×

Armchair ‘อยากกลับไปหา’ บทเพลงและช่วงเวลาที่คิดถึงอีกครั้งใน Chairs to Share EP.55

01.10.2024
  • LOADING...
Armchair

HIGHLIGHTS

  • โย่ง-อนุสรณ์ มณีเทศ นักร้องนำของวง ย้อนเล่าให้ฟังถึงเพลง อบเชย จากอัลบั้ม Pastel Mood ที่ถูกเลือกมาปล่อยเป็นเพลงแรกทางคลื่นวิทยุ เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของวง ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักมาก่อนหน้านั้นไม่นานจากการที่เพลง สิมิลัน ได้รับการบรรจุอยู่ในอัลบั้ม Café Del Mar Volume 8 ของคลับ Café Del Mar คลับดนตรี Easy Listening ที่มีชื่อเสียงในประเทศสเปน และโด่งดังไปทั่วโลกในขณะนั้น
  • หลังประสบความสำเร็จจากอัลบั้ม Pastel Mood แล้ว Armchair ออกอัลบั้มที่ 2 ในชื่อ Design ตามมาในปี 2546 โดยมีความเป็น Electropop มากขึ้น และมือฟลูตหน้าหยกคนเดิมก็เปลี่ยนมาประจำตำแหน่งมือคีย์บอร์ด อัลบั้มนี้มีเพลงที่คนรู้จักมากยิ่งขึ้นทั้งเพลง รึเปล่า, Minute of Love และ วันที่ฉันป่วย ฯลฯ 
  • ก่อนที่จะออกอัลบั้มที่ 3 อย่าง Spring ตามมาติดๆ ในปีถัดมา มีเพลงดังอย่างเพลง ไปด้วยกันรึเปล่า และเพลง รักแท้ ที่ถึงตอนนี้ชื่อชั้นของ Armchair ก็เป็นที่ประจักษ์ในฝีมือเป็นอย่างดี จนไม่ต้องการคำแนะนำแต่อย่างใด 
  • การแสดงสุดท้ายรอบเดียวของ The Concert Presents Armchair Original Concert จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น. ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี แฟนดนตรี Armchair จับจองบัตรได้แล้วตั้งแต่วันนี้

 

Armchair

 

อยากกลับไปหา Armchair ที่คิดถึงอีกครั้ง 

 

ถอยเวลากลับไปเมื่อ 24 ปีที่แล้ว เป็นศักราชที่ผู้คนทั่วโลกเพิ่งหายใจได้ทั่วท้อง เมื่อความหวาดหวั่นต่อวิกฤต Y2K ที่เชื่อกันว่าตัวเลขเปลี่ยนผ่านคริสต์ศักราชจากปี 1999 เข้าสู่ปี 2000 จะทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกล่มกลับผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เราสามารถใช้ชีวิตต่อไปแบบชิลๆ ในยุคสมัยที่การเล่นเกมงูในมือถือจอขาวดำคือที่สุดแห่งความบันเทิงเฉพาะตัว

 

ส่วนความบันเทิงในระดับมวลชนของวัยรุ่นไทยในยุคนั้นก็เป็นบรรยากาศที่คึกคัก ในยุคที่วงดนตรีอินดี้เบ่งบาน ซึ่งก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ต่อยอดมาตั้งแต่วงดนตรี Moderndog แห่งค่าย Bakery Music แผ้วถางวิถีทางในการฟังเพลงที่หลากหลายขึ้นมาตั้งแต่ปี 2537 ตัวเลือกของการฟังเพลงไม่จำกัดอยู่แค่ค่ายใหญ่เพียงไม่กี่ค่ายเท่านั้น กลายเป็นทศวรรษที่ดนตรี Alternative บูมถึงขีดสุดและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

แล้วจู่ๆ ในเดือนสิงหาคม ปี 2544 เสียงดนตรีสไตล์ Bossa Nova ท่วงทำนองอุ่นละมุน กับเนื้อร้องที่ใช้ภาษาสวยงามราวกับบทกวี มีท่อนฮุกที่เรียงร้อยด้วยถ้อยคำอ่อนโยนราวกับกำลังขับกล่อมที่ว่า 

 

