หุ้นอรินสิริ แลนด์ หรือ ARIN วิ่งรับข่าวธุรกิจอสังหาฟื้น ขณะที่โบรกเกอร์เตือนสัญญาณทางเทคนิคบ่งชี้ราคาหุ้นแพงเกิน แนะเร่งขายล็อกกำไร เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
บมจ.อรินสิริ แลนด์ (ARIN) ผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง นับเป็นหุ้นตัวแรกของปี 2565 ที่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ใช้มาตรการกำกับการซื้อขายเข้มงวดครบทั้ง 3 ระดับ ภายในระยะเวลาเพียง 3 วันทำการ
เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลท. ประกาศให้หุ้นตัวนี้เข้ามาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 โดยกำหนดให้สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น ทำให้ลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 7-25 กุมภาพันธ์ 2565
สาเหตุที่ ตลท. ตัดสินใจใช้มาตรการดังกล่าว เพราะราคาหุ้น ARIN สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการปรับตัวร้อนแรงขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายที่ 2.40 บาท ก่อนจะย่อตัวลงมายืนปิดที่ 2.36 บาท เพิ่มขึ้น 18% ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายที่โป่งพองขึ้นไปมากถึง 279.78 ล้านบาท
กระทั่งวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งนับเป็นวันแรกของการถูกจับขังด้วยมาตรการระดับ 1 แต่หุ้น ARIN กลับดื้อยา ยังคงพุ่งทะยานจนราคาหุ้นวิ่งชนเพดานการซื้อขายสูงสุด (ซิลลิ่ง) โดยมาปิดการซื้อขายที่ 3.06 บาท เพิ่มขึ้น 29.66% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นกว่า 335 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ ตลท. จึงต้องตัดสินใจยกระดับมาตรการกำกับดูแลหุ้น ARIN เข้าสู่ระดับ 2 คือ ห้ามสมาชิกใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชี และลูกค้ายังต้องซื้อหุ้นตัวนี้ด้วยบัญชีเงินสดเช่นเดิม รวมทั้งยังขยายเวลาจับขังหุ้น ARIN ออกไป โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8-28 กุมภาพันธ์ นับเป็นการปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้นภายในเวลาเพียง 1 วันทำการเท่านั้น
แต่ผลของมาตรการกำกับระดับ 2 ยังไม่สามารถหยุดยั้งความร้อนแรงของหุ้นตัวนี้เอาไว้ได้ เพราะในการซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น ARIN ยังคงทะยานขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 3.94 บาท และย่อตัวลงมายืนปิดที่ 3.70 บาทเพิ่มขึ้น 20.92% โดยวอลุ่มการซื้อขายกระโดดขึ้นไปถึง 544.87 ล้านบาท
การพุ่งทะยานของราคาหุ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ ตลท. ต้องตัดสินใจยกระดับมาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นตัวนี้ขึ้นสู่ระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด โดยห้ามสมาชิกหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน ห้ามใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันในการคำนวณเป็นวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ในทุกประเภทบัญชี และลูกค้าต้องซื้อหุ้นด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น รวมถึงขยายระยะเวลาในการจับขังหุ้นตัวนี้ออกไปเป็นระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นการยกระดับการกำกับสู่ระดับเข้มข้นสูงสุดขึ้นจากระดับ 2 ภายใน 1 วันทำการอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากติดตามความเคลื่อนไหวของหุ้นตัวนี้ย้อนหลังกลับไปในช่วง 1 เดือนก่อนหน้านี้คือ ราวๆ ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาจะพบว่า มูลค่าการซื้อขายหุ้น ARIN ได้เริ่มส่งสัญญาณความผิดปกติมาก่อนแล้ว โดยวอลุ่มเริ่มขยับขึ้นมาจากที่เคยซื้อๆ ขายๆ กันต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มสูงขึ้นเป็น 35 ล้านบาทต่อวัน เมื่อวันที่ 12 มกราคม
และต่อมาแม้วอลุ่มจะแผ่วลง แต่มีข้อสังเกตว่าความเคลื่อนไหวของหุ้นตัวนี้จากเดิมที่เจอแรงขาย ทำให้ราคาหุ้นส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบได้ตีกลับ โดยราคาเริ่มขยับจากแรงขายกลายเป็นแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ประคองให้ราคาหุ้น ARIN เคลื่อนไหวอยู่ได้แถวๆ 2 บาทต้นๆ
ณัฐวุฒิ ศิวะรุจิวงศ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ กล่าวกับ ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า หุ้น ARIN ถือเป็นหุ้นขนาดเล็กที่ไม่มีนักวิเคราะห์ บล. ใดวิเคราะห์ ดังนั้นจึงเป็นหุ้นที่ไม่มีข้อมูลมากเพียงพอในการให้คำแนะนำ
อย่างไรก็ตามจะพบว่า นักลงทุนหันมาเล่นหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นหลังจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ในกลุ่มนี้ทยอยแจ้งออกมา พบว่า ในปี 2564 ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะผู้ประกอบการโครงการแนวราบ
นอกจากนี้ บจ. ในกลุ่มนี้ยังได้รับผลบวกจากการผ่อนคลายมาตรการ LTV และมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะยังคงต่อมาตรการออกไปอีกเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดไว้
ขณะเดียวกันในปีนี้ บจ. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ได้ทยอยประกาศแผนธุรกิจออกมา พบว่า ส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายการเติบโตเพิ่มขึ้น 5-10% จากการเปิดโครงการใหม่มากขึ้น
ณัฐวุฒิยังกล่าวด้วยว่า ในภาวะปัจจุบันยังพบแนวโน้มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จะเข้าไปเทกโอเวอร์รายเล็กมากขึ้น เพราะมองว่าเป็นโอกาสในการได้รับสินทรัพย์หรือที่ดินในราคาที่ถูกลง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนนำมาใช้เก็งกำไรหุ้นกลุ่มนี้
“เท่าที่ดูนักลงทุนเข้ามาเล่นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์แบบไล่เรียงตัว ก่อนหน้านี้เข้าตัวใหญ่ LH, QH, SIRI พอราคาขึ้นไปสูงก็ขายออกและเวียนไปหาตัวใหม่ที่ราคายังไม่ขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ARIN ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามอีกเยอะว่าจะเป็นอย่างไร เพราะบริษัทเองก็แจ้งว่าไม่ได้มีพัฒนาการอะไรใดๆ จึงถือว่ายังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นการลงทุนจึงยังมีความเสี่ยง
ส่วนเทรนด์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ รายใหญ่เข้าไปเทกโอเวอร์รายเล็ก ซึ่งอาจจะซื้อทั้งหมดหรือซื้อเป็นโครงการ เอามาสร้าง มาบริหารเอง โดยจะได้ที่ดินที่ถูกกว่าไปหาซื้อที่ดินใหม่ ขณะที่รายเล็กๆ หากไปต่อไม่ไหวก็อาจตัดสินใจขายออกมา เคสนี้จึงต้องติดตามกัน
บมจ.ARIN มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก (ณ วันที่ 22 มีนาคม 2564) ประกอบด้วย
- บลจ.เกียรตินาคินภัทร จำนวน 130,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 21.67%
- บลจ.บัวหลวง จำกัด จำนวน 91,987,500 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 15.33%
- บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เพื่อ นายสุชาติ ชมกลิ่น จำนวน 79,962,500 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 13.33%
- ลุชัย ภุขันอนันต์ จำนวน 50,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 8.33%
- กนกรัตน์ กนกกาญจนรัตน์ จำนวน 39,529,200 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 6.59%
- พลัฎฐ์ ชมกลิ่น จำนวน 29,850,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 4.98%
- ทองเพียร แสนสร้อย จำนวน 25,528,000 หุ้น คิดเป็นสุดส่วน 4.25%
- วิเชียร ชมกลิ่น จำนวน 14,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.33%
- สมเกียรติ เกื้อกูลพิทักษ์ จำนวน 11,600,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.93%
- ธีรพร มะลิทอง จำนวน 10,300,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.72 %
ด้าน คณฆัส จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า หุ้น ARIN โดนแรงขายหลังชนแนวต้านที่ 3.94 บาท และสัญญาณด้านเทคนิคชี้ว่าราคาหุ้นแพงเกินไป ดังนั้นสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้น เมื่อได้กำไรควรใช้กลยุทธ์การขายล็อกกำไรเพื่อป้องกันความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวล่าสุดของหุ้น ARIN ในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา เริ่มมีแรงเทขายทำกำไรออกมาบ้างแล้ว โดยเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หุ้น ARIN ปิดตลาดลดลงราว 8.1% มาอยู่ที่ระดับ 3.40 บาท
ขณะที่วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) หุ้น ARIN ปิดตลาดที่ 3.28 บาท ลดลง 0.12 บาท คิดเป็นการลดลง 3.53% มูลค่าการซื้อขายรวม 83.32 ล้านบาท