การประชุมคลังเอเปค ครั้งที่ 29 ปิดฉากแบบไร้แถลงการณ์ร่วม เหตุสมาชิกยังเห็นต่างปมความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน ท่ามกลางการผลักดันเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรและการควบคุมการส่งออกต่อรัสเซียของชาติตะวัน ด้านรัฐมนตรีคลังไทยเผย มี 2 ประเด็นซึ่งที่ประชุมเป็นห่วง คืออัตราเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะ ประกาศเตรียมเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ พร้อมส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน
ในวันนี้ (20 ตุลาคม) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค ครั้งที่ 29 ไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ได้จึงต้องออกเป็นแถลงการณ์ประธาน (Chair’s Statement) แทน เนื่องจากที่ประชุมยังมีความเห็นที่แตกต่างกันต่อกรณีรัสเซีย-ยูเครน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
“รัฐมนตรีและผู้แทนจากประเทศต่างๆ อาจหยิบหยกประเด็นนี้ขึ้นมาในการประชุม อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นดังกล่าวยังมีมุมมองที่หลากหลาย โปรดเข้าใจว่าเวทีโอเปคเป็นการประชุมเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยสิ่งที่ที่ประชุมให้ความสนใจคือ วิธีการในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้คนโดยรวม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และผู้มีรายได้ต่ำ ท่ามกลางค่าครองชีพ เงินเฟ้อ และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น” อาคมกล่าว
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การอภิปรายในการประชุมครั้งนี้ อาจมีการหารือเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรและการควบคุมการส่งออกต่อรัสเซีย หลังจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมไปถึงการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียของกลุ่ม G7 ที่จะมีผลในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ เพื่อลดรายได้ที่ใช้ทำสงครามของรัสเซียจากการส่งออกน้ำมัน
โดยอาคมยังยืนว่า เนื้อหาทั้งหมดที่อยู่ในวาระอื่นๆ ที่ประชุมสามารถตกลงกันได้หมด ยกเว้นแต่ความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่ไม่ได้อยู่ใน Joint Statement
อาคมระบุอีกว่า มี 2 ประเด็นที่ที่ประชุมเห็นร่วมกันและเป็นห่วง คืออัตราเงินเฟ้อที่มาจากราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น อีกประเด็นคือหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดทำให้แต่ละประเทศมีการกู้ยืมเงินมาเพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ ดังนั้น จึงมีการหารือเกี่ยวกับการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้หลังยุคโควิด นำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมๆ กับประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ โดยเห็นตรงกันว่าเมื่อรัฐบาลมีภาระมาก การลงทุนต่อไปในอนาคตจะให้เอกชนมาร่วมด้วย
รัฐมนตรีคลังไทยเปิดเผยอีกว่า ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจของผู้แทนจากประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศที่เข้าร่วมประชุม เห็นตรงกันทั้งหมดว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเกิดภาวะชะลอตัว แต่การชะลอตัวนั้นไม่ได้เกิดในทุกประเทศ โดยบางประเทศเศรษฐกิจอาจเติบโตสูงว่าปีนี้ อย่างไรก็ตาม แต่ละภูมิภาคจะมีความแตกต่างกัน ส่วนไทยมองว่าด้วยอานิสงส์การปรับตัวของภาคท่องเที่ยว น่าจะทำให้เศรษฐกิจเราปีนี้และปีหน้าปรับตัวขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าประเทศกลุ่มลูกค้าจะมีการเปิดประเทศเมื่อไร
ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม ได้แก่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และหน่วยงานสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit)
โดยในแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 (Chair’s Statement of the 29th APEC Finance Ministers’ Meeting) ยังระบุถึงสาระสำคัญต่างๆ ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) และผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเซบู ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของผลลัพธ์ภายใต้การประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อประสบการณ์และวิธีการสำหรับการลงทุนด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Experiences and Available Tools for Financing a Just Energy Transition)