โอ้เอยเจ้าอบเชยนะเจ้าเอย ไม่เคยให้หมองหม่น 

โอ้เอยนะเจ้าเอยเจ้าอบเชย เจ้าไม่เคยได้พักใจ 

ไม่มีอะไรที่ทำร้าย ปล่อยตามสบาย 

สิ่งใดๆ ที่กล้ำกรายก็จะหายไป 

นอนเสียเถอะหนา 

 

ก็เข้ามาฮุกใจวัยรุ่นในยุคนั้นได้อยู่หมัด และชื่อของวงดนตรี Armchair (อาร์มแชร์) ก็เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงนับแต่นั้นเป็นต้นมา 

 

 

โอ้เอยเจ้าอบเชย 

 

“ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเราจะทำเพลงแล้วต้องเกิดปรากฏการณ์อะไรเลย พวกเราแค่รู้สึกว่าเพลงนี้เป็นตัวตนที่น่าจะบอกคนอื่นได้ง่ายที่สุดว่า ในอัลบั้มของเราจะเป็นเพลงแนว Bossa Nova ที่มีเสียง Analog Synth เสียงฟลูต เสียงแซกโซโฟน แล้วก็ได้กลิ่นอายของทะเล” 

 

โย่ง-อนุสรณ์ มณีเทศ นักร้องนำของวง ย้อนเล่าให้ฟังถึงเพลง อบเชย จากอัลบั้ม Pastel Mood ที่ถูกเลือกมาปล่อยเป็นเพลงแรกทางคลื่นวิทยุ เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของวง ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักมาก่อนหน้านั้นไม่นานจากการที่เพลง สิมิลัน ได้รับการบรรจุอยู่ในอัลบั้ม Café Del Mar Volume 8 ของคลับ Café Del Mar คลับดนตรี Easy Listening ที่มีชื่อเสียงในประเทศสเปน และโด่งดังไปทั่วโลกในขณะนั้น

 

“ตอนนั้นพวกเราเพิ่งถ่ายแฟชั่นเซ็ตในนิตยสาร dna ฉบับเดือนกรกฎาคม ปี 2544 เป็นภาพพอร์เทรตของพวกเรา 4 คนที่ใบหน้าช้ำๆ ซึ่งมีพลังมาก ประกอบกับเพลง สิมิลัน ได้เข้าไปอยู่ในอัลบั้ม Café Del Mar Volume 8 ด้วย คนก็สงสัยว่า Armchair from Thailand คือใคร ตอนนั้นเรายังไม่มีอัลบั้มออกมา เลยเป็นที่จับตามอง จึงเป็นเหตุผลที่เลือก อบเชย เป็นซิงเกิลแรก เพราะบอกเล่าความเป็นวงได้ครบที่สุด

 

“พอปล่อยเพลงแรกออกมาแล้ว Channel [V] Thailand ก็ยกให้เราเป็น V SPOTLIGHT หรือศิลปินที่น่าจับตามอง ก็เลยต้องถ่ายมิวสิกวิดีโอ เราก็ไม่รู้เรื่องหรอกว่าต้องทำอย่างไร แต่รู้ว่าความสวยงามคืออะไร เพราะเราเรียนศิลปะ เลยคุยกันว่า MV ต้องเป็นทะเล เลยไปถ่ายมิวสิกวิดีโอเพลง อบเชย กันที่เกาะช้าง โดยใช้ฟิล์ม 16 มม. ถ่าย” โย่งเล่าสนุกเมื่อได้ย้อนนึกถึงความทรงจำครั้งก่อนบนเก้าอี้รายการ Chairs to Share

 

“ผมจำอะไรไม่ได้เลย จำได้แค่ตัวเองเป่าฟลูตและใส่เสื้อลายมังกรของ SODA” อ้วน-อธิษว์ ศรสงคราม มือฟลูตประจำวง เสริมเรื่องเล่าแบบสั้น กระชับ ตามสไตล์เขา

 

“ตอนเอาเทปที่ถ่ายเสร็จแล้วไปให้เพื่อนในคณะดู ทุกคนกรี๊ดกันหมดเลย โดยเฉพาะช็อตที่อ้วนสะบัดน้ำทะเล ช็อตนั้นเพื่อนในคณะกรี๊ดมาก หล่อ เท่” โย่งเล่าไปยิ้มไปเมื่อนึกถึงความสนุกเมื่อครั้งที่ทั้งคู่ก้าวสู่สถานะการเป็นศิลปินในขณะที่ยังเป็นนักศึกษาศิลปะที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกัสมาชิกในวงอีก 2 คนอย่าง ผึ้ง-จตุตถพงศ์ รุมาคม (กีตาร์) และ จ้อ-พีระพล ลีละเศรษฐกุล (เบส / แซกโซโฟน) ที่เป็นรุ่นพี่สถาบันเดียวกัน 

 

“พอปล่อย MV ไปแล้วก็มีคนพูดถึงเยอะ เริ่มมีรายการเข้ามาขอสัมภาษณ์ที่ค่ายเยอะขึ้น พอปล่อยเพลงที่ 2 คือเพลง อยากกลับไปหา ด้วยท่วงทำนองที่ Pop มากขึ้นก็ยิ่งเข้าถึงง่าย ตัวเพลงพูดเรื่องความคิดถึง การอยู่ห่างไกลกัน ซึ่งค่อนข้างโรแมนติกมาก เลยทำให้วงถูกพูดถึงเยอะขึ้นเรื่อยๆ” 

 

นอกจากตัวเพลงจะทำงานได้ดีแล้ว รูปลักษณ์ของหนุ่มๆ วงนี้ก็ถูกใจ ‘เด็กแนว’ แบบครบสูตร ทั้งสไตล์การแต่งตัวและทรงผมของอ้วนและโย่งถือเป็นต้นแบบของแฟชั่นในยุคนั้น เกิดฐานแฟนเพลงที่เริ่มขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่วงเดินทางไปเล่นดนตรีในงานแคมปัสทัวร์ 

 

ในเวลาเดียวกับที่ Armchair กำลังเนื้อหอม สถานีวิทยุขวัญใจคอเพลงอินดี้ในยุคนั้นอย่าง 104.5 Fat Radio ก็จัดงาน Fat Festival ครั้งแรกขึ้นในวันที่ 1-2 กันยายน 2544 ที่โรงงานยาสูบเก่า ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์วงการเพลงไทย เพราะเป็นเทศกาลดนตรีที่แจ้งเกิดศิลปินหลายคน ซึ่งวง Armchair คือหนึ่งในนั้น

 

“งาน Fat ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะใหม่มากในตอนนั้น มีทั้งการขายหนังสือทำมือ ขายเสื้อยืด ศิลปินที่ไม่แมสได้มีพื้นที่แสดงบนเวที พอมีงานนี้ขึ้นกลายเป็นว่ามีคนหาสเปซแบบนี้อยู่เยอะมาก แล้วสถานที่จัดงานในตอนนั้นอย่างโรงงานยาสูบเก่าก็ทำให้เราต้องเล่นดนตรีไปด้วย คอยหลบอิฐและหินที่โรยตัวลงมาด้วย จำได้เลยตอนกำลังเล่นเบสเพลง สิมิลัน หินหล่นใส่มือ!” นักร้องนำเล่าประสบการณ์สนุกที่จำได้ไม่ลืม

 

“ถือเป็นความทรงจำที่ดีมาก เพราะเป็นครั้งแรกของพวกเราเหมือนกันที่หลังจากเล่นคอนเสิร์ตแล้วได้เดินออกมาปะปนกับแฟนเพลง เป็นครั้งแรกที่ใกล้ชิดขนาดนั้น จากที่ปกติเล่นคอนเสิร์ตเสร็จแล้วต้องขึ้นรถตู้กลับเลย” 

 

ไปด้วยกันรึเปล่า

 

Armchair ออกอัลบั้มที่ 2 ในชื่อ Design ตามมาในปี 2546 โดยมีความเป็น Electropop มากขึ้น และมือฟลูตหน้าหยกคนเดิมก็เปลี่ยนมาประจำตำแหน่งมือคีย์บอร์ด อัลบั้มนี้มีเพลงที่คนรู้จักมากยิ่งขึ้นทั้งเพลง รึเปล่า, Minute of Love และ วันที่ฉันป่วย ฯลฯ ก่อนที่จะออกอัลบั้มที่ 3 อย่าง Spring ตามมาติดๆ ในปีถัดมา มีเพลงดังอย่างเพลง ไปด้วยกันรึเปล่า และเพลง รักแท้ ที่ถึงตอนนี้ชื่อชั้นของ Armchair ก็เป็นที่ประจักษ์ในฝีมือเป็นอย่างดี จนไม่ต้องการคำแนะนำแต่อย่างใด

 

“การเดินทางของวง Armchair กับชีวิตผมเริ่มต้นพร้อมกัน ผมมี Armchair เป็นสถานศึกษา มีเส้นทางชีวิตที่ต้องตะเกียกตะกายดิ้นรนไปเรื่อยๆ บนเส้นทางที่เราอยากจะเป็น ผมเติบโตไปพร้อมกับเพลงของ Armchair ตั้งแต่ชุดแรกที่เป็น Bossa Nova และ Easy Listening ที่เราปล่อยไปแบบไม่ได้คิดอะไรมาก ชุดที่ 2 เป็น Pop ที่อยู่บนความคาดหวังของคนฟังแล้ว เราจึงต้องรู้ว่าเราทำเพลงไปเพื่ออะไร พอมาถึงชุดที่ 3 เริ่มหนักหน่วงขึ้น มีเพลงที่เนื้อหาพูดตรงหรือพูดแรงขึ้นเหมือนกับชีวิตที่เติบโตขึ้น จนกระทั่งมาถึงชุดที่ 4 อย่าง Tender ที่อ้วนเองก็บอกกับวงมาสักพักแล้วว่าเขาจะพอแค่ชุดที่ 3” โย่งเล่าถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Armchair เมื่อมือคีย์บอร์ดขอแยกย้ายไปตามความฝันบนเส้นทางที่ตนเลือกเดิน 

 

“จริงๆ คุยมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนทำอัลบั้มชุดที่ 2 แล้วว่าผมอยากไปเรียนศิลปะ แต่ก็ลากยาวไปจนถึงอัลบั้มที่ 4 ถึงค่อยไป” อ้วนย้อนเล่าถึงวันที่เขาแยกย้ายไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่ประเทศเยอรมนี 

 

“อ้วนมีแพสชันด้านศิลปะและเขาตั้งใจทำในสิ่งที่ตั้งเป้าไว้แล้ว ซึ่งเราเข้าใจ ส่วนเป้าของผมเริ่มมุ่งไปที่ Armchair อย่างเดียว เพราะวงกำลังไปได้สวย พอมหาวิทยาลัยที่นั่นตอบรับมา พวกเราก็ไปส่งอ้วนที่สนามบิน ตื่นเต้นดีใจไปด้วย ไปเยอรมนีเลย เจ๋งว่ะ เหมือนเห็นเพื่อนไปโอลิมปิก เรารู้สึกว่าต้องเชียร์” โย่งบอก

 

 

“ผมรู้สึกว่าเราไม่ใช่ตัวเมน เราเป็นมือคีย์บอร์ดกับฟลูต ไม่ใช่โครงสร้างหลักของวงที่ถ้าไม่อยู่แล้วจะมีปัญหาขนาดนั้น ผมเลยไม่ได้รู้สึกผิดอะไรมาก ก็ไปตามที่เราอยากไปเหมือนเดิม” อ้วนพูดตรงๆ นิ่งๆ ตามสไตล์ของเขาที่โย่งบอกว่า นี่แหละเสน่ห์ในแบบอ้วนที่หลายคนชอบ

 

“แต่ในมุมของวงกับแฟนเพลง อ้วนคือโครงสร้างหลัก ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนในวงเป็นโครงสร้างหลักหมดเลย” โย่งย้ำในความสำคัญของทั้ง 4 คนที่รวมกันเป็น Armchair

 

“หลังจากอ้วนไปเรียนแล้วก็เป็นช่วงที่วงเดินสายทัวร์กันจนเหนื่อยมาก ร้องเพลงเดิมๆ ขึ้นรถตู้ไปซาวด์เช็ก กลับบ้าน เริ่มมีความเหนื่อยบางอย่างจนทุกคนขอพักไปทำอย่างอื่น เช่น ผมไปออกอัลบั้มกับคุณก้อย (วลัยลักษณ์ มุสิกโปฎก หรือ ก้อย Saturday Seiko – ภรรยาของโย่ง) ไปอีเวนต์ ไปเป็นนักแสดง พี่ผึ้งก็ถ่ายภาพกับทำขนม พี่จ้อไปเป็นอาจารย์สอนเซิร์ฟที่เขาหลัก แข่งแชมป์โลกจริงจังมาก และผมเองก็มีช่วงหนึ่งที่ขี่ม้าโปโลจนได้เป็นทีมชาติ จนวันหนึ่งเริ่มรู้สึกว่า จริงๆ แล้วเราเป็นนักร้อง อยากร้องเพลงมากกว่า ถ้าอย่างนั้นกลับมาทำเพลงอีกดีกว่า เลยคุยกับพี่จ้อและพี่ผึ้งมาทำเพลงกันอีกสักชุด” 

 

 

คุณเก็บความลับได้ไหม

 

“ผมเชื่อว่าหลังจากห่างหายกันไปหลายปี พี่ผึ้ง พี่จ้อ หรือแม้แต่ผมเองก็ต้องมีเพลงทำไว้บ้างแหละ” โย่งเล่าถึงการกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งมีผลผลิตเป็นอัลบั้ม Timeless ในปี 2553

 

“ก่อนหน้านั้นเราไปเดินเที่ยวงาน Fat 2-3 ครั้งโดยไม่มีอัลบั้มใหม่ ทั้งที่จริงๆ แล้วเราต้องไปอยู่บนเวที นั่นคือที่ของเรานะ คิดได้ดังนั้นก็เลยทำเพลงขึ้นมาคือเพลง คุณเก็บความลับได้ไหม ซึ่งก็แอบคาดหวังและกดดันกว่าตอนทำอัลบั้มติดต่อกันทุกปี คิดเอาไว้ว่าถ้าไม่เวิร์กก็จะไม่ทำแล้ว”

 

 

คงไม่ต้องบอกว่าผลลัพธ์คืออะไร เมโลดี้ของ Armchair ยังคงทำงานได้ดีเหมือนในวันแรกที่พวกเขาปล่อยเพลงออกมาให้พวกเราได้ฟัง เพราะ คุณเก็บความลับได้ไหม ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ของคลื่นวิทยุยอดนิยมในยุคนั้นเกือบครบทั้งหน้าปัด เช่น 89 Chill FM, 94 EFM, 98.5 Good FM ฯลฯ โดยผลสำรวจจาก EFM Top Airplay ตอกย้ำว่าเพลงนี้ขึ้นแท่นเพลงที่ถูกเปิดมากที่สุดบนหน้าปัดวิทยุของประเทศไทย 

 

คุณเก็บความลับได้ไหม ขึ้นอันดับ 1 นาน 2-3 เดือน ประกอบกับตอนนั้นเป็นยุคที่มี Music Festival เกิดขึ้นมากมาย Armchair จึงได้กลับมาทัวร์เยอะขึ้น มีน้องๆ พี่ๆ มาช่วยเล่นดนตรี ทำให้เราใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในเพลงได้เต็มที่ขึ้น มีทั้ง Rock, Disco แหกปากลั่น กลายเป็นวงที่ได้เล่นท้ายๆ ของงาน เหมือนเราอัดอั้น คิดถึงเวที สนุกมากกับการได้กลับมาอีกครั้ง”

 

Armchair กลับมายึดพื้นที่การแสดงสดบนเวทีงาน Fat สมความตั้งใจในปีถัดมา และออกจะเกินความคาดหมายเสียด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาได้ครอบครองทั้งเวทีในคอนเสิร์ต Fat Live Armchair ซึ่งมีที่สุดแห่งเหตุการณ์พิเศษที่หลายคนประทับใจไม่ลืมนั่นคือ โย่งขอก้อยแต่งงานท่ามกลางสักขีพยานมากมาย รวมถึงอ้วนที่กลับมาร่วมคอนเสิร์ตใหญ่ในครั้งนั้น ก่อนที่ในอีก 4 ปีถัดมา Armchair จะเปิดการแสดงแบบสมาชิกครบวงอีกครั้งใน คอนเสิร์ต Armchair Live ตอน อ้วน รีเทิร์น เมื่อเดือนมีนาคม 2558 สร้างความประทับใจให้แฟนเพลงที่ได้สัมผัสบรรยากาศเก่าๆ เมื่อครั้งเพิ่งเริ่มตกหลุมรักวงดนตรี Bossa Nova ของไทยวงนี้

 

Armchair Original

ผ่านเวลามาอีกเกือบสิบปี ปัจจุบันคำว่า ‘โลกไร้พรมแดน’ ไม่ได้เป็นคำที่ต้องการนิยามอะไร แต่แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตผู้คนไปแล้ว ด้วยความก้าวหน้าของโซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนทุกอย่างไปโดยสิ้นเชิง เฉพาะวงการเพลงเองก็ไม่มีคำว่ากำแพงระหว่างค่าย หมดสมัยไปแล้วกับยุคเรียกร้องเพื่อลิขสิทธิ์ต่อต้าน MP3 (Gen Me ถึงกับงงว่าลุงกำลังพูดถึงอะไรอยู่?!) ใครมีความสามารถก็สามารถอัปโหลดความเก่งของตัวเองสู่สายตาผู้คนได้ทันที จะเป็น Vlogger, Influencer หรือเป็นศิลปินในรูปแบบไหนก็ไม่ต้องรอ

 

ยุคนี้ พ.ศ. นี้ จึงเป็นขวบปีที่ความคิดถึงทำงานหนักเป็นพิเศษ คอนเสิร์ตรวมดาวชาวศิลปินยุค 90 จนถึงยุค 2000 เป็นกิจกรรมบันเทิงที่คน Gen Y ยินดีจ่ายค่าตั๋วเพื่อจะได้กลับไปสนุกเมื่อตอนเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง นั่นทำให้การกลับมารวมตัวแบบครบวงอีกครั้งของ Armchair ใน The Concert Presents Armchair Original Concert  คือหนึ่งในที่สุดที่เด็กแนวเมื่อ 20 กว่าปีก่อนรอคอย โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาใช้คำว่า ‘คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้าย’

 

 

“ไม่ได้จะยุบวงหรอกครับ” โย่งย้ำด้วยรอยยิ้ม

 

“เราแค่ไม่ได้จะทำวงกันจนหงำเหงือก วงดนตรีสำหรับผมเป็นเหมือนสถาบันศึกษาที่วันหนึ่งเราก็ต้องเรียนจบ แน่นอนว่าทุกคนต้องมีเรื่องราวดีๆ เวลาอยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่เราต่างก็ต้องเติบโตและใช้ชีวิต ด้วยวันเวลาที่ผ่านไป ทั้งอายุและแพสชันของแต่ละคนในวงที่ไม่เหมือนกันแล้ว ทำให้การรวมตัวกันยากมาก ผมเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็มาเจอกันอีกสักครั้ง ให้คนที่คิดถึงเรามาหลายปี คนที่เจอกันมาตั้งแต่เพลงแรกคือเพลง อบเชย จนถึงเพลงล่าสุด ได้มาอยู่ในบรรยากาศที่คิดถึงกัน มาเจอกันหน่อยไหม จะได้ไม่คาใจว่ายังไม่ได้เจอกันเลยนะ จะไปแล้วเหรอ บอกลากันแบบออฟฟิเชียลนิดหนึ่ง เก็บไว้เป็นความทรงจำ

 

“ความทรงจำของเรามีปลายทางเป็นจุดสิ้นสุด เราไม่ได้จะหายไปเฉยๆ แล้วเราก็ไม่ได้บอกเลิกกัน Armchair เป็นปาร์ตี้หนึ่งในชีวิต เรารู้จักกันแล้ว แต่การที่จะมาทำอะไรร่วมกันที่ย้อนอดีตและมีค่าน่าจะมีแค่ครั้งเดียว เลยประกาศว่าเป็นครั้งสุดท้าย ไม่เพิ่มรอบ อยากให้เป็นครั้งเดียวที่ตู้ม!” 

 

การแสดงสุดท้ายรอบเดียวของ The Concert Presents Armchair Original Concert จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.00 น. ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี แฟนดนตรี Armchair จับจองบัตรได้แล้วตั้งแต่วันนี้

และก่อนที่จะไปเจอกันในคอนเสิร์ต มาย้อนคุยกันแบบสนุกและมีความสุขกับโย่งและอ้วน Armchair ในรายการ Chairs to Share เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องความทรงจำ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X