หลังพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งจนได้เก้าอี้ ส.ส. ต่ำกว่าที่คาดไว้เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในเวลาต่อมากรรมการบริหารชุดรักษาการได้มีมติให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้
ความเคลื่อนไหวของแกนนำและสมาชิกของพรรคเริ่มมีการเปิดตัวบุคคลที่ต้องการลงท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคแทนนายอภิสิทธิ์ และมีกระแสข่าวว่าหล่อโย่งอย่าง นายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรค ก็เสนอตัวที่จะลงท้าชิงเช่นเดียวกัน
โดยนายกรณ์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อ นายสุทธิชัย หยุ่น ผ่านทางเฟซบุ๊ก Suthichai Yoon เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมว่าได้ตัดสินใจเรื่องนี้ในวันที่ 24 มีนาคม หลังนายอภิสิทธิ์ประกาศลาออกเพื่อรับผิดชอบกับผลการเลือกตั้ง และวันรุ่งขึ้นก็ได้แจ้งให้ผู้ใหญ่ของพรรคทราบ โดยไม่ได้บอกกับนายอภิสิทธิ์เป็นพิเศษ แต่เคยคุยไว้นานแล้วว่าหากนายอภิสิทธิ์ยังลง ตนจะสนับสนุน ซึ่งเมื่อนายอภิสิทธิ์ลาออก ตนจึงตัดสินใจเสนอตัว
ขณะที่มีรายชื่อของหล่อใหญ่อย่าง นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตรองหัวหน้าพรรคและอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเช่นกัน
ซึ่งความเคลื่อนไหวแรกของนายอภิรักษ์ถูกเปิดเผยโดยนายสุทธิชัย หยุ่น ผู้ดำเนินรายการ Suthichai Live ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก Suthichai Yoon ว่า ในงานศิษย์เก่า LSE ที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เมื่อคืนวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตรองหัวหน้าพรรคและอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันกับตนต่อหน้า นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) ในฐานะที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ว่าลงแข่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคแน่นอน และต้องประชันนโยบายกู้พรรคเก่าแก่ที่สุดของประเทศแข่งกับนายกรณ์และนายจุรินทร์ อีกทั้งจะเชื่อมคนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่าในพรรค พรรคต้องการการฟื้นฟูครั้งใหญ่
นอกจากนี้นายอภิรักษ์บอกตนและนายศุภชัยด้วยว่าประชาชนเหมือนจะมี Love-Hate Relationship สูงมากต่อประชาธิปัตย์ ดังนั้นพอลงโทษเราก็ลงโทษแรงเลย
ขณะที่ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายอภิรักษ์ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางมติชนออนไลน์ถึงเรื่องดังกล่าวว่ายืนยันที่จะลงสมัครอยู่แล้ว และตั้งแต่มีชื่อของตนออกมาเป็นข่าวในเรื่องนี้ตนไม่เคยปฏิเสธใดๆ โดยความตั้งใจมาลงสมัครครั้งนี้เพราะเห็นว่าผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุดและสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เปลี่ยนไปทำให้พรรคจำเป็นต้องรับฟังกระแสสังคมหรือเสียงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ และพรรคต้องใช้การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นบทเรียนในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและสังคมในโลกยุคใหม่ ขณะที่ทุกคนในพรรคต้องกลับมาร่วมแรงร่วมใจทำงานด้วยกัน ทั้งนี้ตนไม่รู้สึกหนักใจในการแสดงความตั้งใจเข้ามากอบกู้พรรค
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: