รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวว่า ไทยไม่รีบร้อนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดช่องว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มกว้างขึ้น เนื่องจากไทยยังคงมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนผู้กำหนดนโยบายไทยมองโลกแง่ดีเกินไป เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และแนวโน้มว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับสำนักข่าว CNBC ว่า ไทยยังคงมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ดังนั้น ประเด็นเรื่องการไหลออกของเงินทุนจึงไม่เป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
พร้อมทั้งระบุว่า แทนที่จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย สิ่งสำคัญคือไทยต้องใช้แนวทางนโยบายการเงินที่สมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ
ทั้งนี้ เงินทุนไหลออก (Capital Flight) มักเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนนำทรัพย์สินหรือเงินออกจากประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในประเทศอื่น อย่างเช่น เมื่ออัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงขึ้น นักลงทุนก็จะไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ แทน
อาคมกล่าวอีกว่า หลายประเทศกำลังขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพียงเพื่อทำให้ช่องว่างความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของ Fed และอัตราดอกเบี้ยในท้องถิ่นกว้างขึ้น แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศไทย โดยไทยยังคงมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ แม้ตลาดหุ้นของไทยจะผันผวนมากในเวลานี้
นักเศรษฐศาสตร์เตือนผู้กำหนดนโยบายไทยมองโลกแง่ดีเกินไป
อย่างไรก็ตาม Gareth Leather นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสเอเชียจาก Capital Economics มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมองโลกในแง่ดีเกินไป เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงราว 12% ในช่วงปีที่ผ่านมา และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในแง่ของนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของไทยกำลังวางเดิมพันในเรื่องเหล่านี้
Leather ยอมรับว่า ปัจจัยที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยให้สูงขึ้นมาจากราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งอยู่ในฝั่งอุปทาน ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นจึงจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตาม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในเดือนมกราคมเป็น 7.9% ในปัจจุบัน ถือเป็นความเสี่ยง
ทั้งนี้ เป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. อยู่ระหว่าง 1-3% อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมของไทยอยู่ที่ 7.86%
เมื่อเดือนสิงหาคม ธปท. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% และอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนระยะ 1 วัน (One-day Repurchase Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง อยู่ที่ 0.75% โดยครั้งล่าสุดที่ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงคือเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2018
อาคมกล่าวอีกว่า ตนไม่กังวลเกี่ยวกับหนี้ต่างประเทศของไทย แม้ว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากไทยมีกลไกในการขับเคลื่อนการเติบโตอื่นๆ นอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลคาดว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8-10 ล้านคนในปีหน้า หรือประมาณ 1 ใน 4 ของตัวเลขก่อนเกิดโควิด
ขณะที่ Chua Han Teng นักเศรษฐศาสตร์ของ DBS Group Research กล่าวว่า มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในตลาดตราสารทุนและพันธบัตรของไทยตั้งแต่ต้นปี พร้อมคาดว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไม่รุนแรงมากนัก
“ความคาดหวังของเราคือให้ ธปท. ดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และปรับนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ (Monetary Normalization) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ราบรื่น” Chua Han Teng กล่าว
อย่างไรก็ตาม Chua Han Teng ยังมองว่า ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยกับสหรัฐฯ อาจเป็นปัญหาสำหรับไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Fed ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงการไหลออกของเงินทุนสูงขึ้น
อ้างอิง: