×

‘อาคม’ หวังผลักดันสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นช่องทางระดมทุนให้อุตสาหกรรมเป้าหมาย

26.01.2022
  • LOADING...
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รมว.คลัง ยืนยันสิ้นเดือนนี้ได้ข้อสรุปรายละเอียดจัดเก็บภาษีคริปโต หลังหารือภาคเอกชน อยากเห็นแนวทางภาษีเพื่อส่งเสริมธุรกิจมากกว่า พร้อมยึดผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง หวังใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นช่องทางระดมทุนให้อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ด้าน ก.ล.ต. เผยแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี เน้นสร้างตลาดทุนดิจิทัล พร้อมดึงเอกชนและหน่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมเสนอแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในหัวข้อ The Big Policy: ทิศทางสินทรัพย์ดิจิทัลกับนโยบายการคลัง ในงานสัมมนา อนาคต Crypto อนาคต Thailand ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่าภาครัฐเห็นความสำคัญของฟินเทคและสินทรัพย์ดิจิทัล โดยในปี 2561 ได้ออก พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงประมวลรัษฎากรที่ออกมาในปีเดียวกัน ซึ่งการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เพิ่งเริ่มเก็บในปี 2565 นี้ แต่มีระบุไว้ในกฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว ทั้งในเรื่องของศูนย์การซื้อขายไม่ว่าจะเป็น Exchange และโบรกเกอร์ รวมถึงการระดมทุนผ่าน ICO

 

เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงการคลัง โดยสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้หารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าดิจิทัลไทยและผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหาและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการกำหนดการคำนวณภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและสร้างความเป็นธรรมโดยไม่สร้างความยุ่งยากและเป็นภาระให้กับผู้มีเงินได้

 

ทั้งนี้ จากการหารือกับสมาคมต่างๆ ส่วนใหญ่อยากให้เป็นภาษีในแนวทางของการส่งเสริมมากกว่าภาษีที่ไม่ส่งเสริมธุรกิจ โดยแนวนโยบายภาษีมี 2 แนว คือส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใดๆ เช่น ลดหย่อยหรือยกเว้น ซึ่งก็มีเวลาที่แน่นอน กับมาตรการอีกด้านคือภาษีที่ไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้วกรมสรรพากรจะกำหนดแนวทางปฏิบัติและหาข้อสรุปในสิ้นเดือนนี้ โดยเน้นหลักการว่าต้องไม่ยุ่งยากกับผู้เสียภาษี

 

“กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการสร้างเศรษฐกิจโดยไม่กระทบระบบการเงินปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์เรื่องกฎหมายที่ออกมาก่อนหน้านี้อาจจะยังไม่ทั่วถึง ทำให้คิดว่าเรื่องนี้เป็นภาษีใหม่ แต่จริงๆ มีการกำหนดไว้อยู่แล้ว การพิจารณาเก็บภาษีนี้ยังคงยึดแนวทางผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้นักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องจากการถือครองหรือได้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการลงทุนและสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรให้การซื้อขายหรือการระดมเงินทุนผ่านไปถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล หากส่งผ่านทุนนี้ไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน ก็จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ”

 

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในหัวข้ออนาคตสินทรัพย์ดิจิทัล: ภาษี Crypto ว่าแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ในปี 2565-2567 จะให้น้ำหนักกับเรื่องตลาดทุนดิจิทัลมากกว่าเรื่องอื่นๆ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ ทั้งการพัฒนาระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี มาพัฒนาและกำกับตลาดทุนเพื่อประโยชน์ของประเทศ

 

ขณะเดียวกันแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 นั้น ก.ล.ต. ได้เชิญผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาร่วมในคณะทำงาน รวมถึงเชิญสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศมาร่วมกันกำหนดแผนพัฒนาตลาดทุนครอบคลุมถึงฟินเทค สตาร์ทอัพและเทคเฟิร์มต่างๆ ด้วย

 

นอกจากนี้ในการแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ที่ได้เสนอร่างกฎหมายไปยังกระทรวงการคลังแล้วเมื่อไตรมาส 3 ของปี 2564 โดยได้แยกสินทรัพย์ดิจิทัลในส่วนที่เป็นการระดมทุนผ่าน ICO ให้มาอยู่ใต้กฎหมายหลักทรัพย์ เพื่อใช้ดิจิทัลโทเคนเป็นช่องทางระดมทุนทางเศรษฐกิจ โดยมีกรอบการพัฒนาและกำกับดูแลเช่นเดียวกับหลักทรัพย์ ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้ระดมทุนไปแล้ว 1 ราย และยังอยู่ในแผนอีกหลายราย ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) อยู่ถึง 7 รายแล้ว

 

“ก.ล.ต. ไม่เคยปฏิเสธประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในตลาดทุน เพราะเห็นประโยชน์การนำบล็อกเชนมายกระดับตลาดทุนไทยไปสู่สากลมากขึ้น หากเป็นไปตามแผน ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่นำบล็อกเชนมาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญตลอดสาย (End to End) ของตลาดทุนไทย”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X