อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ‘การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล’ ที่จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ปีที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างรัฐ อย่างการใช้บล็อกเชนการออกหนังสือรับรองสินเชื่อ ระบบการซื้อขายเงินบาทบอนด์สำหรับผู้ออมรายย่อย ฯลฯ
ทั้งนี้จึงขอฝาก 5 โจทย์สำคัญให้ ก.ล.ต. ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ได้แก่
- การใช้กลไกและเครือข่ายของตลาดทุน ในการสนับสนุนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
- สร้างระบบเพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบทางการเงินและตลาดทุน ที่เท่าเทียมกัน ทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่
โดยส่วนนี้จะต่อยอดในการประชุมระดับภูมิภาค ทั้งการประชุม ASEAN Finance Ministers ในสัปดาห์หน้า (29 มีนาคม- 2 เมษายน) และปีหน้าที่ไทยจะเจ้าภาพการจัดประชุม APEC
- การเสริมศักยภาพตลาดทุนและกฎต่างๆ ที่จะปรับให้สอดรับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการกำกับจะต้องเข้มข้นขึ้น ซึ่งล่าสุดมีการพูดคุยกับ ก.ล.ต. เรื่องความเสี่ยง Digital Asset และ Cryptocurrency ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. และ ธปท.
- ให้ตลาดทุนเป็นแหล่งสนับสนุนกิจการที่ให้ความสำคัญกับ ESG (ในมิติสังคม สิ่งแวดล้อม และหลักธรรมาภิบาล) ที่เวทีโลกให้ความสำคัญมาก
- การผลักดันให้ตลาดทุนเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับตลาดทุน และส่งเสริมให้เกิดการระดมทุนดิจิทัลในรูปแบบ Security Token Offering หรือ STO
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล มีการพัฒนามาต่อเนื่องและเห็นชัดในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ปี 2563-2564 โดยล่าสุดได้รับการสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ในการตั้งบริษัท ซีเอ็มดีเอฟโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด (CMDF Digital Infrastructure Co. Ltd.) เพื่อพัฒนาและบริหารระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาคตลาดทุน
นอกจากนี้สิ่งที่ตลาดทุนต้องให้ความสำคัญในระยะข้างหน้าคือ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการคุ้มครองรักษาข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้การใช้ดิจิทัลส่งผลดรต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง