×

การลงทุนในงานศิลป์: วิถีสุดคลาสสิกในการต่อยอดความมั่งคั่งจาก Passion

25.08.2023
  • LOADING...
การลงทุนในงานศิลป์

ในโลกการลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ‘ก้าวแรก’ ซึ่งเป็นก้าวที่ผู้ลงทุนเองต้องมีความพร้อมด้านการเงิน ความรู้ และ Passion ในการเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตัวเอง 

 

สำหรับความพร้อมด้านการเงินซึ่งเป็นความพร้อมสำคัญที่ทุกท่านต้องมีนั้น ผู้ครอบครองความมั่งคั่งน่าจะรู้จักและเข้าใจวิถีในการสร้างและบริหารจัดการให้ ‘เงิน’ เพิ่มพูนเป็นอย่างดี ดังนั้นเราจึงขอนำเสนอแนวคิด ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ มาส่งมอบแก่ผู้อ่าน เพื่อช่วยให้สามารถค้นหา Passion ด้านการลงทุนได้ง่ายขึ้นและตรงกับความชื่นชอบของตัวเองที่สุด 

 

เมื่อเอ่ยถึงการลงทุนหรือ Investment นั้น แน่นอนว่าไม่ได้จำกัดอยู่ในกรอบของการลงทุนในสินทรัพย์ หลักทรัพย์ และตลาดเงินเท่านั้น แต่การลงทุนยังขยายขอบเขตมาถึงไลฟ์สไตล์ ความชื่นชอบ และความสนใจอีกด้วย หรือที่เรียกว่า Passion Investment ซึ่งยิ่งมีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ที่หลากหลายและลงลึกมากเท่าไร ผลกำไรก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าขึ้นเท่านั้น 

 

ผลกำไรของ Passion Investment อยู่ที่การสร้างความสุขและความพอใจในชีวิต เมื่อคนลงทุนในทรัพย์สินหรือกิจกรรมที่เป็นที่ชื่นชอบ ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับความสุขและความพอใจที่มากกว่าความผันผวนในตลาดหรือกำไรที่คาดหวัง แต่ย่อมต้องวิเคราะห์และวางแผนให้ดีเสมอ เพื่อให้ Passion Investment เป็นสิ่งที่เสริมสร้างความมั่งคั่งและความสุขในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพในทางที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่กับเรา 

 

สินทรัพย์หนึ่งที่คนที่สนใจด้าน Passion Investment มักนึกถึงก็คือ ‘ผลงานศิลปะ’ เนื่องจากงานศิลปะนั้นนอกจากสะสมไว้เพื่อชื่นชมส่วนตัวแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป หากผู้ที่สะสมอยากจะใช้เปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่นก็ยังสามารถทำได้ เพราะงานศิลปะนั้นมีคุณค่าและมูลค่าในตัวของมันเอง ซึ่งนับวันคุณค่าและมูลค่ามีแต่จะเพิ่มขึ้นไปตามกาลเวลา 

 

ส่วนการจะเป็นนักสะสมงานศิลปะที่ดีนั้นต้องเริ่มจากปัจจัยหลายอย่างมาผสมผสานกัน ทั้งในเรื่องของคุณสมบัติที่ต้องมีในตัวตนของนักสะสม ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น เราจะแจกแจงให้รู้ไปพร้อมๆ กันกับนิยามของคำว่า ‘Passion’

 

แน่นอนคำนี้ใครๆ ก็ต้องรู้จักและคุ้นเคยกันดี มีความหมายในแนวของความหลงใหล นักสะสมงานศิลปะที่ดีควรมี ‘Passion’ ไว้เป็นแรงขับเคลื่อน 

 

ซึ่งเมื่อแยกคำว่า ‘Passion’ ออกมาเป็นตัวอักษรแต่ละตัว ก็จะได้ 7 คุณสมบัติของก้าวแรกสู่โลกของนักสะสมงานศิลปะ 7 ข้อ อะไรบ้าง? เรามาเริ่มกันที่อักษรตัวแรกคือ 

 

การลงทุนในงานศิลป์

 

P – Point นักสะสมไม่ว่าจะสะสมอะไรก็แล้วแต่ ยิ่งเป็นการสะสมงานศิลปะด้วยแล้ว สิ่งแรกที่ต้องมีคือเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมาย ซึ่งต้องรู้ภายในจิตใจตนเองว่าต้องการสะสมงานศิลปะไปเพื่ออะไร เพราะอะไรถึงต้องสะสม จะสะสมงานศิลปะในรูปแบบและเทคนิคใด เช่น สะสมเพราะความรักในงานศิลปะ อยากได้ไว้ชื่นชมส่วนตัว เพื่อความเบิกบานทางด้านจิตใจ หรือต้องการสะสมเพื่อเอาไว้เก็งกำไรในอนาคต หรือสะสมเพื่อต้องการไว้ประดับตกแต่งให้ดูดีมีระดับมีรสนิยม สะสมงานศิลปะในรูปแบบใด จิตรกรรม? ประติมากรรม? ภาพพิมพ์? ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น เมื่อเรามีจุดม่งุหมายในการสะสมงานศิลปะแล้ว เราจึงเข้าสู่อักษรตัวที่ 2 คือ

 

การลงทุนในงานศิลป์

 

A – Aesthetics สุนทรียศาสตร์หรือสุนทรียภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากนักสะสมที่ดีต้องมีประสาทสัมผัสในการรับรู้รส กลิ่น เสียงที่ดี และการจะมีประสาทสัมผัสที่ดีนั้นต้องมีสุนทรียภาพอยู่ในจิตใจ มองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยความรื่นรมย์ รับรู้ความเคลื่อนไหวของโลกด้วยสติที่มั่นคง ไม่ว่อกแว่ก และเข้าใจมนุษย์ เข้าใจสังคม เข้าใจชีวิต พร้อมที่จะเผชิญทุกสิ่งที่โถมเข้ามาไม่ว่าดีหรือร้าย ซึ่งข้อนี้อาจยากไปสักหน่อย แต่ถ้าหมั่นฝึกฝนก็สามารถที่จะพัฒนาได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยอักษรตัวที่ 3 คือ 

 

การลงทุนในงานศิลป์

 

S – Study การเป็นนักสะสมงานศิลปะที่ดีต้องหมั่นเรียนรู้ด้วยการดูงานศิลปะบ่อยๆ ฟังดนตรีที่มีความละเมียดละไม ไม่อึกทึกครึกโครม รวมถึงการพูดคุยสนทนากับกูรูผู้ที่มีความรู้ในงานศิลปะให้มาก หาความรู้ทั้งเก่าและใหม่ควบคู่กันไป จะได้รู้ถึงยุคต่างๆ ของงานศิลปะ ได้รู้ที่มาที่ไปของศิลปินในลัทธิต่างๆ ซึ่งการศึกษาหาข้อมูลในยุคปัจจุบันก็ไม่ยาก เพราะมี Google คอยเฉลยให้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องสอบเทียบข้อมูลที่ตรงกันจากหลายๆ แหล่งอ้างอิงด้วย จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการ Study ที่ดี หากทำข้อนี้ได้ก็จะเป็นการขัดเกลาไปเรื่อยๆ ให้เข้าสู่ระดับของความมีสุนทรียภาพ ทำให้เราสามารถเห็นในสิ่งซึ่งคนอื่นๆ อาจทำได้เพียงแค่มอง

 

แค่ 3 ตัวอักษร บางคนอาจท้อตั้งแต่ตัวที่ 2 แล้วก็ได้ แต่ขอบอกว่าอย่าเพิ่งท้อ เพราะหากเรามีคุณสมบัติครบทั้ง 7 ข้อแล้ว เราจะมีดวงตาที่ส่องประกายเหมือนในนิยายบู๊ลิ้มที่มักเขียนบรรยายบุคลิกลักษณะของจอมยุทธว่า “ประกายตาเจิดจ้าดุจสายฟ้า” นั่นไปเลย 

 

กลับเข้ามาที่อักษรตัวที่ 4 ของการเป็นนักสะสมงานศิลปะต่อ นั่นก็คือ 

 

การลงทุนในงานศิลป์

 

S – Start การทำอะไรก็ตามต้องมีก้าวแรกเสมอ ดังนั้นการจะประสบผลสำเร็จในการเป็นนักสะสม เราจึงต้องเริ่มเดินและเดินไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น ไม่ว่อกแว่ก ไม่หวั่นคำสบประมาท ซึ่งการเดินนี้เราจะต้องมั่นใจว่าเรามีคุณสมบัติ 3 ข้อเบื้องต้นเป็นอาภรณ์คุ้มกายอยู่เสมอ… มาถึงอักษรตัวที่ 5

 

I – Insider นักสะสมงานศิลปะที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน เช่น คุณบุญชัย เบญจรงคกุล, ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ, คุณเยาวณี นิรันดร ซึ่งเป็นนักสะสมในระดับสากลที่เรารู้จักกันดี แต่ละท่านนั้นมีความเป็น Insider หรือคนวงใน ซึ่งมีความรู้จักมักคุ้นกับศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน คุ้นเคยกับเหล่านักสะสมด้วยกัน รวมไปถึงบรรดาภัณฑารักษ์ ผู้ดูแลงานศิลปะตามแกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นหากต้องการเป็นนักสะสมงานศิลปะที่มีระดับ ก็ต้องหมั่นเข้าสังคมของโลกศิลปะให้บ่อยเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อที่จะได้รับข่าวสารข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการสะสมงานศิลปะของตนเองในแบบของ ‘คนวงใน’

 

มาถึงลำดับที่ 6 ของคำว่า ‘Passion’ ก็คือตัว

 

การลงทุนในงานศิลป์

 

O – On the way เมื่อเริ่มเดินแล้วต้องไปให้สุด ต้องมีความมั่นใจเสมอว่างานศิลปะนั้นไม่มีตัน ไม่มีลด มีแต่เพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่า ซึ่งเราเองก็ต้องดูกระแสดูเทรนด์ในโลกศิลปะประกอบตลอดหนทางแห่งการก้าวเดิน แม้บางครั้งจะเจอคลื่นลมบ้าง ท้อได้ แต่อย่าถอย ท่องในใจหรือตะโกนออกไปเลยว่า “เราเริ่มเดินแล้ว เราต้องเดินให้สุดทาง” 

 

มาถึงตัวอักษรตัวสุดท้ายของการเป็นนักสะสมงานศิลปะ นั่นก็คือ 

 

การลงทุนในงานศิลป์

 

N – Nature ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนคืนสู่ธรรมชาติ และการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติได้นั้นต้องไม่เร่งเร้า ไม่เร่าร้อน ในการเป็นนักสะสมงานศิลปะที่ดีนั้นต้องรู้จักธรรมชาติของงานศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งที่พิเศษ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมูลค่ามากยิ่งกว่าสินทรัพย์ใดๆ ในโลกนี้ 

 

ยกตัวอย่างงานศิลปะสักชิ้น เช่น ภาพวาด ‘ดอกทานตะวัน’ ของวินเซนต์ แวน โก๊ะ ซึ่งเป็นภาพลำดับที่ 6 จากซีรีส์ทั้ง 7 (ปัจจุบันอยู่ที่ The Van Gogh Museum กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์) ซึ่งมีขนาดเพียง 95×73 เซนติเมตร ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 3.4 พันล้านบาท หากเทียบกับที่ดินย่านถนนวิทยุ ซึ่งราคาประเมินปี 2566-2569 ประเมินไว้ที่ตารางวาละ 1 ล้านบาทนั้น ต้องมีเนื้อที่ถึง 3,400 ตารางวา หรือ 8.5 ไร่เลยทีเดียว 

 

ดังนั้นแล้ว คุณสมบัติข้อสุดท้ายของการเป็นนักสะสมงานศิลปะที่ดีนั้นก็คือ ต้องรู้จักและเข้าใจธรรมชาติของศิลปินผู้สร้างสรรค์และงานศิลป์ของแต่ละศิลปิน ซึ่งมีการพัฒนาคลี่คลายอยู่ตลอดเวลา บางศิลปินอาจอยู่ในช่วงพีคสุด บางศิลปินอาจอยู่ในช่วงค้นหา บางศิลปินอาจอยู่ในช่วงอิ่มตัว จึงต้องหมั่นตรวจสอบคุณสมบัติทั้ง 7 ข้อนี้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้ดำรงตนอยู่ได้ในหนทางแห่งนักสะสม และในบางขณะก็ต้องปล่อยให้ธรรมชาติเป็นตัวขับเคลื่อนในการเพิ่มคุณค่าและสร้างมูลค่าของงานศิลปะนั้นๆ 

 

โดยรวมแล้วหากผู้ที่สนใจจะเข้ามาสู่โลกของศิลปะ ไม่ว่าต้องการเป็นนักสะสมก็ดี เป็นนักลงทุนงานศิลปะก็ดี หรือแม้จะเป็นเพียงผู้มีใจรักในงานศิลปะก็ดี อย่างไรเสียก็ต้องมี ‘Passion’ เป็นที่เหนี่ยวนำไว้ก่อน แต่จะเหนี่ยวนำและโน้มน้าวไปจนถึงขั้นใด สถานะใด ก็คงต้องเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล 

 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้คลุกคลีอยู่ในวงการสุนทรียศาสตร์และศิลปะมาพอสมควร ก็อยากจะให้ความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า วงการศิลปะนั้นนอกจากมีความงดงามของงานศิลปะเป็นเครื่องประโลมใจแล้ว คุณค่าและมูลค่าของงานศิลปะยังเป็นสิ่งที่เย้ายวนใจยิ่งในการเข้าสู่โลกศิลปะของผู้คนนับแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน 

 

The content series powered by 

UOB Privilege Banking 

 

การลงทุนในงานศิลป์

 

ให้ความสำคัญกับการบริหารความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของลูกค้าของเราเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงความมั่งคั่งในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ งานอดิเรก หรือกิจกรรมค้นหาแรงบันดาลใจ ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นที่เรา “ใส่ใจทุกเรื่องที่สำคัญสำหรับคุณ Advice for what matters to you.” 

www.uob.co.th/privilegebanking

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X