×

Apple ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้อย่างไร ภายใต้การนำของชายที่ชื่อ ทิม คุก

โดย THE STANDARD TEAM
26.08.2020
  • LOADING...
Apple

HIGHLIGHTS

  • สัปดาห์ที่แล้ว Apple กลายเป็นบริษัทมหาชนรายแรกในสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าตลาดทะยานสู่หลัก 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากความต้องการที่แข็งแกร่งท่ามกลางการระบาดของโควิด-19
  • การเพิ่มมูลค่าตลาดสู่หลัก 2 ล้านล้านดอลลาร์นี้เกิดขึ้นเพียง 2 ปีหลังจากที่ Apple เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในสหรัฐฯ ที่มูลค่าตลาดหุ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ ปรากฏการณ์นี้ทำให้สื่อต่างประเทศหยิบเรื่องราวของ ‘ทิม คุก’ มานำเสนอข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับชีวิตและรูปแบบความเป็นผู้นำของซีอีโอ Apple ในมุมมองสุดอินไซด์ว่า Apple ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้อย่างไรภายใต้การนำของ ‘ทิม คุก’
  • หลายรายงานชี้ให้เห็นความแตกต่างในการบริหารบริษัทของคุก และ สตีฟ จ็อบส์ แนวทางปฏิบัติที่คุกทำทั้งในด้านวิศวกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์ ล้วนน่าสนใจมาก ไม่แพ้ข้อมูลที่ระบุว่าคุกยังคงทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองเหมือนเดิมต่อเนื่อง 9 ปี นับตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่งซีอีโอให้ Apple ในปี 2011

วันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา หุ้นของบริษัท Apple เพิ่มขึ้นสูงถึง 468.65 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก ภาวะนี้ทำให้ Apple ถูกยกเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาด 2.004 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 62.5 ล้านล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ หุ้น Apple เคยเพิ่มขึ้น 1.2% ปิดที่ 467.62 ดอลลาร์ ทำให้ Apple มีมูลค่าตลาด 1.999 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น

 

มูลค่าหุ้นที่ขึ้นลงจนล่าสุดปิดที่ 499.30 ดอลลาร์ (สถิติวันที่ 25 สิงหาคม 2020) เบ็ดเสร็จแล้ว หุ้น Apple ทะยานขึ้นเกิน 57% ในช่วงเวลา 8 เดือนของปี 2020 สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือนักลงทุนมีความเชื่อมั่นใน Apple เพราะความสำเร็จที่สั่งสมมานาน ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดแม้ในวิกฤตโควิด-19 ความสำเร็จเหล่านี้มีการยกความดีบางส่วนให้ ‘ทิม คุก’ ว่าเป็นผู้ที่นำพา Apple ให้เติบโตดีอย่างเหลือเชื่อ

 

รายงานจาก The Wall Street Journal ระบุว่านับจากที่ ทิม คุก เข้ามานั่งตำแหน่งสูงสุดขององค์กรในปี 2011 ทิม คุก ก็ทำตามคำแนะนำของหัวหน้าเก่าอย่าง ‘สตีฟ จ็อบส์’ ตลอด นั่นคือการอย่าถามว่า “ฉันจะทำอะไรดี” แต่ให้บอกตัวเอง “จงทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

 

 

คุกยังคงตื่นนอนตี 4 ทุกเช้า และให้เวลากับการตรวจสอบข้อมูลการขายทั่วโลกอย่างเต็มที่ กิจกรรมประจำคือการจัดการประชุมทุกวันศุกร์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายการเงิน ซึ่งสมาชิกในทีมมักเรียกกันว่า ‘เดตรอบดึกกับทิม’ เพราะการประชุมมักจะยืดเวลาไปจนถึงตอนฟ้ามืดแทบทุกครั้ง

 

ความต่างที่คุกไม่เหมือนจ็อบส์ คือการไม่ค่อยไปเยี่ยมชมสตูดิโอออกแบบของ Apple ซึ่งเป็นสถานที่ที่จ็อบส์เคยไปสอดส่องแทบทุกวัน

