×

เจาะแท็กติก 3 จุดสำคัญ อาร์เนสยบเป๊ปราบคาบ (+10 นัดอันตรายชุดใหม่ของลิเวอร์พูล)

02.12.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • การเพรสซิงที่หนักหน่วงโดยเฉพาะแดนบนซึ่งหัวใจคือการใส่ผู้เล่นที่มีความเร็วจัดจ้านและเพรสดุดันอย่าง หลุยส์ ดิอาซ ที่ตอนนี้สามารถเล่นในบทกองหน้าตัวกลางได้เพิ่มด้วย กับ โดมินิก โซโบสไล ทำให้ลิเวอร์พูลเหมือนมี False 9 (หรือ Double 10) อยู่ 2 คนที่จะวิ่งไล่บีบใส่จนซิตี้รวนทั้งทีม
  • แท็กติกนี้ทำให้ซิตี้ตกเป็นรองเพราะแพ้ 3 ผู้เล่นแดนกลางของลิเวอร์พูลทันทีด้วย ‘จำนวน’ (Outnumbered) พวกเขาเจอสถานการณ์ 3 ต่อ 2 ตลอด อีกทั้งต่อให้เก๋าแค่ไหนก็สู้ลูกสดของ ไรอัน กราเฟนแบร์ก, อเล็กซิส แม็ค อัลลิสเตอร์ และตัวไฮบริดอย่างโซโบสไลไม่ไหว
  • ในเกมกับซิตี้ หนึ่งใน ‘ทีเด็ด’ ที่นำไปสู่การได้ประตูแรกด้วยคือการเล่นบอลยาว (Long Ball) วางข้ามแนวรับของซิตี้ให้ตัวอันตรายอย่าง โม ซาลาห์

เป๊ป กวาร์ดิโอลา ได้แค่ชูนิ้วทั้ง 6 เป็นการตอบโต้ต่อแฟนบอลลิเวอร์พูลที่ร้องเพลงเสียดสีแทงใจดำว่า “Sacked in the Morning!” หรือเดี๋ยวเช้าก็โดนเด้งแล้ว ภายหลังจากที่แมนฯ ซิตี้ไม่สามารถต้านทานจ่าฝูงผู้ร้อนแรง พ่ายที่แอนฟิลด์ไป 2-0 ในเกมบิ๊กแมตช์เมื่อคืนที่ผ่านมา

 

ความจริงแล้วอัจฉริยะลูกหนังผู้เป็นเจ้าพ่อนวัตกรรมของเกมฟุตบอลในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาพยายามแล้วที่จะหาทางเพื่อทั้งหยุดลิเวอร์พูลให้ได้ เพราะหากพ่ายแพ้ขึ้นมาจะโดนทิ้งห่างถึง 11 แต้ม แทบไม่เหลือความหวังสำหรับการป้องกันแชมป์สมัยที่ 5

 

แต่ตลอดทั้งเกมแท็กติกของเขาไม่สามารถสู้กับการวางหมากของ อาร์เน สลอต บอสใหญ่คนใหม่ได้แม้แต่น้อย

 

นี่คือ 3 จุดสำคัญที่กุนซือชาวดัตช์ทำได้เหนือกว่า และทำให้ลิเวอร์พูล – ต่อให้ครองบอลรวมน้อยกว่า – เป็นฝ่ายเอาชนะได้อย่างสง่างาม จบ 10 นัดที่เขาว่าอันตรายได้สวยงาม

 

ว่าแต่ 10 นัดอันตรายข้างหน้าพวกเขาจะต้องเจอใครต่อ?

 

 

ไม่ต้องมากพิธี ต่อยตีกันเลย!

 

การพบกันระหว่างลิเวอร์พูลกับแมนฯ ซิตี้ ในช่วงหลายปีหลังไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม หลายนัดจะเป็นการต่อสู้เชิงแท็กติกที่เคร่งเครียด ผู้เล่นไม่ได้เล่นในแบบที่เป็นตัวของตัวเองมากนักเพราะต้องระมัดระวังคู่แข่งสุดอันตราย

 

เปรียบก็เหมือนเล่นกันแบบกิเลนประลองเชิง ใครทะเล่อทะล่าออกท่วงท่ารำก่อนอาจจะโดนเล่นงานกลับถึงแพ้ได้

 

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเกมเมื่อคืนที่แอนฟิลด์ เพราะเปิดฉากมาลิเวอร์พูลภายใต้แบรนด์ ‘Slot Machine’ กดปุ่มติดเครื่องเดินหน้าใส่ทันทีแบบไม่สนใจด้วยว่าเป๊ปจะวางหมากให้แมนฯ ซิตี้แบบไหน

 

การเพรสซิงที่หนักหน่วงโดยเฉพาะแดนบนซึ่งหัวใจคือการใส่ผู้เล่นที่มีความเร็วจัดจ้านและเพรสดุดันอย่าง หลุยส์ ดิอาซ ที่ตอนนี้สามารถเล่นในบทกองหน้าตัวกลางได้เพิ่มด้วย กับ โดมินิก โซโบสไล ทำให้ลิเวอร์พูลเหมือนมี False 9 (หรือ Double 10) อยู่ 2 คนที่จะวิ่งไล่บีบใส่จนซิตี้รวนทั้งทีม

 

อีกทั้งวิธีการเพรสซิงในยุคของสลอตเป็นการเพรสซิงแบบละเอียด เปรียบเหมือนการใช้เครื่องบดเมล็ดกาแฟแบบไฟฟ้าที่สามารถปรับความละเอียดได้ดีกว่าการบดโดยใช้เครื่องแบบแมนวลในยุคของ เจอร์เกน คล็อปป์ (ที่อาจจะได้ฟีลกว่าเล็กน้อยถึงความละเมียดละไม)

 

ในช่วง 25 นาทีแรกของเกม ลิเวอร์พูลไล่บดจนทีมอย่างซิตี้ไปไม่เป็น ตั้งกระบวนไม่ถูก มีโอกาสสัมผัสบอลในแดนสุดท้าย (Final Third) ของลิเวอร์พูลแค่ 5 ครั้งเท่านั้น และเปอร์เซ็นต์การผ่านบอลสำเร็จ (Pass Accuracy) ต่ำแค่ 82 เปอร์เซ็นต์

 

ถ้าเกมรุกจะเฉียบคมกว่านี้ ลิเวอร์พูลมีโอกาสจะนำขาดถึง 4-5 ลูกได้ตั้งแต่ 20 นาทีแรกเลยทีเดียว

 

และการเพรสซิงนี้ถึงจะลดความหนักหน่วงในครึ่งหลัง แต่การไล่บอลของ ดาร์วิน นูนเญซ ตัวสำรองที่ลงมาก็มีส่วนในการทำให้ทีมได้จุดโทษที่นำไปสู่ประตูฝัง 2-0 ของ โม ซาลาห์ ด้วย

 

 

หักเสาเผาใบเรือ

 

แต่แท็กติกของลิเวอร์พูลไม่ได้มีแค่การเพรสซิงอย่างเดียวเท่านั้น พวกเขายังหักเสาแล้วเผาใบเรือของแมนฯ ซิตี้ให้ราบคาบ

 

เกมนี้เป๊ปมีการ Tweak หรือ ‘เขย่า’ แท็กติกการเล่นของทีมเล็กน้อยด้วยการจัดผู้เล่นในระบบ 4-2-4 โดยคู่กลางตัวหลักคือ แบร์นาโด ซิลวา และ อิลคาย กุนโดกัน สองผู้เล่นตัวเก๋าของทีม ด้วยหวังจะใช้ประสบการณ์ของทั้งคู่ควบคุมจังหวะความลื่นไหลของเกม

 

แต่ปรากฏว่าแท็กติกนี้ทำให้ซิตี้ตกเป็นรอง เพราะแพ้ 3 ผู้เล่นแดนกลางของลิเวอร์พูลทันทีด้วย ‘จำนวน’ (Outnumbered) พวกเขาเจอสถานการณ์ 3 ต่อ 2 ตลอด อีกทั้งต่อให้เก๋าแค่ไหนก็สู้ลูกสดของ ไรอัน กราเฟนแบร์ก, อเล็กซิส แม็ค อัลลิสเตอร์ และตัวไฮบริดอย่างโซโบสไลไม่ไหว

 

กว่าจะขยับเอา มานูเอล อาคานจี มาเติมตรงนี้ก็ช่วงครึ่งหลังแล้ว ซึ่งทำให้ทีมกลับมาเป็นฝ่ายครองบอลได้มากกว่า แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นนัก

 

 

Running Down the Wing

 

ปกติแล้วลิเวอร์พูลยุคของ อาร์เน สลอต เป็นทีมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการ Build Up ค่อยๆ เคาะต่อบอลขึ้นมาจากแดนหลัง โดยจะมีผู้เล่นที่ขยับหาช่องทั้งริมเส้นหรือตรงกลางสนามเพื่อจะรอพลิกบอลและเปลี่ยนจังหวะการเล่นเร็วในการเข้าทำ (โดยที่ถ้าทำไม่ได้ก็จะวนกลับมาเริ่มต้นกันใหม่)

 

แต่ในเกมกับซิตี้ หนึ่งใน ‘ทีเด็ด’ ที่นำไปสู่การได้ประตูแรกด้วยคือการเล่นบอลยาว (Long Ball) วางข้ามแนวรับของซิตี้

 

การวางบอลยาวของลิเวอร์พูลมีหลายรูปแบบ เจาะได้ทั้งซ้าย ขวา และตรงกลาง แต่บอลที่มีประสิทธิภาพสูงและได้ประสิทธิผลที่ดีที่สุดคือการวางบอลทแยงมุม (Diagonal Ball) ออกทางฝั่งขวาที่จะมี โม ซาลาห์ คอยอยู่ตรงนั้น

 

ความจริงการเลือกเพลย์แบบนี้จริงๆ แล้วก็มีความเสี่ยงอยู่ เพราะเป็นการเปิดช่องว่างระหว่างพื้นที่มากเกินไป ซึ่งหากจ่ายพลาดหรือรับบอลแล้วทำเสียมีโอกาสจะโดนโต้กลับที่อาจเป็นอันตรายได้สูงเหมือนกัน

 

แต่เพราะคนที่เปิดบอลยาวให้คือ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ และคนที่สปรินต์ไปเอาบอลคือซาลาห์ ลูกเปิดยาวที่พิเศษ – ซึ่งเป็นการเปิดแบบ Drive ลูกพุ่งเร็ว – ของแบ็กขวาทีมชาติอังกฤษที่ขยับมาตรงกลางและมองเห็นพื้นที่หลังแบ็กที่ว่างอยู่เพราะซิตี้กำลังเพรสแดนบนพอดี บอลไปถึง ‘The Egyptian King’ วิ่งโกยแน่บไปเอาบอล ก่อนจะหาจังหวะเปิดไปจุดนัดพบที่เสาไกลให้ โคดี กักโป ที่อาศัยจังหวะเผลอของ ไคล์ วอล์กเกอร์ วิ่งแอบมาเข้าฮอสสบายๆ เป็นประตูขึ้นนำ

 

ลูกนี้ซาลาห์ยังบอกหลังเกมด้วยว่าเป็นลูกซ้อม (และยังบ่นเรื่องอนาคตของตัวเองอีกเล็กน้อย…) ซึ่งก่อนจะแอสซิสต์ลูกนี้ก็มีการเล่นลูกลักษณะนี้ก่อน 2-3 ครั้ง แปลว่าลิเวอร์พูลมีการเตรียมจุดนี้มาจริง โดยเฉพาะการเจาะทางซาลาห์เพื่อเล่นงานแบ็กซ้ายของซิตี้

 

 

สำหรับในช่วงเวลาที่เหลือลิเวอร์พูลประคับประคองสถานการณ์ได้และความจริงมีโอกาสใกล้เคียงจะได้ประตูเพิ่มอีกหลายลูกด้วยซ้ำแต่พลาดไปหมด

 

