×

ตำรวจเตรียมรวบรวมพยานหลักฐาน ดำเนินคดีผู้ชุมนุมที่ละเมิดกฎหมาย ย้ำยังควบคุมสถานการณ์ได้

โดย THE STANDARD TEAM
18.11.2022
  • LOADING...

วานนี้ (17 พฤศจิกายน) พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง ในฐานะโฆษกกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมเอเปค 2565 กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องในช่วงการประชุม APEC ว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน มีสถานการณ์การชุมนุม 2 กลุ่ม คือ 

        

กลุ่มที่ 1 กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ที่ปักหลักพักค้างชุมนุมที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) มีการชุมนุมค้างแรมและจัดปราศรัย ได้แจ้งการชุมนุมที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) สำราญราษฎร์ ตั้งแต่วันที่ 16-18 พฤศจิกายน

 

แต่มวลชนบางกลุ่มแยกไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการติดป้ายข้อความบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปห้ามปรามตามหลักยุทธวิธี แต่มีการกระทบกระทั่งเล็กน้อยจนแยกย้ายกันไป จากนั้นกลุ่มได้กระจายตามสถานที่ต่างๆ 5 จุด

 

กลุ่มที่ 2 บริเวณแยกอโศกมนตรี มีการชูป้าย แต่งกายชุดไดโนเสาร์ และรวมกลุ่มทำกิจกรรมตั้งแต่เวลาประมาณ 11.30 น. และยุติการชุมนุมเวลาประมาณ 14.30 น. มีบางช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปขอความร่วมมือกับกลุ่มผู้ชุมนุม และเกิดการโต้เถียงกระทบกระทั่งกันตามที่ปรากฏตามข่าว แต่ไม่ได้มีความรุนแรง ทุกอย่างดำเนินการตามหลักยุทธวิธี หลักความได้สัดส่วน เน้นการเจรจาต่อรอง พูดคุยทำความเข้าใจเป็นหลัก  

      

พล.ต.ต. อาชยนกล่าวต่อไปว่า บริเวณแยกอโศกนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมบางคนได้สาดสี พ่นสีสเปรย์ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัย มีการทำลายทรัพย์สินและขีดเขียนบนถนน ทางสาธารณะที่ใช้สัญจร อีกทั้งไม่ได้แจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด 

 

ทางตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน คลิปที่เกิดเหตุ เพื่อสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีความผิดที่เกิดขึ้น ในความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558, พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2552, พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา 

     

พล.ต.ต. อาชยนกล่าวด้วยว่า สถานการณ์การชุมนุมยังไม่มีเหตุการณ์อะไรที่น่าเป็นห่วง เจ้าหน้าที่สามารถดูแลภาพรวมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สร้างความมั่นใจในการดูแลความปลอดภัยการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 2022 หรือ APEC 2022 ได้ 

 

ทั้งนี้ ฝากย้ำเตือนว่าการชุมนุมในพื้นที่ห้ามเป็นความผิดตามกฎหมาย ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่ห้ามมิให้มีการชุมนุมกีดขวางทางเข้า-ออก รบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการของสถานที่ดังกล่าว 

 

หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเจ้าพนักงานฯ อาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งให้ถือปฏิบัติ หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 “ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่นั้นล่วงหน้า และขอฝากประชาสัมพันธ์ แจ้งไปยังผู้ที่จะเข้าร่วมการชุมนุม คำนึงถึงภาพลักษณ์ประเทศ ควรไปใช้สิทธิยื่นข้อเรียกร้องในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ โดยสามารถประสานตำรวจเพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นได้” พล.ต.ต. อาชยนกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X