 

บ้างานและถ่อมตัว

เพื่อนร่วมงานและคนรู้จักของคุกเล่าว่าซีอีโอ Apple เป็น “คนบ้างานที่ถ่อมตัวและมีความมุ่งมั่นเป็นพิเศษกับ Apple” ขณะเดียวกันก็มีการกล่าวขานว่าปฏิทินของคุกนั้นปราศจากกิจกรรมส่วนตัว สอดคล้องกับความสันโดษซึ่งเป็นสิ่งที่คุกไม่ได้ปิดบังกับมวลชน

 

หลักฐานความสันโดษของคุกคือช่วงวันขอบคุณพระเจ้าเมื่อ 2 ปีก่อน มีผู้พบเห็นคุกนั่งรับประทานอาหารคนเดียวที่โรงแรม Amangiri สุดเงียบสงบใกล้อุทยานแห่งชาติไซออน

 

เมื่อบุคคลนั้นเอ่ยปากถามในเวลาต่อมา คุกบอกว่าเดินทางมาที่โรงแรมเพื่อเติมพลังหลังจากผลงานย่ำแย่ในช่วงที่มีการเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ในเวลานั้น โดยบอกว่าที่โรงแรมมี ‘หมอนวด’ มือดีที่สุดในโลกอยู่ แปลว่าซีอีโอ Apple ชอบกิจกรรมผ่อนคลายแบบไม่ต้องเล่นสนุกกับใคร

 

พนักงานทั้งในอดีตและปัจจุบันของ Apple พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คุกสร้างสถานที่ทำงานที่ผ่อนคลายมากขึ้นกว่ายุค สตีฟ จ็อบส์ อย่างไรก็ตาม ทุกคนรู้ว่าคุกมีความต้องการและเน้นรายละเอียดในทำนองเดียวกัน 

 

เห็นได้จากกรณีที่ Apple จัดส่งออร์เดอร์ผิด โดยขนส่งคอมพิวเตอร์ 25 เครื่องไปยังเกาหลีใต้แทนญี่ปุ่นแบบไม่ตั้งใจ ทำให้คุกรู้สึกผิดหวังกับความผิดพลาดนี้ และใช้เรื่องนี้เป็นตัวอย่างว่า Apple สูญเสียความมุ่งมั่นในการเป็นเลิศได้จริง

 

 

ถามละเอียดยิบ

ความน่าสนใจเกี่ยวกับรูปแบบความเป็นผู้นำของคุกคือ ‘ความเฮี้ยบ’ เรื่องนี้เล่าโดยอดีตผู้บริหารของ Apple อย่าง โจ โอซัลลิแวน ที่บอกว่าคุกมักทำให้ลูกน้องเข้าร่วมการประชุมด้วยความกังวลใจ เพราะสไตล์การซักถามที่ต้องการคำตอบที่แม่นยำ

 

คำตอบของคุกมีอิมแพ็กให้คนใน Apple สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและวิธีคิดได้ ตัวอย่างเช่นคำถามว่า “โจ วันนี้เราผลิตได้กี่หน่วย” ถ้าโจตอบว่า 10,000 ครับ คุกก็จะถามต่อว่า “เทียบเท่ากับกำลังการผลิตเท่าไร” สมมติให้โจบอกว่า “98% ครับ” ถึงตรงนี้คุกจะไล่ต่อว่า “โอเค 98% อธิบายมาสิว่า 2% ไปล้มเหลวที่ตรงไหน” ถ้าโจไม่รู้ แล้วตอบอะไรส่งเดชไป คำถามจากคุกก็จะยิ่งเพิ่มดีกรีความละเอียดลงไปอีก จนทำให้ทุกคนกลายเป็นคนที่ทำงานไม่ผิดพลาดสไตล์ ‘ทิม คุก’ ในที่สุด

 

อดีตผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการของ Apple เล่าอีกว่า การประชุมครั้งแรกของ ทิม คุกกับพนักงานใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้าทำงานเมื่อปี 1998 นั้นกินเวลานานถึง 11 ชั่วโมง ดังนั้นปัจจุบันผู้จัดการระดับกลางจะคัดกรองพนักงานสุดฤทธิ์ก่อนการประชุมกับคุก เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขามีความรู้กับโปรเจกต์ที่ทำอยู่มากพอ และไม่แนะนำให้พนักงานใหม่เข้าร่วมประชุมเด็ดขาด

 

ทั้งหมดนี้เป็นการปกป้องทีมของตัวเองและปกป้องคุกด้วย เพราะจะทำให้คุกไม่เสียเวลา ซึ่งหากคุกรู้สึกได้ว่ามีใครบางคนเตรียมตัวมาไม่พอ คุกก็จะหมดความอดทนและพูดว่า “ต่อไปล่ะ” พร้อมกับพลิกหน้าวาระการประชุม แล้วปล่อยให้พนักงานรายนั้นร้องไห้ไปเงียบๆ

 

 

นอกจากนี้ คุกยังมีแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่น่าสนใจแบบไม่ต้องลงมือควบคุมเต็มรูปแบบ คุกเลือกใช้วิธีถามทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์และขอข้อมูลเพิ่มเติมแบบถูกจุด 

 

ตัวอย่างเช่นกรณีของ แดน ริกซิโอ ผู้บริหารระดับสูงด้านฮาร์ดแวร์ของ Apple ที่ต้องคิดพัฒนาลำโพงอัจฉริยะในช่วงปี 2015 เวลานั้นริกซิโอตัดสินใจลดขนาดลำโพงลงหลังจากที่ตลาดตอบรับลำโพงขนาดเล็กอย่าง Echo ของ Amazon ดีมาก 

 

แต่คุกใช้วิธีส่งอีเมลถึง ริกซิโอเพื่อถามว่า “Apple มีจุดยืนอยู่ตรงไหนในตลาดลำโพง” คำตอบของคำถามนี้สามารถอธิบายสถานการณ์ที่เน้นย้ำถึงแนวทางที่ทีมต้องระมัดระวัง ในการเริ่มทำตลาดสินค้าใหม่ใดๆ

 

วิศวกรอาวุโสของ Apple รายหนึ่งเล่าว่า คุกจะประเมินไอเดียพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการเตือนให้ระมัดระวัง ในการอภิปรายหลายครั้ง คุกย้ำว่าตัวเขาไม่ต้องการปล่อยผลิตภัณฑ์ที่อาจขายได้ไม่ดี ซึ่งจะทำลายประวัติความสำเร็จของบริษัท

 

พลาดแล้วไม่โวยวาย

สำหรับบริการล่าสุดอย่าง Apple TV+ และอีกหลายบริการที่ยังมีความกังวลว่าไม่ประสบความสำเร็จตามที่คุกคาดหวังไว้ คนวงในบอกว่าคุกจะไม่โวยวายหรือฉุนเฉียว แต่จะอดทนรอให้เกิดผลงานตามแผนที่วางไว้

 

 

กรณีของ Apple TV+ อดีตสมาชิกทีมพัฒนา Apple TV+ เล่าว่า คุกรับฟังทีมที่มีการคำนวณและประเมินว่าเมื่อเวลาผ่านไป Apple จะมียอดสมาชิกเพิ่มขึ้น เนื่องจากแต้มต่อเรื่องจำนวนอุปกรณ์กว่าพันล้านเครื่องทั่วโลก เป็นความเชื่อมั่นว่าถึงอย่างไร Apple TV+ ก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนอาจจะนำไปใช้ในที่สุด

 

อินไซด์เหล่านี้ชี้ว่า Apple ใหญ่เบิ้มกว่าเดิมได้ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ‘ทิม คุก’ ซึ่งทำผลงานได้ประทับใจไม่แพ้ ‘สตีฟ จ็อบส์’ เลยทีเดียว

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X