×

อาร์เซน เวนเกอร์ กับความทรงจำ 22 ปีของมิสเตอร์อาร์เซนอล

20.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • อาร์เซน เวนเกอร์ เป็นดั่งความทรงจำสุดท้ายของโลกฟุตบอลในยุคก่อนที่หลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบัน เขาเป็นผู้จัดการทีมที่ทำงานในพรีเมียร์ลีกยาวนานที่สุด
  • เวนเกอร์ปฏิวัติอาร์เซนอลจาก Boring Arsenal สาดบอลน่าเบื่อ กลายเป็นทีมที่เล่นฟุตบอลภาคพื้นได้อย่างสวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุด
  • ​แฟนอาร์เซนอลรู้ว่าเวนเกอร์ทำอะไรเพื่อสโมสรบ้าง แต่ความหัวดื้อไม่ยอมปรับตัวตามกระแสโลกลูกหนังมันทำร้ายความรู้สึกกันมากและยาวนานเกินไป
  • แม้ผลงานช่วง 10 ปีหลังจะย่ำแย่ แต่ อาร์เซน เวนเกอร์ ยังคงเป็นตำนานที่​น่าจดจำตลอดไป

 

 

​ไม่ใช่ทุกครั้งที่หัวใจผมจะหล่นลงพื้นแบบนี้ แต่ทันทีที่ ‘เคน นครินทร์’ บรรณาธิการบริหาร THE STANDARD แจ้งข่าวว่า อาร์เซน เวนเกอร์ แถลงยืนยันว่าจะอำลาทีม ‘ปืนใหญ่’​ อาร์เซนอล หลังจบฤดูกาลนี้ หัวใจผมหล่นลงไปกองอยู่ที่พื้นแบบไร้การขัดขืนต่อแรงโน้มถ่วงของความรู้สึก

 

แม้ว่าจะไม่ใช่สาวก ‘The Gunners’ แต่สำหรับผม และแฟนฟุตบอลอีกจำนวนไม่น้อย ผู้จัดการทีมฟุตบอลชาวฝรั่งเศสคนนี้เป็นคนที่เราเห็นมานาน ผูกพันกันทางความทรงจำจนรู้สึกเหมือนเป็น ‘ญาติผู้ใหญ่’ คนหนึ่ง

 

 

ในวันแรกที่เขามาพร้อมกับเครื่องหมายคำถามตัวเท่าบ้าน ผมยังเป็นเด็กมัธยมต้นที่ไล่เตะลูกฟุตบอลพลาสติกอยู่หน้าหอประชุมในโรงเรียนแถวสนามม้านางเลิ้ง โลกฟุตบอลในวันนั้นเป็นโลกฟุตบอลที่แตกต่างจากในวันนี้ราวกับคนละโลก

 

มันเป็นโลกของเกมฟุตบอลที่กำลังเริ่มเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ สโมสรฟุตบอลยังเป็นของคนท้องถิ่น นักฟุตบอลใส่เสื้อตัวโคร่งลงสนาม รองเท้าสตั๊ดมีแต่สีดำ ไม่มีการทำการตลาดที่ล้ำสมัย เด็กๆ แทบทุกคนต้องได้อ่านหนังสือพิมพ์ Star Soccer ฉบับละ 5 บาท และการถ่ายทอดสดไม่ใช่ของที่หาชมได้ง่ายเหมือนทุกวันนี้

 

22 ปีคือระยะเวลาที่เวนเกอร์เปิดประตูทักทายและก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความทรงจำของผู้คนมากมาย

 

เราเดินทางผ่านวันเวลามาสู่ยุคที่สโมสรฟุตบอลเป็นของนายทุนต่างชาติ เสื้อฟุตบอลคือแฟชั่น รองเท้าสตั๊ดหลากสี ทุกสโมสรมีการทำการตลาดที่ล้ำสมัย แฟนฟุตบอลติดตามข่าวสารจากช่องทางโซเชียลมีเดีย และการถ่ายทอดสดฟุตบอลอยู่บนมือของเรา

 

วันนี้เวนเกอร์บอกว่าคงหมดเวลาของเขาแล้วครับ

 

ผมว่าเราน่าจะมาย้อนความทรงจำของคนที่ผมอยากเรียกเขาว่า ‘มิสเตอร์อาร์เซนอล’ กันสักหน่อย

 

ขอรบกวนคุณผู้อ่านสัก 5-10 นาที คงจะไม่มากมายไปใช่ไหมครับ…

 

 

Arsene, Who?

‘Arsene Who?’

 

ประโยคข้างต้นมาจากการพาดหัวของหนังสือพิมพ์ในวันที่ 23 กันยายน 1996 หนึ่งวันหลังจากที่ อาร์เซน เวนเกอร์ ได้เปิดตัวในฐานะผู้จัดการทีมอาร์เซนอลคนใหม่แทนที่ของ บรูซ ริอ็อค อดีตผู้จัดการทีมที่ถูกปลดจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม

 

คำถามนั้นเป็นคำถามที่ดังและทรงพลังอย่างมาก เพราะเป็นคำถามที่มาจากเหล่า The Gunners (ชื่อที่ใช้เรียกแฟนฟุตบอลทีมอาร์เซนอล) ที่ตั้งข้อสงสัยในตัวผู้จัดการทีมคนใหม่ของพวกเขา คนที่ดูผอมแห้ง ไม่มีราศี ใส่แว่น คนที่ดูเหมาะกับการเป็นคุณครูในโรงเรียนมากกว่าจะมานั่งเก้าอี้ผู้จัดการทีมของหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่มีเกียรติประวัติสูงสุดทีมหนึ่งของอังกฤษ

 

ไม่แปลกที่เวนเกอร์ (ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้นหนังสือพิมพ์ในไทยยังไม่รู้จะเรียกชื่ออย่างไรให้ถูก เพราะเป็นชื่อคนฝรั่งเศส มีทั้ง วองแชร์ วองแจร์ ฯลฯ ก่อนที่สุดท้ายคุณอุไร ปทุมมาวัฒนา หรือ ‘มาเฟียรี่’ คอลัมนิสต์สายฟุตบอลฝรั่งเศสของหนังสือพิมพ์ Star Soccer จะหาข้อมูลมายืนยันว่าออกเสียงว่า ‘เวนเกอร์’) จะถูกตั้งคำถาม เพราะเขาเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน แถมยังไม่ได้ย้ายมาจากลีกระดับท็อปของยุโรปอย่าง กัลโช เซเรีย อา, ลาลีกา หรือบุนเดสลีกา

 

สโมสรสุดท้ายของเวนเกอร์ก่อนจะย้ายมาอยู่กับอาร์เซนอลคือทีม นาโกยา แกรมปัส เอต สโมสรฟุตบอลในเจลีก ​และไม่ใช่เฉพาะสื่อหรือแฟนฟุตบอลที่ตั้งข้อสงสัยครับ แม้แต่นักฟุตบอลในทีมเองก็มีคำถามมากมายด้วยเช่นกัน

 

แต่แทนที่จะเสียเวลาไปกับการอธิบายตัวตนผ่านถ้อยคำ เวนเกอร์เลือกใช้การทำงานเพื่อตอบคำถามกับทุกคน

 

สิ่งแรกที่เขาทำในการทำงานคือการบอกต่อเหล่านักเตะระดับอาวุโสของทีม ที่นำโดย โทนี อดัมส์ กัปตันทีมชาติอังกฤษ กับเหล่าแบ็กโฟร์ในตำนาน (ไนเจล วินเทอร์เบิร์น, ลี ดิกซัน, สตีฟ โบลด์)​ และเดวิด ซีแมน นายทวารมือหนึ่งของอังกฤษ ที่เคยประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ลีกมาแล้วเมื่อปี 1991 ในยุคของ จอร์จ เกรแฮม ว่าพวกเขายังมีอนาคตกับทีม

 

แต่ในข้อแม้สำคัญว่าใครอยากจะอยู่ในทีมกับเขาต่อจะต้องมี ‘วินัย’ และต้องเตรียมใจที่จะเจอกับการแข่งขัน

 

สิ่งต่อมาซึ่งเป็นงานที่ยากที่สุดที่เวนเกอร์ทำคือ การเปลี่ยนแปลง ‘วัฒนธรรม’ ของนักฟุตบอลภายในทีม

เดิมนักฟุตบอลอังกฤษมีวัฒนธรรมในการ ‘ดื่ม’ ที่หนักหน่วงทั้งก่อนและหลังแข่ง ซึ่งเวนเกอร์ค่อยๆ ให้เวลานักฟุตบอลได้ปรับตัวก่อนจะเริ่มสั่งห้ามดื่มในเวลาต่อมา

 

อาหารการกินก็เช่นกัน จากเดิมที่นักฟุตบอลจะทานอาหารที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์มากนัก เวนเกอร์มีการปรับเปลี่ยนเมนูอาหารใหม่ในช่วงก่อนเกม งดอาหารจังก์ฟู้ดและเนื้อแดง ใส่เมนูอาหารประเภทเส้น​กับเนื้อไก่เข้ามาแทน รวมถึงยังมีการให้วิตามินที่จำเป็นด้วย

 

ไม่มีนักฟุตบอลคนไหนเข้าใจและยอมรับได้โดยง่ายครับ เพราะมันคือวัฒนธรรมที่พวกเขาใช้ชีวิตมาอย่างยาวนาน และในสมัยนั้นโลกยังแทบไม่รู้จักคำว่าวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือโภชนาการเพื่อการกีฬาเลยด้วยซ้ำ

 

แต่เวนเกอร์รู้จัก และเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูก มันเป็นสิ่งที่ ‘คนที่มาก่อนกาล’ อย่างเขารู้ว่าอีกไม่นานสิ่งเหล่านี้จะเข้ามาปฏิวัติโลกฟุตบอล และแน่นอนครับว่าเขาคิดไม่ผิด​

 

 

จาก Boring Arsenal สู่ The Invincibles
จากความยากลำบากในการสู้รบปรบมือกับการเปลี่ยนแปลงอาร์เซนอลถึงระดับฐานราก เวนเกอร์ค่อยๆ นำทีมกลับสู่เส้นทางที่ควรจะเป็น และในฤดูกาลแรก แม้จะพลาดแชมป์และพลาดการไปแชมเปี้ยนลีก เพราะประตูได้เสียเป็นรองนิวคาสเซิลที่แต้มเท่ากัน แต่อาร์เซนอลก็ยังจบฤดูกาลด้วยการเป็นทีมอันดับที่ 3

 

แต่ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องของอันดับ หากแต่เป็นเรื่องของวิธีในการเล่นฟุตบอล

 

ก่อนหน้าที่เขาจะเข้ามาเป็นผู้จัดการทีม อาร์เซนอลเป็นทีมที่ถูกขนานนามว่า Boring Arsenal หรือ อาร์เซนอลที่แสนน่าเบื่อ เพราะสไตล์ของทีมนั้นเป็นฟุตบอลอังกฤษแบบโบราณที่เรียกว่า Direct Football ใช้การสาดบอลโด่งๆ เข้าไปให้กองหน้าคู่ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ชิงจังหวะ และกองหน้ารูปร่างเล็กที่มีความเร็วและทักษะการทำประตูไปลุ้นเอาข้างหน้า

 

เวนเกอร์เข้ามาเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้อย่างช้าๆ จากที่เล่นฟุตบอลกันแบบอังกฤษแท้ๆ อาร์เซนอลค่อยๆ กลายเป็นทีมที่เล่นฟุตบอลภาคพื้น ซึ่งเป็นสไตล์ในแบบยุโรป และจากสไตล์ที่แสนน่าเบื่อ The Gunners กลายเป็นทีมที่เล่นได้อย่างสวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุด

 

นอกจากแนวคิดล้ำสมัย สายตาของเวนเกอร์ก็แหลมคมไม่เป็นรองใคร เขาดึงตัวนักฟุตบอลฝีเท้าดีเข้ามามากมายหลายคน ตั้งแต่ นิโกลาส์ อเนลกา ไอ้หนูมหัศจรรย์ของปารีส แซงต์ แชร์กแมง, มาร์ค โอเวอร์มาร์ส ปีกลมกรดจากไอแอกซ์ อัมสเตอร์ดัม, ปาทริค วิเอรา อดีตกัปตันทีมก็องส์ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์, เอ็มมานูเอล เปอตีต์ อดีตลูกทีมในทีมโมนาโก ที่โยกจากแบ็กซ้ายมายืนในตำแหน่งกองกลางตัวรับ ​เรื่อยมาจนถึง โรแบร์ ปิแรส ปีกจอมเทคนิคจากมาร์กเซย, เชส ฟาเบรกาส เพชรเม็ดงามจากลา มาเซีย ที่เวนเกอร์ดึงตัวมาตั้งแต่อายุ 16 ปีในสมัยที่ยังไม่มีคนรู้จักลา มาเซีย

 

และการเซ็นสัญญาที่ดีที่สุดของเขา เทียร์รี อองรี อดีตดาวรุ่งจากโมนาโก ที่เวนเกอร์ มอบชีวิตใหม่ให้หลังตกอับกับยูเวนตุส

 

รวมถึงการทำให้ เดนนิส เบิร์กแคมป์ ที่ถูกซื้อตัวเข้ามาตั้งแต่ผู้จัดการคนก่อน ได้แสดงฝีเท้าของจอมศิลปินลูกหนังระดับโลกที่แท้จริงออกมา

 

 

นักฟุตบอลเหล่านี้ (ยังมีอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง) เปลี่ยนอาร์เซนอลจากทีมที่กำลังตกต่ำมาสู่การเป็นยอดทีมในช่วงเวลาไม่กี่ปี

 

พวกเขาไม่เพียงแต่เล่นฟุตบอลได้งดงาม รวดเร็ว และทรงประสิทธิภาพชนิดที่แฟนฟุตบอลทีมอื่นทำได้แต่อิจฉา หากแต่ยังประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วย

 

จากอันดับ 3 ในฤดูกาลแรก (1996-1997) เวนเกอร์พาทีมคว้าดับเบิลแชมป์ในฤดูกาลต่อมา พวกเขาจบฤดูกาลด้วยการอยู่เหนือทีมที่เป็น ‘จ้าว’ ในเวลานั้นอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และได้ถ้วยใบที่ 2 ต่อมาด้วยการถอนแค้นนิวคาสเซิล ที่แย่งตั๋วแชมเปี้ยนลีกในนัดชิงเอฟเอคัพ

 

เวลานั้นไม่มีใครถามแล้วว่า Arsene Who?

 

ในทางตรงกันข้าม เขาคือคนที่ทุกคนเชื่อว่าเป็นคนเดียวที่สามารถต่อกรกับ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน สุดยอดผู้จัดการทีมของแมนเชสเตอร์​ ยูไนเต็ด ได้อย่างสูสีที่สุด และการแข่งขันระหว่างทั้งสองในแต่ละปีนั้นเต็มไปด้วยความดุเดือด

 

นอกสนามเวนเกอร์และเฟอร์กี้ปะทะคารมกันอย่างหนักหน่วง เปิดสงครามจิตวิทยากันอย่างรุนแรง

 

ขณะที่ยามอยู่ในสนามต่างฝ่ายต่างก็ผลัดกันประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นเป็นปีของใคร

 

แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดตลอดกาลของเวนเกอร์คือฤดูกาล 2003-2004 ซึ่งอาร์เซนอล สามารถคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกมาครองได้โดย ‘ไร้พ่าย’ ไม่แพ้ใครเลยตลอดการแข่งขัน 38 นัด (สถิตินี้ยืนยาวไปจบที่ 49 นัด)

 

ตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปีในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ พวกเขาเป็นทีมแรกและทีมเดียวที่ทำได้ ทีมชุดนั้นได้รับสมญาว่า The Invincibles ปืนใหญ่ผู้ไร้เทียมทาน

 

ไม่มีใครคาดคิดว่าวันแห่งความตกต่ำจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น

 

 

จุดเปลี่ยนของโชคชะตา
ด้วยสายตาที่มองการณ์ไกลทำให้บอร์ดบริหารของสโมสรเล็งเห็นว่าสนามไฮบิวรี ที่มีความจุแค่ 34,000 ที่นั่งนั้นไม่เพียงพอที่จะรองรับสถานะของอาร์เซนอล ที่จะยกระดับไปสู่การเป็นทีมที่ดีที่สุดของอังกฤษอีกแล้ว

 

พวกเขาต้องการย้ายสนามไปที่แห่งใหม่ ในย่านแอชเบอร์ตัน โกรฟ ที่ที่จะเป็นสนามฟุตบอลแห่งใหม่ที่ล้ำสมัย สวยงาม และมีความจุมากกว่า 60,000 ที่นั่ง

 

การจะย้ายสนามนั้นต้องใช้เงินในการก่อสร้างมากกว่า 100 ล้านปอนด์ และนั่นหมายถึงงบประมาณในการทำทีมของเวนเกอร์จะต้องถูกลดลงไปด้วยเพื่อให้สโมสรสามารถที่จะประคับประคองตัวให้รอด

 

เรื่องนี้เวนเกอร์ไม่ได้ขัดข้องใจอะไร เขาเห็นด้วยกับการก่อสร้างและพร้อมปฏิบัติตามนโยบายของสโมสร และนั่นกลายเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ที่สำคัญของอาร์เซนอล

 

จากเดิมที่อาร์เซนอลจะเสริมทัพด้วยนักเตะระดับสตาร์ หรือนักเตะฝีเท้าดีที่มีศักยภาพสูง กลายเป็นการเสริมทีมด้วยนักเตะระดับดาวรุ่งหรือนักฟุตบอลเกรดสองที่รองลงไปจากเกรดที่เคยซื้อตัวมาได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของความตกต่ำของทีม

 

ปัญหาภายในบอร์ดบริหารยังนำไปสู่การแยกทางกันระหว่างอาร์เซนอลกับ เดวิด ดีน รองประธานสโมสรผู้ที่ดึงเวนเกอร์มาสู่ทีมและเป็นคนที่ให้การสนับสนุนเขาทุกเรื่อง ซึ่งในช่วงเวลาที่เกิดเรื่องในช่วงเดือนเมษายน ในปี 2007 นั้น เวนเกอร์อยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางจิตใจอย่างรุนแรง โดยระหว่างนั้นกัปตันทีม ‘ติตี้’ อองรี ตัดสินใจย้ายไปอยู่กับบาร์เซโลนา ทีมที่เอาชนะพวกเขาได้ในนัดชิงแชมเปี้ยนลีก ครั้งแรกและครั้งเดียวที่เวนเกอร์พาทีมไปถึง

 

 

หลังจากนั้นเป็นระยะเวลานานทีเดียวกว่าที่สถานการณ์ทุกอย่างจะสงบ เวนเกอร์ได้รับสัญญาใหม่เป็นการการันตีอนาคตในเดือนกันยายน 2007 พร้อมยืนยันว่าอาร์เซนอลคือ ‘สโมสรที่เป็นดั่งชีวิต’ ของเขา

 

เพียงแต่ไม่มีใครรู้ว่าระยะเวลาอีก 10 ปีหลังจากนั้น ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

 

จากแชมป์ลีกและแชมป์เอฟเอคัพ ครั้งสุดท้ายในปี 2004 อาร์เซนอลตกอยู่ในสภาวะที่แล้งไร้ความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อเป็นระยะเวลาร่วมทศวรรษ

 

พวกเขาไม่สามารถต่อสู้กับมหาอำนาจใหม่อย่างเชลซี ที่ได้ โรมัน อบราโมวิช เข้ามาสนับสนุนทางการเงินจนพลิกชะตากลายเป็นทีมระดับชั้นนำของยุโรปได้ในระยะเวลาอันสั้น และไม่สามารถสู้กับมหาอำนาจเก่าอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ยังรักษามาตรฐานความสำเร็จระดับสูงเอาไว้ได้ภายใต้การนำของอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้เป็นอมตะ

 

ระหว่างนั้นนักฟุตบอลระดับดาวดังของอาร์เซนอล ทยอยย้ายออกจากทีมจนหมดจาก เชส ฟาเบรกาส, กาแอล กลิชี, เอ็มมานูเอล อเดบายอร์, ซาเมียร์ นาสรี สู่ โรบิน ฟาน เพอร์ซี

 

​นักฟุตบอลที่ควรจะเป็นความหวังอย่าง ธีโอ วัลค็อตต์, อเล็กซ์ อ็อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน และอีกมากมายกลายเป็นความผิดหวัง

 

​ประกายความน่าตื่นตาตื่นใจในฟุตบอลของอาร์เซนอลค่อยๆ ดับลง บางครั้งเหมือนจะกระเตื้องขึ้นในบางปีที่ทำท่าจะดี แต่สุดท้ายก็คว้าน้ำเหลวตลอดเวลา

 

ดีที่สุดที่เวนเกอร์ทำได้คือการพาทีมจบฤดูกาลด้วยการเป็นรองแชมป์ในฤดูกาล 2015-2016 แชมป์เอฟเอคัพ 3 สมัย (2013-2014, 2014-2015 และ 2016-2017) และการพาทีมจบฤดูกาลในท็อปโฟร์ได้ไปยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นระยะเวลา 21 ปีติดต่อกัน

ความรักที่เหล่า The Gunners เคยมีเริ่มลดน้อยลงในทุกวันจนแทบไม่เหลือ ความเชื่อที่ไม่เคยสั่นคลอนก็สั่นคลอน จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่เป็นภาพที่น่าสะเทือนใจของแฟนฟุตบอลทั่วไป ภาพของแฟนอาร์เซนอลที่ขับไล่อาร์เซน เวนเกอร์ ชายผู้เคยเป็นที่หนึ่งในดวงใจ

 

 

#WengerOut การบอกลาที่ยาวนาน

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คำถามเดียวที่แฟนอาร์เซนอลเฝ้ารอจะได้รับคำตอบคือ ‘เวนเกอร์จะไปเมื่อไร’ ​พร้อมกับภาพที่น่าเจ็บปวดของแฟน The Gunners ชูป้าย Wenger Out

 

มันเป็นคำถามที่แฟนบอลคนนอกบางครั้งก็ดูยากจะเข้าใจ แต่ก็เห็นใจทั้งสองฝ่ายในเวลาเดียวกัน

 

สำหรับแฟนอาร์เซนอล พวกเขาเฝ้ารออย่างอดทนมาเป็นระยะเวลานับสิบปี สิบปีของความล้มเหลวมันยาวนานและเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่เคยมีต่อกันได้อย่างร้ายกาจ

 

แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าพวกเขาผิด เพราะไม่ใช่จะไม่ทน แต่มันทนไม่ไหวแล้ว

 

พวกเขารู้ว่าเวนเกอร์ทำอะไรเพื่อสโมสรบ้าง แต่ความหัวดื้อไม่ยอมปรับตัวตามกระแสโลกลูกหนังที่การแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกขณะ และยืนกรานจะทำงานตามใจตัวเองมันทำร้ายความรู้สึกกันมากและยาวนานเกินไป

 

หลายปีที่ผ่านมาพวกเขาทำได้เพียงเห็นภาพของทีมคู่แข่งประสบความสำเร็จมากขึ้นและมากขึ้น หรือแม้แต่ทีมที่เคยย่ำแย่อย่างลิเวอร์พูลก็ยังกลับมาอยู่บนเส้นทางของความสำเร็จได้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับผู้จัดการทีมคนใหม่อย่าง เจอร์เกน คลอปป์

 

สำหรับเวนเกอร์ ทุกคนรู้ว่าเขารักทีมนี้แค่ไหน เขาไม่อยากจากทีมไปแบบนี้ แบบที่ยังมีความรู้สึกคาใจ เพราะเขาเชื่อว่าเขายังมีความสามารถที่จะนำทีมกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

 

น่าเศร้าที่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเกิดขึ้น

 

 

แรงกดดันจากความตกต่ำที่ยาวนานทำให้เขาค่อยๆ ยอมอ่อนข้อปรับนโยบายของตัวเองใหม่ จากที่เน้นหนักดาวรุ่งและไม่ยอมควักกระเป๋าง่ายๆ ทั้งที่สโมสรผ่านพ้นช่วงที่ต้องประคับประคองฐานะของสโมสร​ เวนเกอร์คนนี้เองที่ยอมสั่งให้สโมสรควักเงินซื้อ เมซุต โอซิล และกระชาก อเล็กซิส ซานเชซ รวมถึงสตาร์อีกมากมาย และการยอมทลายเพดานค่าเหนื่อยในช่วงไม่กี่ปีมานี้

 

แต่มันก็ไม่ได้ผล

 

นับวันอาร์เซนอลยิ่งตกต่ำ ทีมที่เคยเล่นได้อย่างสวยงามก็กลายเป็นทีมที่เล่นได้อย่างธรรมดา ไร้ความมุ่งมั่น ไร้จิตวิญญาณ และไร้ความหวัง เสียงสะท้อนนั้นดังขึ้นเรื่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีคำตอบใดๆ จากสายลม

 

เพราะฝ่ายบริหารของอาร์เซนอลแม้จะกดดันและรู้ว่าพวกเขาต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่เพื่อรักษาเกียรติของเวนเกอร์ พวกเขาต้องการรอให้นายใหญ่ชาวฝรั่งเศสเป็นคนพูดเองว่า “เขาจะไป”

 

จนกระทั่งเวนเกอร์ได้เห็นว่าความเกรี้ยวกราดของแฟนบอลเริ่มลดลง และเปลี่ยนเป็นการหมางเมินต่อทีมแทน

 

ภาพของสนามเอมิเรตส์สเตเดียมที่มีที่นั่งว่างมากมายนับตั้งแต่เข้าเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทำให้เขารู้สึกและมั่นใจว่าถึงเวลาที่เขาต้องไป

 

และเพื่อให้ ‘เวลา’ ทุกคนได้เตรียมตัวสำหรับการเดินทางครั้งใหม่ ในยุคใหม่กับคนใหม่ เขาจึงประกาศการตัดสินใจในวันนี้ (20 เม.ย.)

 

หลังจากนี้เหลือเวลาอีก 1 เดือน ที่เขาและอาร์เซนอลจะได้บอกลากันและกัน

 

พวกเขายังเหลือความหวังกับการคว้าแชมป์ยูโรปา ลีก รายการเดียวที่เวนเกอร์มีสิทธิ์จะปิดฉากทีมได้อย่างงดงามที่สุด แม้ว่าจะต้องเจอคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากที่สุดอย่างแอตเลติโก มาดริด ก็ตาม

 

ส่วนชีวิตหลังจากนี้เราคงได้ทราบกันว่าเวนเกอร์จะเลือกทางเดินของตัวเองอย่างไรครับ

 

สำหรับผม อาร์เซน เวนเกอร์ เป็นดั่งความทรงจำสุดท้ายของโลกฟุตบอลในยุคก่อนที่หลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบัน

 

เพียงแต่บนโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่สามารถยืนยง

 

การจากลาของเวนเกอร์ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับยอดผู้จัดการทีมในอดีตคนอื่นๆ

 

คนจากไป แต่สิ่งที่สร้างไว้ยังอยู่ และเวนเกอร์ไม่ขออะไรจากแฟนอาร์เซนอลทุกคนมากไปกว่า…

 

‘ช่วยกันรักษาคุณค่าของอาร์เซนอล’ เอาไว้ตลอดไป

FYI
  • 22 ปีของ อาร์เซน เวนเกอร์ กับอาร์เซนอล เขาพาทีมคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัย (1997-1998, 2001-2002, 2003-2004), แชมป์เอฟเอคัพ 7 สมัย (1997-1998, 2001-2002, 2002-2003, 2003-2004, 2013-2014, 2014-2015, 2016-2017) และแชมป์เอฟเอ คอมมูนิตี ชิลด์ (แชริตี้ ชิลด์ เดิม) (1998, 1999, 2002, 2004, 2014, 2015, 2017)
  • เวนเกอร์เคยได้รางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมพรีเมียร์ลีก 3 สมัยในปี 1998, 2002 และ 2004
  • เขาเป็นผู้จัดการทีมที่ทำงานในพรีเมียร์ลีกยาวนานที่สุดในปัจจุบัน
  • มีไม่กี่คนในโลกที่ทำงานกับสโมสรเดียวนานกว่าเขา ที่เป็นที่รู้จักคือ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน (27 ปี กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด) และ กีย์ รูซ์ (44 ปี กับโอแซร์)
  • ในวันเข้ารับตำแหน่ง เดวิด ดีน เชิญผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ในอังกฤษ 9 คนมารู้จักกับเวนเกอร์ การพูดครั้งนั้นกินเวลา 50 นาที โดยเวนเกอร์อธิบายถึงปรัชญาฟุตบอลเกมรุกของเขา ความเชื่อในโภชนาการและความรู้สึกที่มีต่ออาร์เซนอลในฐานะทีมของชุมชน
  • ในวันเกิดครบรอบ 60 ปี นักข่าวพยายามชวนเวนเกอร์มาร่วมฉลองวันเกิดกัน เขาไปร่วมงานแต่ขอเปิดดูเกมฟุตบอลบุนเดสลีกาไปด้วย สะท้อนถึงความคลั่งไคล้ในเกมฟุตบอลของเขา
  • เฮนรี วินเทอร์ นักข่าวฟุตบอลแห่ง Telegraph เชื่อว่า เวนเกอร์คู่ควรจะมีรูปปั้นของเขาตั้งตระหง่านที่หน้าสนาม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X