×

“ใช้เนื้อหนังเป็นกระดาษ เอาโลหิตเป็นหมึก” อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักประพันธ์ผู้รุ่งโรจน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์

18.11.2018
  • LOADING...

เรียนแฟนเพจทุกท่าน เรามีความเศร้าอย่างยิ่งที่จะแจ้งให้ทราบว่า คุณลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์ อันเป็นที่รักของเราทุกคน ถึงแก่มรณกรรมแล้วเมื่อเวลาประมาณ 17.44 น. ณ โรงพยาบาลบางไผ่ ของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 สิริรวมอายุ 91 ปี 1 เดือน 6 วัน

 

เพจอาจินต์ ปัญจพรรค์ ขอกราบลาคารวะด้วยความอาลัยอย่างที่สุด

 

ข้อความผ่านแฟนเพจของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ทางเฟซบุ๊ก

 ได้แจ้งข่าวสำคัญที่ไม่มีแฟนตัวอักษรคนใดอยากอ่านพบ เนื้อข่าวนั้นได้แจ้งว่านักเขียนระดับบรมครู อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2534 และรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2535 นั้นได้บอกลาบรรณพิภพไปแล้ว  

 

แต่ท่ามกลางความเศร้าอาลัยของแฟนอักษร สิ่งที่เราค้นพบเสมอเกี่ยวกับ ‘ความตาย’ คือชีวิตมนุษย์นั้นช่างแสนบอบบางและแสนสั้น แต่ผลงานและการกระทำต่างหากที่ฝาก ‘ค่าแห่งชีวิต’ ให้ผู้คนได้จดจำ เช่นเดียวกับค่าของผลงานที่อาจินต์ได้ฝากไว้นั้นเป็นดั่ง ‘สายแร่’ ที่ทั้งสอนชีวิตและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนจวบจนวาระสุดท้าย

 

อาจินต์ ปัญจพรรค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2470 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม หลังจากเรียนจบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อาจินต์เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะถูกรีไทร์ในปีที่ 2 ของการเรียน

 

ซึ่งจุดจบจากรั้วสถาบันการศึกษานี่เองที่ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นแห่งชีวิต จุดเริ่มต้นซึ่งได้หล่อหลอมเด็กหนุ่มคนหนึ่งให้ได้กลายเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์

 

ในเวลานั้นอาจินต์ได้นำพาชีวิตล้มเหลวในมหาวิทยาลัยเดินทางไกลไปสิ้นสุดลงที่ ‘เหมืองกระโสม ทิน เดรดยิง’ (Krasom Tin Dredging) ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เหมืองแร่ดีบุกในยุคที่กิจการเหมืองแร่ในไทยยังเฟื่องฟู เขาทำงานเป็นช่างเขียนแบบและขยับสู่ตำแหน่งช่างทำแผนที่ หลังจากทำงานในเหมืองแร่ได้ 4 ปี อาจินต์เดินทางกลับมากรุงเทพมหานครเพื่อเริ่มต้นชีวิตครั้งใหม่โดยใช้ ‘ตัวอักษร’ เป็นตัวขับเคลื่อนชีวิต

 

ผลงานอันโดดเด่นของเขาตลอดช่วงชีวิตคืองานเขียนนวนิยายทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาวมากมาย ซึ่งลงตีพิมพ์ทั้งในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร โดยเฉพาะหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ชื่อ ตะลุยเหมืองแร่ ซึ่งพิมพ์ต่อเนื่องในนิตยสาร ชาวกรุง ตลอด 30 ปี รวมทั้งสิ้น 142 ตอน และได้กลายเป็นงานยอดนิยมในระดับอมตะมาจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้อาจินต์ยังได้รับการยกย่องยอมรับในบทบาท ‘บรรณาธิการ’ โดยเขาเริ่มต้นเส้นทางนี้จากการก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตนเองด้วยแนวคิดสุดก้าวหน้าคือ เขียนเอง พิมพ์เอง และขายเอง ในชื่อ ‘โอเลี้ยงห้าแก้ว’

 

“5 บาทที่ท่านจะกินโอเลี้ยง 5 แก้ว ขอให้ข้าพเจ้าเถิด แล้วเอาหนังสือที่ใช้เนื้อหนังเป็นกระดาษ เอาโลหิตเป็นหมึกเล่มนี้ไปอ่าน ได้ความขมความหวานและเก็บไว้ได้ยั่งยืนกว่าโอเลี้ยงมากนัก” (จากหนังสือ คมอาจินต์ รวมคำคมคัดสรร 500 คมของอาจินต์ ปัญจพรรค์ จัดพิมพ์ในวาระ 50 ปี สำนักพิมพ์โอเลี้ยงห้าแก้ว)

 

จากนั้นได้ร่วมก่อตั้งโรงพิมพ์อักษรไทยและสร้างนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ โดยฉบับปฐมฤกษ์วางแผงออกมาในวันจักรี 6 เมษายน 2512 และสิ้นสุดการตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายในเดือนตุลาคม 2531

 

 

นิตยสารในเครือ ฟ้าเมืองไทย ถือเป็นนิตยสารที่โด่งดังอย่างมากในหมู่นักอ่านรุ่นใหม่ นอกจากสร้างรากฐานให้กับผู้อ่านตลอด 19 ปี แต่นิตยสาร ฟ้าเมืองไทย, ฟ้าเมืองทอง, ฟ้านารี, ฟ้าอาชีพ และ ฟ้า ยังได้ผลิตนักเขียนและบุคลากรในสายงานสร้างสรรค์ตามออกมาอีกจำนวนมาก

ตัวอักษรของอาจินต์นั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่หน้ากระดาษ แต่เขายังสนใจในเรื่องการแต่งเนื้อเพลง โดยมีผลงานซึ่งเคยได้รับความนิยม อาทิ การแต่งคำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ ไร้จันทร์ จากทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ No Moon ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

 

รวมถึงเพลงประกอบละคร สวัสดีบางกอก และ อย่าเกลียดบางกอก เพลงประกอบภาพยนตร์ เงิน เงิน เงิน กำกับโดย ดอกดิน กัญญามาลย์ และอีกมากมาย

 

นอกจากผลงานผ่านตัวอักษร THE STANDARD POP มองว่าชีวิตและการทำงานของของอาจินต์นั้นสร้างทั้งแรงบันดาลใจและเป็น ‘บทเรียน’ ให้แก่ทุกคนที่ได้ผ่านเข้ามารู้จักกับเขาได้รู้ว่า ‘ชีวิตนั้นล้มแล้วก็สามารถจะเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ’

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X