ส่วนแมนฯ ซิตี้ โอกาสเข้าทำที่ชัดเจนมีน้อยมาก นอกจากโอกาสยิงของ ริโก ลูอิส ในช่วงท้ายครึ่งแรกที่เป็นโอกาสยิงหนเดียวใน 45 นาทีแรก โอกาสใกล้เคียงที่สุดคือจังหวะที่ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ไปพลาดโดน เควิน เดอ บรอยน์ ฉกบอลไปจากหน้ากรอบเขตโทษแต่ยิงไม่ผ่าน ควีวิน เคลเลเฮอร์ ที่ออกมาเซฟได้อย่างยอดเยี่ยม

 

โดยที่ลิเวอร์พูลครองบอลน้อยกว่าเพราะเป๊ปปรับแท็กติกมาเล่น 3-2-2-3 ในช่วงครึ่งหลังที่ทำให้ครองบอลในครึ่งหลังได้ 66 เปอร์เซ็นต์ (ครึ่งแรก 46.5 เปอร์เซ็นต์) และไม่ได้เล่นเพรสซิงหนักแบบช่วง 20 นาทีแรก แต่ก็ต้านทานได้หมด แม้เป๊ปจะส่งตัวรุกอย่างเดอ บรอยน์, เยเรมี โดกู, ซาวินโญ หรือ แจ็ค กรีลิช ลงมาก็ตาม

 

ส่วนนักเตะจอมมารอย่าง เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ ในเกมนี้แทบไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย ค่า Expected Goals น้อยกว่า เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ที่โหม่งลูกเตะมุมไป 3 หน (ชนเสา 1) เสียอีก

 

คำถามคือฟอร์มการเล่นแบบนี้ลิเวอร์พูลพร้อมสำหรับการลุ้นแชมป์จริงๆ แล้วไหม? พวกเขาควรจะคิดแบบนั้นแม้ฤดูกาลจะเพิ่งผ่านมาแค่ 13 นัดหรือเปล่า?

 

คำตอบจากนักวิเคราะห์ของพรีเมียร์ลีก Alex Keble บอกไว้แบบนี้ว่า

 

“ลืมเรื่องปัญหาของซิตี้ไปก่อน ทั้งหมดที่บอกมาคือเหตุผลว่าทำไมลิเวอร์พูลถึงเป็นตัวเก็งเต็งจ๋าสำหรับตำแหน่งแชมป์ในฤดูกาลนี้”

 

แต่ช้าก่อน ขอให้ดูโปรแกรม 10 นัดต่อไปก่อน…

 

10 นัดอันตรายของจริง?

 

ก่อนหน้านี้มีการมองว่าลิเวอร์พูลที่เริ่มต้นฤดูกาลได้สวยงามอาจจะตกที่นั่งลำบากได้เพราะต้องเจอกับ 10 นัดอันตราย ปรากฏว่า 10 นัดที่ผ่านมาพวกเขาชนะไปถึง 9 และเสมอแค่เกมเดียว โดยมีผลดังต่อไปนี้

 

 

ส่วนอีก 10 นัดต่อจากนี้ก็อันตราย ประมาทไม่ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อ อาร์เน สลอต เริ่มเจอปัญหาอาการบาดเจ็บของผู้เล่นบ้างแล้วจากการเสีย อิบราฮิมา โกนาเต และ คอเนอร์ แบรดลีย์ สองกองหลังไปพร้อมกันที่ต้องพักยาวถึงปีใหม่

 

นี่คือโปรแกรมที่ลิเวอร์พูลจะต้องเจอกับใครบ้างในช่วงหลังจากนี้?

 

 

เอาไว้ถ้าผ่านตรงนี้ได้แบบฉลุย รักษาระยะห่างกับทีมที่ไล่ตามมาอย่างอาร์เซนอล, เชลซี รวมถึงแมนฯ ซิตี้ได้ก่อน นั่นแหละจะเป็นจุดที่เราพูดได้ว่าลิเวอร์พูลมีโอกาสจะลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกอีกครั้งจริงๆ

 

พรี่ๆ เดอะ ค็อป ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งจองรถแห่อะไรกันตอนนี้นะ…

 

ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X