×

ถอดบทเรียน Archegos เฮดจ์ฟันด์ที่ป่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ​จากการกู้ลงทุนเกินตัว ทำหลายแบงก์แบกขาดทุนอ่วม

04.04.2021
  • LOADING...
Archegos Capital Management

HIGHLIGHTS

  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความปั่นป่วน เมื่ออยู่ๆ มีบิ๊กล็อตปริศนาเทขายหุ้นออกมาจำนวนมาก และยังมาจากสถาบันการเงินชั้นนำหลายแห่ง
  • ต่อมามีรายงานว่า แรงขายดังกล่าวเกิดจากการ ‘บังคับขาย’ เพราะลูกค้ากู้ยืมเงินมาลงทุน และไม่สามารถหาหลักประกันมาวางเพิ่มได้ ท่ามกลางราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลง
  • รายการขายของสถาบันการเงินเหล่านี้มาจากลูกค้าคนเดียวกันคือ บิล ฮวัง เทรดเดอร์ที่เคยมีประวัติถูกทางการสหรัฐฯ ลงโทษกรณีใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น 
  • บิล ฮวัง อาศัยการกู้ยืมเงิน (Margin Loan) จำนวนมาก เพื่อเพิ่ม Leverage หวังผลักดันให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น แต่เมื่อราคาไม่เป็นดังหวัง จึงถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม ก่อนจะถูกบังคับขายหุ้นในท้ายที่สุด
  • คนในแวดวงการเงินตั้งคำถามถึงการใช้ Leverage ที่มากถึง 8 เท่า ในขณะที่กองทุน Archegos ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่เปิดให้นักลงทุนรายใหญ่ในวงจำกัดเข้าลงทุนได้ ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนมากนัก ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกำลังเป็นกังวลว่าปัญหาเหล่านี้อาจสร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงินได้ในอนาคต  

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีข่าวไหนที่ ‘ร้อนแรง’ และ ‘น่าจับตา’ ไปมากกว่าข่าวการล้มละลายของ Archegos Capital Management ซึ่งเป็นกองทุนประเภทบริหารความเสี่ยง หรือ ‘เฮดจ์ฟันด์’ จากสหรัฐฯ แม้จะเป็นกองทุนเล็กๆ เม็ดเงินลงทุนโดยรวมไม่ได้สูงมากนัก แต่ก็ทำเอาสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งเผชิญภาวะขาดทุนยับเยิน

 

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สถาบันการเงินระดับโลกอาจสูญเงินรวมกันมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ จากการปล่อยกู้ หรือ  Margin Loan เพื่อให้ Archegos ไปซื้อหุ้น ทว่า หุ้นที่ Archegos เข้าลงทุนกลับร่วงลงรุนแรง ทำให้สถาบันการเงินเหล่านี้ต้องเรียก Archegos ให้หาหลักประกันมาวางเพิ่ม (Margin Call) 

 

เมื่อ Archegos ไม่สามารถหาหลักประกันมาวางเพิ่มได้ ทำให้สถาบันการเงินเหล่านี้ต้องเทขายหุ้นที่ Archegos ถืออยู่ทั้งหมดออกมา เพื่อป้องกันผลขาดทุนที่จะลามมาถึงตัวสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เอง 

 

สำหรับสถาบันการเงินที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับดีลป่วนตลาดในครั้งนี้ เช่น โกลด์แมนแซคส์, เครดิตสวิส กรุ๊ป เอจี, เจพี มอร์แกน, มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป, โนมูระ และมิซูโฮ 

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาย้อนไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Archegos โดยเริ่มต้นจากเมื่อวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 อยู่ๆ ก็มีวอลุ่มปริศนา ที่เทขายหุ้นล็อตใหญ่ออกมาในตลาดนิวยอร์ก มูลค่าการขายสูงกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 3 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขายในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี 

 

กระทั่งต่อมามีรายงานว่า วอลุ่มเหล่านี้มีผู้ทำรายการคือโกลด์แมนแซคส์ โดยหุ้นที่ถูกเทขายออกมา เช่น หุ้น Baidu Inc., หุ้น Tencent Music Entertainment Group, หุ้น Vipshop Holdings, หุ้น ViacomCBS Inc., หุ้น Discovery Inc., หุ้น Farfetch Ltd., หุ้น iQiyi Inc. และหุ้น GSX Techedu Inc. จากนั้นไม่นานก็เริ่มมีสถาบันการเงินรายอื่นๆ ทำธุรกรรมในลักษณะเดียวกับโกลด์แมนแซคส์ 

 

ช่วงที่ฝุ่นกำลังตลบก็เริ่มมีการเฉลยออกมาว่า แรงขายหุ้นจากสถาบันการเงินเหล่านี้เกิดจากการ ‘บังคับขาย’ หรือ Forced Sell โดยมีลูกค้ารายเดียวกันก็คือ Archegos ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ลงทุนให้กับนักลงทุนรายใหญ่ไม่กี่กลุ่ม และบริหารโดย บิล ฮวัง เทรดเดอร์ชื่อดังที่เคยถูกทางการสหรัฐฯ ลงโทษฐานใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น

 

ว่ากันว่า บิล ฮวัง เชื่อว่าหุ้นที่เขาเข้าไปซื้อถูก Short Sale ไว้จำนวนมาก เขาจึงหวังสร้างปรากฏการณ์ Short Squeeze เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับหุ้น GameStop ด้วยการใช้ Margin Loan เพื่อสร้างพลัง หรือ Leverage ในการลงทุน แต่ผลที่ออกมาไม่เป็นดังที่บิลคาดเอาไว้ โดยราคาหุ้นเหล่านั้นเริ่มลดลงต่อเนื่อง จนทำให้สถาบันการเงินต้องเรียกให้บิลทำ Margin Call ก่อนที่จะถูก Forced Sell ออกมาในท้ายที่สุด 

 

เรื่องดังกล่าว สำนักข่าว Bloomberg ออกรายงานเชิงวิเคราะห์ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Archegos สะท้อนถึงจุดอ่อนของกลยุทธ์ที่ธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำมอบให้กับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในการให้กู้ยืมเงินเพื่อมาเก็งกำไรในตลาดหุ้น 

 

แม้ว่าการดำเนินการเหล่านี้จะเป็นไปอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมาย แต่ พฤติกรรมของเทรดเดอร์ที่มุ่งแต่จะกอบโกยกำไร อาจนำพาให้ธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำที่ปล่อยกู้ตกอยู่ในความเสี่ยงจากการขาดทุนจากการผิดนัดชำระหนี้ได้

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ธนาคารไม่รู้ หรือไม่คิดจะเข้าไปก้าวก่าย ก็คือผู้จัดการกองทุนเหล่านี้ ในกรณีของ Archegos ก็คือ บิล ฮวัง นำเงินที่กู้ยืมได้เข้าไปเก็งกำไรใน Viacom แล้วสั่งสมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เมื่อราคาหุ้นของ Viacom ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก็ทำให้ Archegos ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก

 

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์เลวร้ายลง เมื่อเจ้าหนี้บางรายเข้ามาแทรกแซงเพื่อหาทางเอาตัวรอด หรือให้ธนาคารได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ด้วยการเรียกร้อง Margin Call หรือขอให้ Archegos หาหลักประกันมาวางเพิ่มเติมในช่วงที่ Archegos กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ดังนั้นจึงกลายเป็นผลกระทบที่เป็นโดมิโนตามที่มีรายงานในขณะนี้

 

อีกทั้งด้วยความที่ Archegos สามารถลงทุนเกินงบโดยใช้อนุพันธ์ได้ และในฐานะบริษัทเอกชน Archegos ยังสามารถหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลที่ปกติแล้วนักลงทุนส่วนใหญ่ต้องเปิดเผย ทำให้ บิล ฮวัง สามารถสั่งสมพอร์ตลงทุนของตนได้มากถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้ คำถามที่ตามมาก็คือว่า พฤติกรรมการปล่อยกู้ลูกค้ากระเป๋าหนักที่ยังมีช่องโหว่ในการกำกับดูแล เพื่อนำไปเก็งกำไรในตลาด Wall Street ควรพอได้แล้วหรือยัง 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising