×

เดินหน้าอนุรักษ์ ‘อาคารศิลปะแห่งมุมไบ’ เตรียมบันทึก-ปักหมุดลงแผนที่

27.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • มุมไบ ถูกเรียกขานในฐานะไมอามีแห่งอินเดีย ด้วยตึกรามบ้านช่องและสถาปัตยกรรมที่เรียงรายข้างชายหาด จนนำมาสู่ความต้องการให้อนุรักษ์อาคารเหล่านี้เอาไว้เพื่อเป็นมรดกต่อไป
  • อาคารเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 1930 และในปี 1950 ชาวอินเดียที่มีฐานะได้ส่งสถาปนิกของพวกเขาเดินทางสู่ยุโรปเพื่อหาดีไซน์สมัยใหม่ที่ต่างไปจากเจ้าอาณานิคมในยุคนั้น
  • กุมารและทีมงานพยายามอย่างหนักที่จะบันทึกข้อมูลของอาคารเหล่านี้ให้ครบทั้งเมือง พร้อมปักหมุดลงบนกูเกิลแมปส์ด้วย และระบุว่าปัจจุบันพวกเขาได้ดำเนินการไปแล้ว 136 แห่งในระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจมีอาคารเหล่านี้ถึง 300 แห่ง

 

มุมไบ ถูกเรียกขานในฐานะไมอามีแห่งอินเดีย ด้วยตึกรามบ้านช่องและสถาปัตยกรรมที่เรียงรายข้างชายหาด จนนำมาสู่ความต้องการให้อนุรักษ์อาคารเหล่านี้เอาไว้เพื่อเป็นมรดกต่อไป


โครงการศิลปะตกแต่งมุมไบ (Art Deco Mumbai) มีขึ้นเพื่อบันทึกข้อมูลและให้ความรู้แก่ผู้อาศัยถึงจุดกำเนิดของตึกต่างๆ และเพื่อช่วยรักษาสถาปัตยกรรมเหล่านี้เอาไว้

 


ท่ามกลางต้นปาล์มที่ปลูกข้างถนนยาวเหยียด 3 กิโลเมตร อาคารสมมาตรสีเหลืองอย่าง Soona Mahal ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในมุมหนึ่งของถนน โดย Mehernosh Sidhwa ผู้เช่าวัย 70 ปี เปิดเผยความรู้สึกถึงตึกนี้ว่า “มันเป็นตึกที่มีเอกลักษณ์ มีรูปร่างคล้ายเรือที่กำลังพุ่งทะลุคลื่น”

 


อีกมุมหนึ่งของถนน ตึกสูง 5 ชั้นอีกหลายแห่งตั้งตระหง่าน ภายในประดับด้วยพื้นหินอ่อนและบันไดวนเรียงรายอยู่ข้างเคียงสนามคริกเก็ตชื่อดังอย่าง Oval Maidan และสถานที่ยอดนิยมอย่างโรงภาพยนตร์ Eros และ Regal ด้วย


อาคารเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1930 และในปี 1950 ชาวอินเดียที่มีฐานะได้ส่งสถาปนิกของพวกเขาเดินทางสู่ยุโรปเพื่อหาดีไซน์สมัยใหม่ที่ต่างไปจากเจ้าอาณานิคมในยุคนั้น


อาตูล กุมาร (Atul Kumar) นักอนุรักษ์และผู้ก่อตั้งโครงการเปิดเผยว่า “มุมไบถือเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยตึกแบบศิลปะตกแต่งมากที่สุดในโลก ที่นี่เต็มไปด้วยมรดกอันน่าเหลือเชื่อ”


โครงการนี้ได้พยายามยื่นหนังสือต่อองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มาตั้งแต่ปี 2012 เพื่อให้ได้รับการยอมรับเป็นมรดกโลก

 


กุมารกล่าวว่า การออกแบบอาคารแนวนี้หนีไม่พ้นเงาของสถาปัตยกรรมโกธิกสมัยวิกตอเรียของอังกฤษ แต่ศิลปะตกแต่งก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากัน ด้วยสีสันสดใส สไตล์ที่ซับซ้อน แสดงถึงแรงบันดาลใจใหม่ๆ อินเดียเคยตกเป็นอาณานิคม และนี่ถือเป็นการแสดงจุดยืนที่แตกต่างออกไปผ่านสถาปัตยกรรม


กุมารและทีมงานพยายามอย่างหนักที่จะบันทึกข้อมูลของอาคารเหล่านี้ให้ครบทั้งเมือง พร้อมปักหมุดลงบนกูเกิลแมปส์ด้วย และระบุว่าปัจจุบันพวกเขาได้ดำเนินการไปแล้ว 136 แห่งในระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจมีอาคารเหล่านี้ถึง 300 แห่ง


“เป้าหมายสูงสุดของเราคือการอนุรักษ์อาคารเหล่านี้ไว้ เวลาที่เราพูดให้ผู้คนฟัง พวกเขาก็เริ่มมีความภูมิใจมากขึ้น และหันมาสนับสนุนการอนุรักษ์เอาไว้” หัวหน้าโครงการย้ำ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising