ย้อนกลับไปในปี 2020 นักลงทุนจำนวนมากได้แห่ซื้อหุ้นผ่าน Robinhood ทำให้ Apple และ Goldman Sachs วางแผนร่วมมือกันพัฒนาฟีเจอร์การลงทุนผ่านแอปพลิเคชันบน iPhone แต่โครงการดังกล่าวต้องถูกระงับไปเนื่องจากสภาวะตลาดหุ้นที่ตกต่ำเมื่อปีที่แล้ว
ที่ผ่านมา Apple และ Goldman Sachs เคยร่วมมือกันพัฒนาบัตรเครดิต (Apple Card) ที่ใช้ใน iPhone เมื่อปี 2019 และในเวลาต่อมาได้เพิ่มฟีเจอร์ซื้อตอนนี้ จ่ายทีหลัง (Apple Pay Later) และบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดย Apple เปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า บัญชีออมทรัพย์มีเงินฝากของผู้ใช้งานทะลุ 1 หมื่นล้านดอลลาร์
แผนของ Apple ในการพัฒนาฟีเจอร์ซื้อ-ขายหุ้นเกิดขึ้นในช่วงโควิดที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งเป็นเวลาที่นักลงทุนอยู่ภายในบ้าน และเกิดกระแสการซื้อ-ขายหุ้นมีมอย่าง GameStop และ AMC และวางแผนเปิดตัวฟีเจอร์ดังกล่าวในปี 2022
แต่ในเวลาต่อมา ตลาดต้องเผชิญกับระดับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทีมงานของ Apple กลัวว่าผู้ใช้งานจะไม่พอใจหากสูญเสียเงินในตลาดหุ้นด้วยความช่วยเหลือจากผลิตภัณฑ์ของ Apple นั่นกลายเป็นสาเหตุที่ Apple และ Goldman Sachs เปลี่ยนทิศทางและผลักดันแผนเปิดตัวบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นแทน
ปัจจุบันสถานะของโครงการซื้อ-ขายหุ้นยังไม่ชัดเจน หลังจากที่ David Solomon ซีอีโอของ Goldman Sachs ยอมอ่อนข้อต่อแรงกดดันทั้งหมด และตัดสินใจละทิ้งความพยายามของลูกค้าเกือบทั้งหมดของธนาคาร แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานสำหรับฟีเจอร์การลงทุนส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นและพร้อมใช้งานแล้ว หาก Apple ตัดสินใจที่จะดำเนินฟีเจอร์ดังกล่าวทันที
หาก Apple ตัดสินใจเดินหน้าการให้บริการซื้อ-ขายหุ้น ก็จะเข้าสู่ตลาดที่มีการแข่งขันที่รุนแรง โดยจะมีคู่แข่งอย่างเช่น Robinhood, SoFi และ Block’s Square พร้อมด้วยบริษัทนายหน้าซื้อ-ขายหลักทรัพย์แบบดั้งเดิม เช่น Charles Schwab และ E*TRADE ของ Morgan Stanley
การให้บริการซื้อ-ขายหุ้นกลายเป็นอีกวิธีหนึ่งสำหรับบริษัททางการเงิน ในการรักษาฐานลูกค้าและกระตุ้นการใช้งานแพลตฟอร์มของตน ซึ่ง Apple กำลังดำเนินตามแนวทางเดียวกัน แต่นั่นก็เป็นการเคลื่อนไหวที่ดึงดูดความสนใจของหน่วยงานกำกับดูแลที่ตรวจสอบ Apple ซึ่งก่อนหน้าได้ตรวจสอบแนวทางปฏิบัติของ App Store
นอกจาก Apple แล้ว บริษัทเทคอื่นๆ ยังวางแผนเข้าสู่วงการนี้เช่นกัน X หรือในชื่อเดิม Twitter กำลังวางแผนเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อหุ้นและคริปโทผ่านการเป็นพันธมิตรกับ eToro ขณะที่ PayPal มีแผนเปิดตัวบริการซื้อ-ขายหุ้นหลังจากร่วมมือกับผู้บริหารอุตสาหกรรมรายสำคัญในปี 2021 แต่บริษัทก็ล้มเลิกแผนดังกล่าว และกล่าวในรายงานผลประกอบการว่าจะลดการใช้จ่าย และกลับมามุ่งเน้นไปที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลักอีกครั้ง
อ้างอิง: