให้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่าภูมิใจ แต่ทว่าไม่มีเพลงไหนมีเนื้อหากล่าวสดุดีเขาเลยสักเพลง ตัวอย่างเบาะๆ เช่นเพลง Hallelujah Money (feat. Benjamin Clementine) โดยศิลปินแห่งโลกเสมือนอย่าง Gorillaz ที่ทุกคนทราบดีว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังศิลปินแอนิเมชันกลุ่มนี้ก็คือ เดมอน อัลบาร์น แห่งวง Blur นั่นเอง เพลงนี้ถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลจากฝั่งอังกฤษมาปล่อยสู่สาธารณชนในคืนก่อนวันพิธีรับตำแหน่งของทรัมป์อย่างจงใจ

 

 

ศิลปินอีกรายที่ไม่พลาดที่จะแต่งไรม์เด็ดๆ มาฟาดฟันทรัมป์ก็คือ Eminem กับเพลง Campaign Speech และยังมีอีกบทเพลงจาก YG & Nipsey Hussle ที่ชื่อ ‘FDT (F**k Donald Trump)’ ที่ใช้ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาที่สุด แสดงถึงความเกลียดชังอย่างสุดโต่ง ด้วยเหตุผลที่เดาไม่ยาก นั่นคือเนื่องด้วยศิลปินกลุ่มนี้เป็นชาวผิวสี และทรัมป์เองเป็นบุคคลที่มีทัศนคติและพฤติกรรมเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติอย่างเปิดเผยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว จึงลงล็อกกันพอดีเป๊ะ

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทความเป็นประเทศเสรีอย่างอเมริกา และการเป็นประเทศอายุน้อยที่เริ่มก่อตั้งมาโดยไม่มีระบบศักดินามาตั้งแต่แรก ไม่มีเจ้าขุนมูลนายผู้ดีเก่าข้าหลวงแก่ การแสดงออกทางการเมืองโดยคนดังและศิลปินจึงถือเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่ปฏิบัติกันมาแต่ไหนแต่ไร เรียกได้ว่าจุดยืนทางการเมืองของตัวศิลปินมีผลกระทบที่ย้อนกลับมาถึงตัวน้อยนัก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ยังคงความอนุรักษนิยม และมีประวัติศาสตร์การปกครองที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง หรือถึงขั้นปฏิวัติมายาวนาน มีหมุดหมายของความหลากหลายทางอุดมคติที่บางประเด็นก็ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น ต่อให้การวิพากษ์วิจารณ์การเมืองด้วยถ้อยคำรุนแรงแค่ไหนในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีกรอบ อย่างไรก็ไม่มีทางแซ่บเท่าประเทศที่มีกรอบจารีต ที่ศิลปินต้องใช้ไหวพริบในการแสดงออก บ้างก็ใช้วิธีจิกกัด ประชดประชันลอดกรอบออกมาบ้าง หรือบ้างก็เล่นใหญ่พุ่งชนทะลุกรอบออกมาให้เห็นเลยก็มี

 

อังกฤษ: เมืองผู้ดี ศิลปินดัง วัฒนธรรมขลัง การเมืองก็สุดปังปะระปังปังปี้

(เราขอไม่ใช้และรณรงค์ไม่ให้ใช้คำว่า ปังปุริเย่ เนื่องจากมันฟังไม่ไพเราะสุนทรีย์มะงุมมะงาหรากะละมังตั้งเด่ และนำพาความหงุดหงิดขัดหูขัดตามาให้ผู้ฟังและผู้อ่าน)

 

อังกฤษเป็นประเทศที่มีมิติทางการเมืองที่น่าสนใจมาก ด้วยความที่เป็นประเทศที่มีอารยธรรมและประวัติศาสตร์อันเก่าแก่มาช้านาน ทั้งด้านการเมืองการปกครอง และด้านศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นตีคู่กันมา จุดเด่นของบริบททางการเมืองของที่นี่คือ อังกฤษเป็นประเทศต้นแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และยังคงโครงสร้างการปกครองแบบนี้ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโดยทฤษฎีแล้ว เรียกได้ว่าประเทศไทยเราได้ยกผังโครงสร้างนี้มาใช้ โดยมีอังกฤษเป็นตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุด จึงเป็นที่น่าค้นคว้าและใช้เป็นกรณีศึกษาอย่างยิ่ง

 

การเมือง เศรษฐกิจ ระบบชนชั้นและความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง และเป็นประเด็นที่มักถูกศิลปินอังกฤษหยิบยกขึ้นมาใส่ทำนองให้กลายเป็นบทเพลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่เอื้อกับระบบทุนนิยมอันเป็นประเด็นคลาสสิกตลอดกาล ซึ่งประเด็นทางสังคมเหล่านี้ก็มีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเรามาก เพียงแต่บ้านเรากลับโฟกัสกับระบบรักนิยม, อกหักนิยม, คำโดนๆ นิยม และยอดไลก์นิยมมากกว่า ดนตรีของเราจึงไปสะท้อนมุมนั้นเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรถ้าเรายอมรับและอาศัยอยู่กับมันอย่างผาสุกโดยไม่ตั้งคำถามอะไรในจิตใจ

 

 

พังก์ – ดนตรีที่ช่วยตีแผ่ว่าแท้จริงแล้วโลกไม่ได้สวยงาม

แนวดนตรีที่มีต้นกำเนิดจากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ตกต่ำสุดๆ ในอังกฤษ เริ่มต้นในช่วงกลางของยุค 70 อัตราการว่างงานพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เหล่าวัยรุ่นในยุคนั้นทั้งว่างทั้งโกรธแค้น ก่อให้เกิดการแสดงออกที่รุนแรงผ่านวัฒนธรรมที่เรียกว่าพังก์ ซึ่งมีดนตรีเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมนี้ ศิลปินที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญของพังก์ ได้แก่ Sex Pistols, Buzzcocks และ The Clash

 

บทเพลงพังก์แสดงให้เห็นถึงความขบถในมุมมอง และช่วยตีแผ่สังคม สะบัดพรมหรูให้ฝุ่นผงที่ถูกซุกไว้ข้างใต้ได้กระจายออกมาให้เห็นกันจะๆ ในสมัยนั้นถือว่าเป็นสิ่งใหม่มากสำหรับเมืองผู้ดีที่สวมหมวกก่อนออกจากบ้าน และจิบชายามบ่ายเป็นกิจวัตร เพลง ‘Anarchy in the U.K.’ ซิงเกิลเปิดตัวของวง Sex Pistols ในปี 1976 ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญว่าดนตรีพังก์ต้องเกี่ยวเนื่องกับการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างดุเดือด

 

 

และต่อมาซิงเกิลที่ 2 ของวงที่เล่นเอาผู้เฒ่าผู้แก่ต้องควักเอายาดมขึ้นมาสูด กับชื่อเพลงสุดหมิ่นเหม่เล่นของสูงอย่าง ‘God Save the Queen’ ที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงการเฉลิมฉลอง Silver Jubilee พอดี (การครองราชย์ครบรอบ 25 ปีของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2) ด้วยเนื้อหาปลายเปิดที่สุดแล้วแต่ใครจะตีความ แต่กระนั้นก็ตาม ทางวงได้อ้างว่าการปล่อยเพลงในเวลาที่ประจวบเหมาะกันนั้น เป็นเพียงแค่เรื่องบังเอิญ และ จอห์น ไลดอน นักร้องนำของวงได้กล่าวว่า “เราคงไม่เขียนเพลงนี้ขึ้นมาด้วยความเกลียดชังเผ่าพงศ์ราชวงศ์อังกฤษหรอก แต่เป็นเพราะพวกเรารักพวกพระองค์ และเบื่อหน่ายเต็มทีที่ต้องทนเห็นพระองค์ได้รับการปฏิบัติแบบแย่ๆ เพลงนี้จึงถูกเขียนด้วยความรู้สึกห่วงใยอย่างสุดซึ้ง และสิ่งที่ทางวงพยายามนำเสนอนั้นได้รับแรงขับเคลื่อนอันบริสุทธิ์ผุดผ่องที่จะแสดงออกถึงความจงรักภักดีด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า” เจอคำอธิบายเวอร์วังเบอร์นี้เข้าไป เราถึงกับไปไม่ถูกว่าตกลงนี่พูดจริงหรือประชดกันแน่วะเนี่ย

 

 

ความแสบสันอันต่อเนื่องของเพลง God Save the Queen คือในปี 2012 หรือ 35 ปีให้หลังจากการปล่อยเพลง ทางวงไ้ด้ทำการ Re-release เพลงนี้ออกมาอีกครั้ง ในวาระโอกาส Diamond Jubilee (การเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบรอบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2)

 

 

Manic Street Preachers กับดนตรี Post-Punk หัวซ้ายจัด

วงร็อกจากแคว้นเวลส์แห่งสหราชอาณาจักร ที่เริ่มมีบทบาทกับวงการเพลงอังกฤษตั้งแต่ต้นยุค 90 และยังคงมีผลงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กับบทเพลงที่เต็มไปด้วยความเห็นทางการเมือง ซึ่งเรียกว่าเพลงส่วนใหญ่ของ Manic Street Preachers นั้นแทบจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง สังคม และวัฒนธรรมทั้งนั้น ด้วยจุดเด่นที่รวมเอาดนตรีที่หนักแน่นมาบวกกับภาษาลึกๆ ยากๆ แนวบทกวี จากปลายปากกาของ นิกกี้ ไวร์ และริชชี เจมส์ มือเบสและมือริทึ่มกีตาร์ของวงตามลำดับ ทั้งคู่จบปริญญาทางด้านการเมืองและกฎหมาย จึงไม่แปลกที่เราจะต้องพบเจอกับสำนวนที่ต้องตีความกันหนักหน่อย ตั้งแต่ซิงเกิลสุดฮิตประจำใจเด็กอัลเทอร์บ้านเราอย่างเพลง Motorcycle Emptiness ที่กล่าวถึงความสิ้นหวังในระบบทุนนิยมสามานย์ที่อุปทานมีมากกว่าอุปสงค์ จนต้องมีการโฆษณาชวนเชื่อหลอกให้ผู้บริโภคซื้อของกินของใช้ที่เกินความจำเป็น ถึงเพลงจะออกมาตั้งแต่ปี 1992 แต่มันช่างประจวบกับวาทะติดหูในปัจจุบันที่ว่า “ของมันต้องมี” จริงๆ…(ขอพักแป๊บนะ ขอไปดูฟีเจอร์ไอโฟน 12 ก่อน เดี๋ยวมาเขียนต่อ)

 

 

มาจนถึงอัลบั้มคลาสสิก This Is My Truth, Tell Me Yours (1998) ซึ่งตั้งชื่อตามวาทะของ Aneurin Bevan นักการเมืองจากพรรคแรงงานในเวลส์ อัลบั้มนี้มากับเพลงเด่นชื่อยาวเฟื้อยอย่าง If You Tolerate This Your Children Will Be Next แปลตรงๆ ว่า “ถ้าคุณยอมจำทนกับสิ่งนี้ คนต่อไปที่จะต้องทนต่อก็คือลูกหลานของคุณนั่นแหละ” ความหมายฟังดูคุ้นๆ นะ ลองนึกดีๆ ใช่แล้ว! มันมีคำไทยที่สละสลวยกว่านี้ที่มีความหมายเดียวกัน นั่นคือ ‘ให้มันจบที่รุ่นเรา’ นั่นเอง ต้องขอปรบมือให้คนที่คิดประโยคสั้นๆ แต่ได้ใจความอันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของเพลงนี้ได้กล่าวถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองสเปนในอดีต ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ ที่อยู่ฝั่งขวาจัดอันอบอวลไปด้วยกลิ่นเผด็จการ ตรงกันข้ามกับทัศนคติซ้ายจัดของวง เป็นกระบอกเสียงบันทึกความในใจของศิลปินชาวเวลส์แท้ๆ ที่ครั้งหนึ่งเวลส์เคยได้ส่งคนเข้าร่วมสงครามต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ด้วย

 

Manic Street Preachers เป็นวงที่ใช้คำว่า Despair หรือสิ้นหวังอยู่ตลอดเวลามาตั้งแต่วัยหนุ่มที่สิ้นหวังแบบเกรี้ยวกราด ผ่านมา 30 ปีทุกวันนี้ก็ยังเป็นคุณลุงที่นั่งบ่นอย่างสิ้นหวังผ่านผลงานทั้งหมด 13 อัลบั้ม ช่างเป็นศิลปินที่อดทนกับความสิ้นหวังได้ยาวนานจริงๆ หวังว่าลุงๆ จะได้พบเจอความสุขได้ในเร็ววัน

 

 

 

Radiohead กับมุมมองทางการเมืองที่ส่องมาจากนอกโลก

วงดนตรีจากออกซ์ฟอร์ดสุดล้ำเกินคนฟังวงนี้ นอกจากจะทำดนตรีแนวทดลองแบบไม่แคร์โลกแล้ว ยังมีมุมมองทางการเมืองระดับมหภาคที่แหลมคมผ่านเนื้อเพลงที่เขียนโดย ธอม ยอร์ก นักร้องนำ และบางเพลงก็เหมือนคำทำนายที่สุดท้ายก็กลายเป็นจริงเสียด้วย ราวกับนอสตราดามุสแห่งวงการ Britpop เพลงส่วนใหญ่ของวงจึงเหมือนบทวิเคราะห์จากความเป็นนักสังเกตการณ์จากมุมสูงของธอม

 

Radiohead เริ่มแสดงทิศทางการเขียนเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคมและการเมืองตั้งแต่อัลบั้มชุดที่ 2 The Bends (1995) ที่มีเพลงแฝงความรู้สึกต่อต้านระบบทุนนิยมอย่าง The Bends, Fake Plastic Trees จนมาเห็นความชัดเจนสุดๆ ในอัลบั้มต่อมา OK Computer (1997) ที่เหมือนเป็นมหากาพย์ที่ทำนายไลฟ์สไตล์ในอนาคตได้ตรงเผง ทั้งที่ในยุคนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของการมีคอมพิวเตอร์ติดบ้านกับอินเทอร์เน็ต 56K และอัลบั้มที่ 4 อย่าง Kid A (2000) ก็มีธีมเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ทั้งที่สมัยนั้นยังไม่มีการกล่าวถึงหรือให้ความสนใจในวงกว้างนัก

 

 

หลังจากความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ OK Computer ทำให้ Radiohead กลายเป็นวงที่มีอิทธิพลอันดับต้นๆ ของโลก และจากนั้นเป็นต้นมา พวกเขาก็เลือกที่จะบดขยี้ประเด็นทางการเมืองระดับโลกอย่างไม่ปรานีปราศรัยผ่านบทเพลงมาโดยตลอด และเลือกที่จะเป็นวงไร้สังกัด ไม่มีค่ายเพลงและไม่รับสปอนเซอร์ในทุกกิจกรรม เพื่อแสดงจุดยืนที่ต่อต้านระบบนายทุน โดยมีอัลบั้มสำคัญที่ถูกตีความว่ามีเนื้อหาโจมตีประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้น อย่าง Hail to the Thief (2003) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่อเมริกาสั่งบุกโจมตีอิรัก แค่ชื่ออัลบั้มก็ส่อเสียดอย่างเต็มๆ แล้ว เป็นการเล่นคำที่สลับเอาคำว่า Chief (ผู้นำ) มาเป็น Thief (โจร) จากประโยคที่เคยใช้อย่างคุ้นเคยที่ว่า ‘ขอให้ท่านผู้นำจงเจริญ’ กลับกลายเป็น ‘ขอให้จอมโจรจงเจริญ’ ไปเสียได้ ภาพปกของอัลบั้มได้แรงบันดาลใจมาจากผังเมืองลอสแอนเจลิส แต่ก็มีการตีความกันว่า ความหมายที่ซ่อนอยู่ในปกอัลบั้มนั้นคือการพาดพิงถึง ‘แผนการสู่สันติภาพ’ ของประธานาธิบดีบุชที่เคยทำไว้สำหรับแทรกแซงปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ และอาร์ตเวิร์กอื่นๆ ที่อยู่ภายในปกด้านในก็มีการอ้างอิงถึงเมืองต่างๆ ที่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน และแบกแดด และมีเพลงแสบๆ อย่าง 2+2=5 ซึ่งหมายความว่า ท่านผู้นำพูดอะไร ทุกคนก็ต้องเช่ือตามนั้น หรือใครจะเถียงว่า 2+2 ไม่เท่ากับ 5 

 

 

มาจนถึงอัลบั้มล่าสุด A Moon Shaped Pool (2016) ที่ยังคงข้นเหนียวไปด้วยเนื้อหาสะท้อนสังคมและการเมือง ตั้งแต่ไตเติลแทร็กอย่าง ‘Burn the Witch’ ที่มีการตีความกันว่ามีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ ณ เวลานั้นเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา แข่งขันกับ ฮิลลารี คลินตัน และบ้างก็ตีความว่าทางวงต้องการสะท้อนปัญหาผู้ลี้ภัยในยุโรป และโลกแห่งความหวาดระแวงกับผู้ที่มีความเชื่อที่แตกต่าง โดยเฉพาะกับชาวมุสลิม ซึ่งเป็นที่จับตามองของชาวโลกตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 911 ที่สะเทือนขวัญคนทั้งโลก

 

 

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างกลุ่มคนที่มีความเห็นและความเชื่อที่แตกต่างกัน เป็นโจทย์ยากที่มีตัวอย่างให้เห็นมาในแทบทุกหน้าของประวัติศาสตร์ บทเพลงแห่งความเจ็บปวดจากการกระทบกระทั่งกันจึงมีมาให้ฟังในทุกยุคสมัย เด็กหัวดื้อกับผู้ใหญ่หัวรั้นเป็นบริบทใหม่ล่าสุดที่เกิดขึ้นจากผลพวงของโลกที่ถูกเหยียบคันเร่งให้หมุนไวกว่าปกติด้วยแรงของเทคโนโลยี ใครจะทะเลาะอะไรกันอย่างไรก็ไม่ควรหลุดประเด็นเป้าหมายของการทะเลาะ นั่นก็คือนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีต่ออนาคต เพราะไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของโลกใบนี้ได้ยาวนาน ถึงกาลก็ต้องไป สิ่งที่เราเลือกได้คือ เมื่อเวลานั้นมาถึง เราจะลงไปอย่างสง่างาม เป็นความทรงจำที่ดีให้กับคนรุ่นหลัง หรือจะไปอย่างไร้เกียรติ เป็นที่ประณามบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างอัปยศอดสู

 

และที่สำคัญที่สุดคือ บุญแค่ไหนที่เราได้เกิดเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งเดียวในโลกที่มีความคิดอ่าน ต่างกับเดรัจฉานทั่วไป พวกเราเรียกตัวเองว่า ‘มนุษย์’ เราทุกคนได้รับสิทธิ์นั้นมาตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก เพราะฉะนั้นอย่าลืมสำนึกถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ในทุกกิจกรรมที่เราทำ หากมีใครเผลอไผลหลงลืมความเป็นมนุษย์ไป ถึงแม้จะเป็นระดับผู้สั่งการ เราก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ความเป็นมนุษย์ในตัวเราเลือกตัดสินใจในการกระทำของตนเองได้ เพราะเราคือ ‘มนุษย์’ เราต้องอาศัยอยู่ในสังคมแบบ ‘มนุษย์’ ขอให้มนุษย์ทุกคนจงปลอดภัย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising