วันนี้ (16 พฤศจิกายน) อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยเตรียมตัวมายาวนานตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่รับทราบวาระการเป็นเจ้าภาพความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ของไทย โดยกระทรวงต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของรัฐบาลและเอกชน ได้ทำงานและเตรียมการอย่างหนัก
ด้วยความตระหนักถึงผลลัพธ์ว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC จะสร้างประโยชน์ให้ประชาชนคนไทยมากที่สุดได้อย่างไร รัฐบาลไทยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ในการกำหนดหัวข้อหลักให้ไทยได้ประโยชน์มากที่สุด จึงเป็นที่มาของการกำหนดหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ คือ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ หรือ ‘Open. Connect. Balance.’
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการกำกับการทำงานให้คำนึงถึงหลักการที่สำคัญ ดังนี้
- ประเด็นในการหารือเพื่อจะส่งผลให้ช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ธุรกิจทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ได้เข้าถึงประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างเต็มที่ การเร่งฟื้นฟูการเดินทางภายหลังวิกฤตโควิด เพื่อประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การส่งเสริมเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีความรับผิดชอบผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว
- หาช่องทางให้ไทยได้แสดงศักยภาพและความพร้อมให้โลกได้เห็น ผ่านความสำเร็จในการจัดประชุมตลอดทั้งปี ซึ่งไทยต้องจัดการประชุมท่ามกลางความท้าทาย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับโควิด และสถานการณ์โลกที่ผันผวน โดยเฉพาะการประชุมผู้นำ APEC ครั้งนี้ ที่จะเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่จัดแบบพบหน้า เป็นโอกาสให้ผู้นำ APEC ได้เดินทางมาพบหน้ากัน
- หาโอกาสและช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยในสัปดาห์การประชุม APEC จะมีผู้นำและผู้แทนจากต่างประเทศเดินทางมาเยือนไทยประมาณ 3,000 คน และสื่อต่างชาติอีกกว่า 2,000 คน ซึ่งทุกคนจะได้เห็นศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน นำไปสู่โอกาสการค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้นจะเป็นโอกาสในการนำเสนอภาพความโดดเด่นทางวัฒนธรรม อาหาร การแสดง และเอกลักษณ์ความสวยงามของไทยจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งในการประชุมผู้นำ APEC ครั้งนี้ ยังมีการประชุมที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายการ เช่น APEC CEO Summit, ABAC, APEC SME ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ไทยได้ต้อนรับผู้นำจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นผู้นำเขตเศรษฐกิจ และเป็นแขกพิเศษ ได้แก่ มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีฝรั่งเศส
นอกจากนี้การประชุม APEC ครั้งนี้จะมีการลงนามความตกลงทวิภาคีที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยอีกหลายฉบับ เป็นโอกาสให้รัฐบาลได้นำเสนอวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นตั้งใจในการส่งเสริมความยั่งยืน นวัตกรรม ควบคู่ไปกับศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม โดยการประชุมนี้จะจัดแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Meeting เช่น รถยนต์ที่ใช้รับรองผู้นำก็จะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในส่วนของการประชุมจะลดการใช้กระดาษให้มากที่สุด นำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการตกแต่งสถานที่ และขยะพลาสติกในงานจะถูกนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล
“รัฐบาลและผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชาสัมพันธ์โอกาส ประโยชน์ รูปแบบ และความพร้อมของการจัดการประชุม APEC 2022 อย่างต่อเนื่อง ทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไชต์ โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์ม และช่องทางการนำเสนอต่างๆ ทั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ และเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในประเทศรับรู้ ซึ่งขอย้ำแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับประโยชน์สูงสุด” อนุชากล่าว