×

เมื่อผู้คนต้องใช้ชีวิตบนวิถีใหม่ เรื่อง ‘พฤติกรรม’ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของสถาปนิก ในวันที่บ้านคือทุกสิ่งหลังโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
30.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (30 พฤษภาคม) ในงานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM หัวข้อ ‘Urban Life Transformation โลกอนาคตของการออกแบบเมือง เมื่อบ้านเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง’ ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SC ASSET กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสของวิกฤตโควิด-19 ได้มีการกระตุ้นหรือปรับชีวิตพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย สถานที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

สิ่งสำคัญคือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบบ้านต้องตั้งโจทย์โดยควรคำนึงถึงเรื่องของพฤติกรรมของคนเป็นลำดับต้นๆ เพราะหลังจากนี้การใช้ชีวิตของคนจะเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ยกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ตอนนี้หลายบ้านได้เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘The Second Workplace’ เพราะยุคนี้คนจะทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่ทำงานแห่งที่สองรองจากออฟฟิศหลัก ฉะนั้นคนทำบ้านต้องเริ่มคิดว่า ต่อจากนี้ภายในบ้านหลังหนึ่งจะทำอย่างไรให้มีที่ทำงานในตัว ที่สามารถทำงานได้อย่างมีสมาธิ ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตในบ้านได้ด้วย

 

ขณะเดียวกันณัฐพงศ์เสริมว่า องค์ประกอบ ‘5H’ ในพื้นที่อาศัยของคนทั่วไปหลังยุคโควิด-19 ที่ควรเริ่มปรับให้เกิดขึ้นจริง หรือโจทย์ที่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับบ้านต้องเรียนรู้ มีดังนี้

 

  • Home: บ้านยุคใหม่ต้องมีพื้นที่เข้าถึงประสบการณ์ใหม่ๆ หรือพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถปรับไว้ใช้งานแบบส่วนตัวได้ เช่น พื้นที่ทำงานที่ปราศจากสิ่งเร้ารบกวน 
  • Health: ที่ผ่านมาผู้คนตระหนักเรื่องสุขภาพกันอยู่แล้ว แต่โควิด-19 จะเร่งให้คนใส่ใจมากขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้นต่อจากนี้การออกกำลังกายในบ้านจะเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ยิม ด้วยระบบเทคโนโลยีต่างๆ ที่กำลังจะเข้ามาช่วยให้การออกกำลังกายในพื้นที่บ้านพักจะไม่น่าเบื่อต่อไป
  • Hygiene: จากสิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้คนกังวลเรื่องความสะอาดมากขึ้น ดังนั้นโจทย์ของผู้ทำบ้านต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ให้พื้นที่กลางเป็นได้ทั้งพื้นที่ส่วนตัวและส่วนรวมในเวลาเดียวกัน และจะรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดอย่างไรหากเกิดขึ้นอีกในอนาคต
  • High Density Fear: ตอนนี้ทุกคนร่วมกลัวการออกไปอยู่ในที่ที่คนรวมกลุ่มเยอะๆ ดังนั้นโจทย์ของคนทำทั้งคอนโดมิเนียมหรือที่พักอาศัยควรทำคือ ทำอย่างไรที่จะให้ความสะดวกสบายเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้พักอาศัยโดยที่ไม่มีความแออัดเลย
  • Happiness: ในช่วงการระบาดของโรค ผู้คนต่างใช้ชีวิตในจังหวะใหม่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะในตอนที่ผู้คนต่างต้องการมีความสุขในทุกสิ่งที่ลงมือทำ ไม่ว่าจะทำงาน, ออกกำลังกาย, ทำอาหาร  ทุกคนก็มีความสุขควบคู่ได้ ดังนั้นในทุกๆ สิ่งที่ผู้อยู่อาศัยได้ลงมือทำในบ้าน ควรเป็นสิ่งที่ขนานไปด้วยการทำอย่างมีความสุขเสมอบนชีวิตวิถีใหม่

 

เมื่อถึงประเด็นเกี่ยวกับผังเมืองของสังคมเมือง หรือชุมชนที่น่าอยู่และปลอดภัยหลังโควิด-19 ควรมีโฉมหน้าแบบไหน ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เริ่มกล่าวเห็นด้วยกับแนวคิด ‘5H’ ของ ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ พร้อมระบุว่า ถ้าการออกแบบผังเมืองได้องค์ประกอบของ ‘5H’ มาเป็นส่วนผสมในการออกแบบผังเมือง หรือปรับปรุงเมืองหลังวิกฤตโควิด-19 จะทำให้ชุมชนเมืองนั้นๆ น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

 

“ถ้าเราสามารถทำให้พื้นที่ที่อยู่โดยรอบของย่านชุมชนทั่วไปมีองค์ประกอบของ ‘5H’ เราจะรู้สึกว่า เหมือนเราอยู่บ้านของเราจริงๆ ทำให้เรากล้าที่จะออกจากที่พักไปเดินในสถานที่ต่างๆ เรารู้สึกปลอดภัยในกิจกรรมที่จะออกไปออกกำลังกาย อันนี้จะเป็นภาพกว้างที่ฉายให้เห็นว่า ถ้าผังของชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ มีองค์ประกอบดังกล่าวและมีภูมิทัศน์ที่ดีจึงเป็นความสำคัญที่จะทำให้ผู้คนก็จะมีความสุขได้”

 

ทางด้าน ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย สถาปนิก บริษัท all(zone) จำกัด และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงปัญหาในอีกแง่มุมเกี่ยวกับโจทย์ใหญ่อีกประเด็นที่สถาปนิกทั่วไป ต้องคำนึงในเรื่องการออกแบบพื้นที่ทำงานคือเรื่องสถานที่ที่ผู้ต้องการพบปะกันในชีวิต ที่ไม่ใช่ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อย่างที่ทำในปัจจุบัน เพราะรูปแบบงานบางอย่างนั้นมีขีดจำกัด ไม่สามารถใช้การประชุมผ่านวิดีโอคอลได้ทั้งหมด

 

“ในแง่ของการออกแบบพื้นที่ทำงาน เราต้องกลับมาคิดถึงว่ารูปแบบงานแบบไหนที่ต้องพบปะเจอกัน ทีนี้ในส่วนของงานที่ต้องเจอกันที่ไม่ใช่แค่ออฟฟิศ แต่ยังหมายถึงมหาวิทยาลัย ร้านอาหาร และอื่นๆ ปัญหาคือการพบปะตามสถานที่ต่างๆ ในปัจจุบันกำลังถูกซ้อนทับไปด้วยเรื่อง ‘สุขลักษณะ’ ฉะนั้นพวกออฟฟิศหรือพื้นที่ต่างๆ ที่ผู้คนต้องมาเจอกันในที่สาธารณะ จะต้องมีเรื่องสาธารณะสุขเป็นตัวนำ แค่สถานที่สวยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องสวยและปกป้องสุขภาพคนได้ด้วย”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X