×

Apple อาจผลิต iPhone ไม่ทัน Amazon ส่งของจากจีนไม่ได้ บริษัทเทคโนโลยีโดนโควิด-19 เล่นงานอย่างไร

28.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • แม้ว่าโรงงานซัพพลายเออร์ของ Apple จะตั้งอยู่นอกหูเป่ย และเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติแล้ว แต่โรงงานทั้งหมดก็เริ่มเดินสายพานการผลิตล่าช้ากว่าที่ Apple ได้ประมาณการเอาไว้ 
  • Amazon แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นผู้ประกอบการอีกรายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยข้อมูลระบุว่า กว่า 40% ของผู้ขายสินค้าบน Amazon ในปัจจุบันอาศัยอยู่ในจีน 
  • ผลกระทบในเชิงมูลค่าเศรษฐกิจ คาดว่าการที่งาน MWC ปีนี้ ยกเลิกอาจจะสร้างความเสียหายให้กับบาร์เซโลนาและสเปนมากกว่า 500 ล้านยูโร และอาจจะทำให้ลูกจ้างชั่วคราวกว่า 14,000 ตำแหน่งได้รับผลกระทบ

ตั้งแต่ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2019 จนถึงวันนี้ (กุมภาพันธ์ 2020) นับรวมเป็นระยะเวลา 2 เดือนแล้วที่โรคโควิด-19 ยังคงยกระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 83,000 คนทั่วโลกแล้ว (ข้อมูลจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2020)

 

ขณะที่ในเชิงผลกระทบกับเศรษฐกิจ ถ้าพิจารณาดูให้ดีก็จะพบว่า ไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมธุรกิจท่องเที่ยว การบิน และโรงแรมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่รีเทลหรือแม้แต่ ‘บริษัทเทคโนโลยี’ ยักษ์ใหญ่จำนวนมากหลายแห่งก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะซัพพลายเชน

 

เพราะต้องไม่ลืมว่าฐานการผลิต หรือชิ้นส่วนบางอย่างที่ใช้ในการประกอบผลิตภัณฑ์ของบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากก็ตั้งอยู่ในจีน ครั้นจะย้ายฐานการผลิตก็ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ ที่ทำได้ข้ามคืน ดังนั้นไซด์เอฟเฟกต์จากโควิด-19 จึงกลายเป็นสิ่งที่บริษัทเทคฯ ทุกแห่งต้องจำใจเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

Apple อาจผลิต iPhone และสินค้าอื่นๆ ได้ล่าช้ากว่าความต้องการ

ในรายงานคำแนะนำรายไตรมาสของบริษัท Apple ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยบอกว่าผลประกอบการของบริษัทในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบการเงิน (มกราคมถึงมีนาคม) อาจจะไม่เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ 

 

จากที่เดิมที Apple เคยประเมินไว้ว่าจะมีรายได้ในช่วงไตรมาสดังกล่าวที่ประมาณ 63,000-67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะเหลือที่ 57,000-60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Apple ได้ให้ปัจจัยลบไว้หลักๆ ที่ 2 ประการ ประกอบด้วย

 

1.ซัพพลายของ iPhone ทั่วโลกชะงักตัวชั่วคราว: ถึงแม้ว่าโรงงานซัพพลายเออร์ของ Apple จะตั้งอยู่นอกหูเป่ย (ศูนย์กลางการแพร่ระบาด) และเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติแล้ว แต่โรงงานทั้งหลายก็เริ่มเดินสายพานการผลิตล่าช้ากว่าที่ Apple ได้ประมาณการเอาไว้ 

 

นอกจากนี้ความกังวลของสุขภาพพนักงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ผลประกอบการของบริษัท Apple จะได้รับผลกระทบชั่วคราว

 

2.ดีมานด์สินค้า Apple ในจีนสั่นคลอน: เนื่องจาก Apple ได้ปิดให้บริการสโตร์ของพวกเขา 42 แห่ง และสโตร์ของพาร์ตเนอร์หลายแห่ง มีเพียงบางสาขาเท่านั้นที่ยังเปิดให้บริการต่อไป (จำกัดระยะเวลาในการให้บริการ ส่วนหน้าร้านออนไลน์ยังเปิดตามปกติ) ทำให้ทราฟฟิกลูกค้าที่แวะเวียนมาหน้าร้านลดน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงดีมานด์และการตัดสินใจซื้อสินค้า Apple ของผู้บริโภคจีน

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สหรัฐฯ และจีน เป็นเพียงแค่สองประเทศเท่านั้นที่สามารถสร้างรายได้ให้กับ Apple มากกว่าสัดส่วน 10% ของรายได้รวมบริษัท โดยรายได้จากจีนของ Apple ในปี 2019 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 43,678 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.38 ล้านล้านบาท แม้จะลดลงจากปีก่อนหน้า 16% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากประเด็นสงครามการค้า ฯลฯ แต่ก็ถือว่าจีนเป็นอีกหนึ่งตลาดหลักของ Apple เลยก็ว่าได้

 

ขณะที่จำนวนโรงงานซัพพลายเออร์ที่ผลิตชิ้นส่วนในการประกอบผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่เปิดเผยเมื่อปี 2019 ก็มีมากกว่า 380 แห่ง (นับรวมซัพพลายเออร์เจ้าเดียวกันแต่ต่างสาขา) ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาล และยังไม่นับรวมโรงงานในเกาหลี ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ด้าน Nikkei ยังออกมาเปิดเผยอีกด้วยว่า กำลังการผลิต iPhone ในขณะนี้ลดลงมาเหลืออยู่ที่ 30-50% เท่านั้น

 

 

40% ของคนขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม Amazon อยู่ในจีน

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทุกรายล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งสิ้น ที่เห็นชัดที่สุดคือการที่ออร์เดอร์สินค้าจากจีนมีกำหนดการจัดส่งไปปลายทางล่าช้ากว่ากำหนดเกือบเท่าตัว ทำให้พ่อค้าแม่ค้าคนกลางในไทยจำนวนไม่น้อยพลอยต้องปรับกลยุทธ์กันยกใหญ่

 

ขณะที่ ‘Amazon’ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ เป็นผู้ประกอบการอีกรายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ โดยข้อมูลระบุว่า กว่า 40% ของผู้ขายสินค้าบน Amazon ในปัจจุบันอาศัยอยู่ในจีน ซึ่งน่าจะทำให้คำสั่งซื้อรวมถึงยอดออร์เดอร์สินค้าในแพลตฟอร์มชะลอตัวจากเดิม

 

ทั้งนี้ Amazon ระบุว่า กลยุทธ์การปรับตัวของพวกเขาจะเน้นไปที่การทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ในแง่ของการรักษาสต๊อกสินค้าเพื่อให้แน่ใจว่าแพลตฟอร์มของพวกเขายังคงเป็นตัวเลือกหลักของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้า

 

Microsoft ปาดเหงื่อไม่แพ้กัน โควิด-19 ทำอ่วมกว่าที่คิด

จากรายงานคำแนะนำรายไตรมาสของบริษัทที่เปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ Microsoft ระบุว่า โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบให้กับบริษัทมากกว่าที่พวกเขาได้ประมาณการ โดยเฉพาะการที่ซัพพลายเชนในจีนเริ่มกระบวนการดำเนินงานตามปกติช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

 

โดย Microsoft เชื่อว่า ไลน์ผลิตภัณฑ์ Windows OEM (สิทธิจำหน่ายให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบคอมพิวเตอร์ สำหรับติดตั้งพร้อมจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์) และ Surface ในช่วงไตรมาส 3 ของปีงบการเงิน 2020 จะเป็นผลิตภัณฑ์สองกลุ่มของบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่เคยประมาณการเอาไว้ ขณะที่รายงานในส่วนอื่นๆ ของไตรมาส 3 ปีงบการเงินบริษัทยังไม่เปลี่ยนแปลง

 

อย่างไรก็ดี Microsoft ยืนยันว่าสุขภาพของพนักงาน ลูกค้า และพาร์ตเนอร์ของบริษัทยังคงเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญที่สุด โดยจะประสานงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เพิ่มเติม

 

 

แบรนด์มือถือเจ็บตัว เมื่องาน MWC 2020 ประกาศยกเลิกงานปีนี้

หลังจากงาน Mobile World Congress 2020 (MWC 2020) ที่เดิมทีจะมีกำหนดจัดงานในวันที่ 24-27 กุมภาพันธ์นี้ถูกยกเลิกลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาที่ตามมาจึงทำให้แบรนด์มือถือต้องปรับกลยุทธ์การโปรโมตและการทำการตลาดกันทุกกระบวนท่า

 

เพราะในแง่หนึ่ง งาน MWC ถือเป็นงานใหญ่ระดับโลกประจำปีของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือและโทรคมนาคม ทั้งยังเปรียบเสมือนโชว์รูมสมาร์ทโฟนที่เปิดตัวใหม่ของแต่ละแบรนด์ในปีนั้นๆ อีกด้วย

 

สำหรับแบรนด์ใหญ่หลายเจ้า เช่น Oppo, Xiaomi หรือ Huawei ก็จำเป็นต้องเลื่อนการจัดงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์แฟลกชิปของตัวเองออกไป บ้างก็ต้องแยกออกมาจัดงานแบบปิด แล้วใช้วิธีการไลฟ์สดงานเปิดตัวออนไลน์แทน ทั้งๆ ที่บางส่วนก็ได้ชำระค่าใช้จ่ายในการโปรโมตล่วงหน้าไปแล้วด้วยงบจำนวนมหาศาล

 

ขณะที่เชื่อกันว่าการที่งาน MWC ต้องยกเลิกลงในปีนี้อาจจะทำให้บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเจ้าใหญ่ๆ หลายแห่งต้องเริ่มทบทวนความคุ้มค่าของการเข้าร่วมงานดังกล่าวในปีต่อๆ ไป หลังจากที่เริ่มเห็นแล้วว่าต้องแบกรับต้นทุนมหาศาลแค่ไหน

 

โดยผลกระทบในเชิงมูลค่าเศรษฐกิจ คาดว่าการที่งาน MWC ยกเลิกอาจจะสร้างความเสียหายให้กับบาร์เซโลนาและสเปนมากกว่า 500 ล้านยูโร และอาจจะทำให้ลูกจ้างชั่วคราวกว่า 14,000 ตำแหน่งได้รับผลกระทบ

 

จะเห็นว่าไม่ใช่แค่ปัญหาในมุมซัพพลายเชน หรือความกังวลที่มีต่อสุขภาพพนักงานเท่านั้นที่บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกต้องแบกรับ แต่งบประมาณการตลาดที่ใช้ในการโปรโมตก็เป็นอีกภาระจำเป็นที่พวกเขาไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย ซึ่งดูเหมือนว่าแต่ละแบรนด์ต่างก็ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจของตัวเองให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ‘หนัก’ พอๆ กัน

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising