×

คุยกับ ‘ศ.นพ.อภิชาติ​ อัศวมงคล​กุล’​ คณบดีคณะ​แพทยศาสตร์​ศิริราช​พยาบาล ในวันที่ศิริราช ‘พร้อม’ จะ Inspire-Protect-Discover-Share ด้วยมุมมองใหม่ เพื่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นของคนไทย [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
28.02.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MIN READ
  • แม้ศิริราชจะก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านไปหลายยุคสมัย แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยคือความตั้งใจเดิม ศรัทธา และความเชื่อมั่น ตลอดระยะเวลา 136 ปี 
  • หัวใจสำคัญที่ทำให้ศิริราชยังคงเป็นโรงพยาบาลที่คนไทยให้ความไว้วางใจมากเป็นอันดับต้นๆ คือเรื่อง ‘ความพร้อม’ เชื่อว่าทุกคนรู้และเห็นมาโดยตลอดว่าศิริราชทำงานอย่างหนักเพื่อ ‘สุขภาพที่ดีของคนไทยเสมอมา’ แต่การหยิบเรื่องของ ‘ความพร้อม’ มาพูดอีกครั้ง ก็เพื่อตอกย้ำความเป็นศิริราชที่ ‘พร้อม’ (Ready) ทำผลงานและการบริการให้มากยิ่งขึ้น 
  • We Are Ready ในปี 2567 ต้องการตอกย้ำให้เห็นถึงความพร้อม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา (Ready to Inspire) ด้านการรักษาพยาบาล (Ready to Protect) ด้านงานวิชาการ งานวิจัย (Ready to Discover) และด้านการเป็นสะพานบุญเพื่อการแบ่งปัน (Ready to Share)

กว่า 136 ปี นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า ‘โรงศิริราชพยาบาล’ จุดเริ่มต้นแห่งการให้ก็ถูกส่งต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

 

คนไทยรู้จัก ‘ศิริราช’ ในฐานะโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศ 

 

จากเรือนไม้มุงหลังคาจาก 3 หลังใหญ่ และ 3 หลังเล็ก สำหรับใช้เป็นเรือนคนไข้ เรือนอำนวยการและที่เก็บยา-ผสมยา เรือนผู้ดูแลโรงพยาบาล เรือนแถวของคนงานและโรงครัว จนถึงวันนี้ศิริราชไม่เพียงขยับขยายพื้นที่ แต่ยังขยายอาณาเขตการรักษาออกไป เพื่อให้การรักษาตามมาตรฐานศิริราชครอบคลุมทั่วถึงคนไทยทั้งประเทศ  

 

 

136 ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินกว่าที่คนรุ่นหนึ่งจะจินตนาการได้ว่ามีการเปลี่ยนผ่านอะไรเกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยบ้าง 

 

ศ.นพ.อภิชาติ​ อัศวมงคล​กุล​ ในฐานะคณบดีคณะ​แพทยศาสตร์​ศิริราช​พยาบาลในวันนี้ เป็นหนึ่งในบุคลากรที่ได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของศิริราชมากว่า 4 ทศวรรษ นับตั้งแต่วันที่ก้าวเข้าสู่รั้วศิริราชในฐานะนักศึกษาแพทย์

 

 

“ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ผมเห็นการเติบโตในทุกๆ ด้านของศิริราช ตั้งแต่พื้นที่ขยายใหญ่ขึ้น จากโรงพยาบาลที่มีเพียงไม่กี่อาคาร ตอนนี้ขยับขยายไปมาก เรามีโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ หรือในส่วนของอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ซึ่งเป็นตึกวิจัยและอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการขยายศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชไปที่จังหวัดสมุทรสาคร เราเปิดศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกที่ศาลายา แล้วเราก็มี SIRIRAJ H SOLUTIONS ศูนย์บริการสุขภาพครบวงจรที่เพิ่งเปิดเมื่อปี 2566 ขณะเดียวกันจำนวนบุคลากรในยุคที่ผมเป็นนักเรียนแพทย์ไม่น่าจะเกิน 8,000 คน แต่ตอนนี้เรามีบุคลากรทั้งที่ศิริราชและศูนย์ต่างๆ ที่เล่าไปกว่า 20,000 คน รวมถึงจำนวนผู้เข้ารับบริการก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ

 

“แม้หลายอย่างจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยคือความตั้งใจเดิม ศรัทธา และความเชื่อมั่น ตลอดระยะเวลา 136 ปี ศิริราชเป็นโรงพยาบาลที่คนไทยเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยชีวิตและทำให้คุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้น” 

 

ถึงจะเป็นโรงพยาบาลเก่าแก่ แต่ศิริราชก็สามารถปรับตัวทันต่อการก้าวผ่านทุกยุคสมัย ศ.นพ.อภิชาติ​ เล่าว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ปัจจัยแรกคือการยึดมั่นตามคำสอนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงพระราชทานให้กับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ว่าให้คิดถึงประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งแรก กิจของส่วนตนเป็นสิ่งที่สอง จึงทำให้คนศิริราชให้ความสำคัญกับผู้อื่นก่อนเสมอ โดยเฉพาะคนไข้ 

 

“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนการสอน การทำวิจัย การรักษา การดูแลคนไข้ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากการคิดถึงคนที่จะได้รับประโยชน์” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว 

 

“ปัจจัยต่อมาคือการไม่หยุดพัฒนาตัวเอง บุคลากรเราทุกคนให้ความสำคัญกับการศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา พัฒนาความรู้ทั้งในด้านการรักษาและเครื่องมือต่างๆ บุคลากรต้องทันสมัย ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการให้บริการก็ต้องปรับให้ทันต่อพฤติกรรมและความต้องการในทุกยุคสมัย

 

“สุดท้ายคือเราเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เราสนับสนุนการต่อยอดความคิดและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์แพทย์หรือบุคลากรแผนกต่างๆ ในโรงพยาบาลก็สามารถนำเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในงานของพวกเขาและนำมาแชร์กัน”

 

 

นอกจาก 3 ปัจจัยข้างต้น มีอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้ศิริราชยังคงเป็นโรงพยาบาลที่คนไทยให้ความไว้วางใจมากเป็นอันดับต้นๆ คือเรื่อง ‘ความพร้อม’ 

 

เชื่อว่าทุกคนรู้และเห็นมาโดยตลอดว่าศิริราชทำงานอย่างหนักเพื่อ ‘สุขภาพที่ดีของคนไทยเสมอมา’ ศ.นพ.อภิชาติ บอกถึงที่มาของการหยิบเรื่องของ ‘ความพร้อม’ มาพูด ก็เพื่อตอกย้ำความเป็นศิริราชที่ ‘พร้อม’ (Ready) ทำผลงานและการบริการให้มากยิ่งขึ้น 

 

“ศิริราชพร้อมมาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อตั้ง ความพร้อมนั้นปรับเปลี่ยนไปตามห้วงเวลาและบริบทที่ต่างกัน ในยุคแรกเรามีองค์ความรู้แพทย์แผนโบราณ จนกระทั่งเราได้มีการพัฒนามาถึงจุดที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสนพระทัยการแพทย์และการสาธารณสุข ในที่สุดก็ตกลงพระทัยที่จะทรงช่วยปรับปรุงการแพทย์ของประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยเสด็จไปทรงศึกษาที่ School of Public Health, Harvard Medical School ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เป็นผลสำเร็จ จนสามารถนำเงินทุนให้นักเรียนไปศึกษาที่ต่างประเทศในสาขาการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล และในแขนงวิชาเตรียมแพทย์ต่างๆ พร้อมทั้งจ้างอาจารย์จากต่างประเทศที่มีความรู้ด้านการศึกษามาวางรากฐานหลักสูตรแพทย์ให้เข้มแข็ง ทำให้ศิริราชมีมาตรฐานทางการแพทย์สมัยใหม่เทียบเท่าระดับนานาชาติ มีระบบแพทยศาสตร์ศึกษาที่มั่นคงทั้งก่อนและหลังปริญญา และท้ายที่สุดคือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนคนไทย ด้วยการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย”

 

 

สำหรับ We Are Ready ในปี 2567 ศ.นพ.อภิชาติ บอกว่าต้องการตอกย้ำให้เห็นถึงความพร้อม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา (Ready to Inspire) ด้านการรักษาพยาบาล (Ready to Protect) ด้านงานวิชาการ งานวิจัย (Ready to Discover) และด้านการเป็นสะพานบุญเพื่อการแบ่งปัน (Ready to Share)

 

Ready to Inspire: ‘พร้อม’ สร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่ดีมีคุณภาพแก่สังคมไทย

 

‘เชื่อมือและเชื่อใจแพทย์ศิริราช’ น่าจะเป็นคีย์เวิร์ดที่คนไทยทุกคนคิดเห็นตรงกัน และศิริราชเองต้องการให้ความเห็นนี้ได้รับการส่งต่อไปยังแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ที่ได้รับการปลูกปั้นจากโรงเรียนแพทย์เก่าแก่แห่งนี้

 

เด็กรุ่นใหม่มีทักษะทางวิชาการและทักษะชีวิตที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ครูแพทย์ที่ศิริราชรู้ดี จึงไม่สอนนักศึกษาแพทย์แบบป้อนความรู้ แต่จะวางเพียงกรอบและชี้นำให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเรียนรู้และค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเอง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาทุกคนจบออกไปเป็นแพทย์ที่ดี ออกไปช่วยเหลือผู้คน สร้างความเชื่อถือและเชื่อใจให้กับสังคมไทย เหมือนอย่างที่บูรพาจารย์และแพทย์รุ่นพี่ศิริราชได้ช่วยกันทำมาแล้วนับสิบนับร้อยปี

 

 

“เช่นเดียวกับที่เราเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากอาจารย์แพทย์ ซึ่งท่านเป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้เราอยากเป็นเหมือนท่าน การจะส่งต่อแรงบันดาลใจที่ดีจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ได้ก่อน เราบอกบุคลากรทุกคนว่าต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี และนั่นจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นหลัง ไม่ใช่เฉพาะในศิริราช เพราะบัณฑิตที่จบจากที่นี่ต้องออกไปทำหน้าที่ดูแลประชาชนในโรงพยาบาลทั่วประเทศ จึงเป็นเหมือนการส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่คนอีกนับล้าน 

 

“ศิริราชมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง ทำให้เราสร้างบุคลากรต้นแบบที่ดีให้กับวงการแพทย์ของไทย อัตลักษณ์ของคนศิริราชต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น รู้จักทำงานเป็นทีม ทำงานด้วยความตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ สุจริต และต้องคิดถึงประโยชน์ของคนไข้ ประโยชน์ต่อส่วนรวม” 

 

Ready to Protect: ‘พร้อม’ ให้การรักษาและบริการดูแลสุขภาพคนไทยทุกคน

 

นิยามการปกป้องของศิริราชคือการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทย แม้ว่าศิริราชจะมีความพร้อมด้านการรักษา แต่จะดียิ่งกว่าหากคนไทยทุกคนสุขภาพแข็งแรงและไม่เจ็บป่วย แต่เมื่อไรที่ต้องเข้ารับการรักษา ศิริราชก็พร้อมที่จะดูแลคนไทยอย่างเสมอภาค เท่าเทียม 

 

“เราเป็นโรงพยาบาลที่ดูแลคนไข้ทุกระดับชั้น คนไข้ทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม มาตรฐานที่เราดูแลคือมาตรฐานศิริราชเหมือนกันหมด เพราะเรามีอาจารย์หมอทุกสาขา ครอบคลุมทุกโรคอยู่กว่า 1,000 ท่าน ทุกคนดูแลคนไข้เหมือนดูแลญาติและคนในครอบครัว ไม่ว่าจะมาด้วยสิทธิ์ใดๆ ก็จะได้มาตรฐานการรักษาที่เท่าเทียมกัน”  

 

 

“ทุกวันนี้เฉพาะตึกผู้ป่วยนอกเรามีคนไข้วันละประมาณ 10,000-12,000 คน จึงจำเป็นต้องขยายการดูแลออกไป เช่นมี SIRIRAJ H SOLUTIONS ซึ่งเป็น Wellness Center สามารถรักษาเคสไม่ซับซ้อน ช่วยลดความแออัด คนไข้ไม่ต้องเดินทางมาถึงโรงพยาบาลก็ได้รับการดูแลและรักษาด้วยมาตรฐานเดียวกันกับศิริราช รวมถึงคนไข้ที่รักษาที่ศิริราชและต้องรับยาต่อเนื่องก็มารับได้ที่นี่ หรือศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช จังหวัดสมุทรสาคร ที่นั่นไม่ใช่โรงพยาบาล แต่จะมุ่งเน้นตรวจคัดกรอง รักษาแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับผู้สูงวัย ดูแลฟื้นฟูหลังพ้นการเจ็บป่วยในระยะเฉียบพลันแล้ว เพื่อลดความแออัดของเตียงผู้ป่วย  

 

“อีกตัวอย่างที่สร้างประโยชน์ให้กับคนไทยคือ ‘Siriraj Mobile Stroke Unit’ หรือหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองบนรถมาตั้งแต่ปี 2561) ซึ่งเป็น Stroke One Stop สแกน-รักษา-ส่งต่อ จบในที่เดียว ภายในรถมีเครื่องสแกนสมองและเครื่องมือเหมือน ICU พร้อมด้วยระบบ Telemedicine เปรียบเสมือนเป็นโรงพยาบาลเคลื่อนที่ เราร่วมมือกับ ปตท. ใช้ปั๊มน้ำมันเป็นจุดจอดเพื่อเจอกับรถพยาบาลที่ไปรับคนไข้จากบ้าน เมื่อสแกนแล้วสามารถส่งข้อมูลมาที่ศิริราช แพทย์สามารถวางแผนได้ว่าเคสนี้จะต้องให้การรักษาอย่างไร และเริ่มการรักษาได้ทันทีบนรถ จึงลดการเสียชีวิตและพิการถาวรมากกว่า 1,500 ราย” 

 

Siriraj Mobile Stroke Unit สามารถคว้ารางวัล ‘World Champion Innovation’ รางวัลนวัตกรรมชนะเลิศระดับโลก และรางวัล ‘Gold Medal Award’ รางวัลเหรียญทองด้านผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในงานประกวดและนำเสนอผลงานของนักประดิษฐ์นานาชาติ หรือ Worldlnvent 22+23 Singapore International Invention Show (WoSG) อีกด้วย

 

“ตอนนี้กำลังทำ MOU กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่ง เพื่อสร้างรถนี้ 21 คันไปดูแลผู้ป่วยในจังหวัดเครือข่ายต่างๆ และอย่างที่กล่าวไป เราต้องการสร้างความตระหนักในเรื่องการป้องกันก่อนเกิดโรค ศิริราชจัดงาน ‘เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต’ ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 10 เพื่อให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย ปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมกว่า 3 แสนคน ปีนี้เราอยากให้มีคนร่วม 1 ล้านคน ถ้าสำเร็จได้จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการเป็นผู้นำในการชักชวนคนให้หันมาออกกำลังกายเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย” 

 

 

Ready to Discover: ‘พร้อม’ ทุ่มเทและคิดค้นทุกงานวิจัย เพื่อชีวิตคนไทยที่ดีกว่า 

 

ศูนย์นวัตกรรมข้อมูลศิริราช ศูนย์วิจัยคลินิก ศูนย์วิจัยเป็นเลิศ และอีกมากมาย คือส่วนงานหนึ่งที่หลายคนไม่รู้ว่าศิริราชทำเพื่อคิดค้นงานวิจัยด้านการแพทย์ระดับโลกมากมาย 

 

“เราทำวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำไปพัฒนา ต่อยอด สร้างประโยชน์ให้กับวงการแพทย์และวงการสาธารณสุข ทุกปีเราได้ศึกษาและตีพิมพ์ผลงานวิจัยมากมาย ก่อนจะนำไปสร้างนวัตกรรม สร้างนโยบาย เขียนไกด์ไลน์ให้กับสมาคมต่างๆ เพื่อให้คนไทยนำมาใช้ต่อไป ตอนนี้เราสนใจใน 6 กลุ่มโรค ได้แก่ ภูมิแพ้ มะเร็งและการรักษาแบบมุ่งเป้า โรคหัวใจและหลอดเลือด ไข้เลือดออก เบาหวาน และโรคอ้วน รวมไปถึงการทำวิจัยเกี่ยวข้องกับมลภาวะและ PM2.5” 

 

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ศ.นพ.อภิชาติ ยกตัวอย่างงานวิจัยโควิด-19 ในการใช้วัคซีนเข็มไขว้จากข้อจำกัดเรื่องจำนวนวัคซีน ศิริราชพิสูจน์ได้ว่าสามารถนำวัคซีนเชื้อตายเข้ามาเสริม สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเท่ากับฉีดวัคซีน mRNA 2 เข็ม ทำให้บริหารจัดการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยได้เป็นจำนวนมากในเวลานั้น จนองค์การอนามัยโลกนำไปเขียนเป็นไกด์ไลน์ให้หลายประเทศนำไปใช้จริง กลายเป็น Global Impact ที่เกิดจากงานวิจัยของคนไทย

 

“จากวิกฤตการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา เราได้รับประสบการณ์และได้เรียนรู้หลายอย่าง และเชื่อว่าในอนาคตอาจเกิดโรคระบาดที่รุนแรงอีก เพียงแต่ว่าเมื่อไรและเกิดจากเชื้ออะไรเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ศิริราชพร้อมค้นคว้าวิจัยให้ได้คำตอบที่จะนำไปสู่การดูแลรักษาและป้องกัน เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงไปด้วยกัน

 

“และจากการทุ่มเททำวิจัยของนักวิจัยศิริราช ทำให้ศิริราชสามารถสร้างเครือข่ายกับทีมวิจัยในสถาบันการแพทย์ต่างประเทศมากมาย มีผู้สนับสนุนทุนวิจัยเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยให้งานวิจัยของศิริราชมีความเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยทุกคนในการได้รับการรักษาที่ดีขึ้นและมีสุขภาพที่ดีขึ้น” 

 

 

Ready to Share: ‘พร้อม’ สร้างสังคมที่มีคุณภาพและแบ่งปันโอกาสให้กับทุกคน

 

“สังคมไทยเป็นสังคมเอื้ออาทร เขาเห็นภาพของศิริราชที่ทุ่มเททำงานเพื่อประชาชน ทำให้คนจำนวนมากมั่นใจและเชื่อใจ มาบริจาคเพื่อหวังว่าสิ่งที่เขาให้มาไม่ว่าจะน้อยหรือมากจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้บริการคนอื่นๆ ต่อไปได้ ศิริราชเรามีหน่วยงานสำคัญคือศิริราชมูลนิธิ ทำหน้าที่ดูแลและจัดสรรเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของศิริราชตลอด 70 ปี ทุกความตั้งใจของคนไทยที่ช่วยศิริราชผ่านการสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์หรือเงินบริจาค เราใช้ตามวัตถุประสงค์ของคนให้อย่างตรงไปตรงมา” 

 

 

“สิ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงก็คือเงินบริจาคที่ให้ไว้กับศิริราชไม่ได้ช่วยแค่ผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น เพราะเมื่อศิริราชรักษาเขาจนหายดี เขาก็สามารถกลับไปดูแลครอบครัว ไปทำหน้าที่พลเมืองดี ช่วยกันพัฒนาประเทศของเรา เท่ากับว่ามีคนอีกมากมายที่ได้รับประโยชน์จากเงินบริจาคของทุกท่าน เรียกว่าหนึ่งคนให้ หลายคนได้ ตรงนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าการแบ่งปันของคนไทยทำให้สังคมของเราดีขึ้นได้อย่างมาก ซึ่งศิริราชมูลนิธิก็ยินดีจะเป็นสะพานบุญให้กับการแบ่งปันนี้”

 

 

“ท้ายที่สุดสิ่งที่จะทำให้ ‘We Are Ready’ แข็งแกร่ง ต้องนำเรื่องนวัตกรรมเข้าไปอยู่ในทุกภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคลากรเองต้องมีความรู้ มีมายด์เซ็ตที่จะใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ ทางศิริราชเองก็ต้องมี Infrastructure ที่ซัพพอร์ตเขา มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา อะไรที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ และจะสร้างประโยชน์ให้กับคนไข้ ศิริราชก็นำเข้ามาใช้ทันที ตอนนี้ถือได้ว่าเรามีความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องมือมากที่สุด ที่สำคัญเราต้องการคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยงานมากขึ้น ต้องการจินตนาการของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกันคนศิริราชทุกคนไม่ว่าจะเจนไหนก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผมว่านี่จะเป็นแนวทางที่ศิริราชจะต้องดำเนินการในปีนี้ และจะทำให้ภาพของคำว่า ‘We Are Ready’ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X