×

จับตาประชุมผู้นำ APEC 2024 วาระใหญ่การค้าโลก กับอนาคตพหุภาคีที่ไม่แน่นอนหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง

12.11.2024
  • LOADING...
APEC 2024

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ครั้งที่ 31 ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู เตรียมเปิดฉากขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ยังตึงเครียด และมีหลายประเด็นน่าจับตามอง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งก่อให้เกิดคำถามถึงความไม่แน่นอนต่ออนาคตการค้าและความร่วมมือแบบพหุภาคีในหลายองค์กร และกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

เวทีประชุม APEC ปีนี้มีขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก Empower, Include, Grow มุ่งเน้นการเชื่อมโยงด้านการค้า การลงทุน การเติบโตที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

อย่างไรก็ตาม แนวคิด ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First) ของทรัมป์ และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจปะทุขึ้นในยุคทรัมป์ 2.0 อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ และลดการกีดกันทางการค้าในเวทีประชุม APEC ครั้งนี้ 

 

และนี่คือวาระสำคัญที่คาดว่าจะถูกหยิบยกขึ้นหารือในระหว่างการประชุม

 

สงครามการค้า การกีดกันทางการค้า

 

ผู้นำจากทั้ง 21 ประเทศ รวมถึง สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน และ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ จะเดินทางไปร่วมการประชุมครั้งนี้ ท่ามกลางการจับตามองความเคลื่อนไหวของทั้งสองฝ่ายว่าจะส่งผลเช่นไรต่อสถานการณ์ความสัมพันธ์และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว บรรยากาศของทั้งสองฝ่ายที่พบกันในการประชุม APEC ที่นครซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ ดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี และอาจมีสัญญาณความสัมพันธ์แง่บวก

 

อย่างไรก็ตาม การพบกันของสีและไบเดนทั้งในเวที APEC (15-16 พฤศจิกายน) ต่อด้วย G20 ที่บราซิล (18-19 พฤศจิกายน) อาจไม่สามารถคาดเดาถึงผลลัพธ์แง่บวกและการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจได้มากนัก เนื่องจาก ‘การเปลี่ยนแปลง’ ที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่าง ‘รุนแรงและรวดเร็ว’ ในรัฐบาลทรัมป์ 2.0

 

โดย เจฟฟรีย์ มูน ผู้อำนวยการ China Moon Strategies และอดีตสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ มองว่า จุดสูงสุดของ APEC คือเมื่อปีที่แล้ว จากการที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC อีกทั้งยังมีความเชื่อมั่นในความร่วมมือแบบพหุภาคี การพัฒนาอย่างยั่งยืน และหลักการอื่นๆ ของ APEC

 

“สิ่งต่างๆ กำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตอนนี้เรารู้แล้วว่ารัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่กำลังดำเนินการอยู่ จึงยากสำหรับผมที่จะนึกถึงสิ่งที่มีสาระและมีความหมายที่จะเกิดขึ้นได้จากการพบกันของสีและไบเดน นอกจากการสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพระยะสั้น” เขากล่าว

 

ทั้งนี้ จุดยืนของทรัมป์ที่เน้นปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทำให้โอกาสที่จะเกิดการกีดกันทางการค้ามีมากขึ้น โดยในระหว่างการหาเสียงที่ผ่านมาเขาประกาศชัดเจนว่า จะเพิ่มการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการถึง 60% เพื่อรักษาสมดุลทางการค้าที่เขาอ้างว่าสหรัฐฯ ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

 

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก 25% ขึ้นไป หากไม่สามารถยับยั้งการลักลอบนำอาชญากรและยาเสพติดข้ามพรมแดนเข้าสู่สหรัฐฯ

 

โดยท่าทีเหล่านี้ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อบรรยากาศความร่วมมือทางการค้าแบบพหุภาคีที่อาจเผชิญกับภัยคุกคามจากความไม่แน่นอนของทรัมป์ 

 

ความยั่งยืนและเทคโนโลยีสีเขียว 

 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการประชุม APEC ในปีนี้ คือความยั่งยืนและเทคโนโลยีสีเขียว รวมถึงความคิดริเริ่มในการพัฒนา ‘กรอบนโยบายไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ’ (Low-Carbon Hydrogen Policy Frameworks) สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 

 

โดยในการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ APEC ช่วงต้นสัปดาห์นี้ มีการสรุปข้อเสนอที่ร่างขึ้นระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการกว่า 270 ครั้งตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งบรรดาผู้นำจะร่วมรับรองข้อเสนอดังกล่าวในระหว่างการประชุม 

 

คาร์ลอส วาสเกซ ประธานการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ APEC ชี้ว่า “ความพยายามของ APEC ในการขับเคลื่อนทั้งด้านการค้าและการลงทุน ควบคู่ไปกับวาระที่มุ่งเน้นการเติบโตภายใน APEC กำลังสร้างแรงผลักดัน และสมาชิก APEC เข้าใจดีว่าการส่งเสริมบรรทัดฐานและนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ๆ สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างครอบคลุมได้”

 

อย่างไรก็ตาม แนวคิดและข้อเสนอเพื่อความยั่งยืนดังกล่าวอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากท่าทีของทรัมป์เช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมาเขาแสดงออกว่าไม่ได้ให้ความใส่ใจต่อปัญหาโลกรวนนัก อีกทั้งยังมองว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวง และเคยประกาศว่าจะลดเครดิตภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปได้ที่ท่าทีของเขาอาจส่งผลกระทบต่อข้อเสนอด้านความยั่งยืนและเทคโนโลยีสีเขียวต่างๆ ในเวที APEC

 

พื้นที่พูดคุยแบบไม่ผูกมัด

 

ในแง่หนึ่ง การประชุม APEC เปิดโอกาสให้ผู้นำโลกมีพื้นที่พบปะพูดคุยกัน และอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์แง่บวกเช่นกรณีของสีและไบเดนเมื่อปีที่แล้ว ที่ส่งผลให้กองทัพสหรัฐฯ และจีนกลับมาติดต่อสื่อสารกันอีกครั้ง และทั้งสองประเทศยังแสดงความมุ่งมั่นในการร่วมกันต่อสู้กับยาเสพติดและการควบคุมเทคโนโลยี AI

 

โดยปีนี้ผู้นำใหม่ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งหลายคน เช่น ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น, คริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์, ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย, คลอเดีย เชนบาวม์ ประธานาธิบดีของเม็กซิโก และ ไล่ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีของไต้หวัน ต่างมีโอกาสใช้การประชุม APEC แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในด้านกลยุทธ์การค้าและความร่วมมือที่สำคัญอื่นๆ 

 

ถึงกระนั้น ความไม่เป็นทางการนักของเวที APEC ในอีกมุมยังหมายถึงการไม่มีผลผูกมัด ซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่า APEC เป็นแค่เพียง ‘สถานที่พูดคุย’ 

 

ปัจจุบัน APEC ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกันคิดเป็น 44% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจเป็นสัดส่วน 58% ของ GDP โลก หรือ 44% ของการค้าโลก 

 

โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา APEC มีความพยายามที่จะสร้างข้อตกลงการค้าเสรีพหุภาคีฉบับใหม่ แต่ความพยายามและการพูดคุยต่างๆ อาจมีความเป็นไปได้น้อยลงในยุครัฐบาลใหม่ของทรัมป์ 

 

แลร์รี กรีนวูด อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำ APEC กล่าวว่า “สิ่งที่ดีที่สุดที่คาดหวังได้คือให้การพูดคุยทางการค้าดำเนินต่อไปบนโต๊ะเจรจา แม้ว่าจะไม่ได้มีความก้าวหน้าใดๆ ก็ตาม” 

 

โดยเขามองว่าสิ่งสำคัญในการประชุม APEC คือการหาหนทางเพื่อที่จะชะลอการเพิ่มขึ้นของการกีดกันทางการค้า

 

ภาพ: Fotoholica Press / Contributor

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising