‘ธุรกิจแพลตฟอร์ม’ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ของโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เพราะสิ่งที่พวกเขาทำเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่เพราะเมื่อไรก็ตามที่ ‘เริ่มขยับตัว’ คนหลายพันล้านคนทั่วโลกล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
เมื่อเร็วๆ นี้ Facebook แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 2.45 พันล้านคนทั่วโลกได้จัดงาน ‘APAC Press Day’ ที่สิงคโปร์ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อต้อนรับสื่อมวลชนจากเอเชีย และเปิดเผยข้อมูลในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่คนทั่วโลกจับจ้อง
เฟกนิวส์ การปรับตัวของเพจข่าว โอกาสการเกิดขึ้นของลิบราในเอเชีย เทรนด์โซเชียลที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง THE STANDARD สรุปข้อมูลที่คุณควรรู้เอาไว้ให้แล้ว
เน้นแก้ปัญหาสังคม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ รุกภาคธุรกิจและคืนกำไรสังคม
‘Give people the power to build community and bring the world closer together’ หรือที่แปลเป็นไทยว่า การมอบอำนาจให้ผู้คนได้สร้างชุมชนและเชื่อมโยงโลกใบนี้เข้าหากัน คือจุดมุ่งหมายและพันธกิจหลักของการพัฒนาแพลตฟอร์ม Facebook
ปัจจุบัน Facebook มีอายุครบ 15 ปีพอดี และกำลังจะเริ่มเข้าสู่ปีที่ 16 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 นี้แล้ว
แต่คำถามสำคัญก็คือ ‘ชุมชน’ ในอุดมคติที่ Facebook ต้องการสร้างขึ้นมามีรูปร่างหน้าตาอย่างไรกันแน่ เพราะหลังๆ มานี้ Facebook ก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่าพวกเขา ‘มีส่วน’ สร้างปัญหากับโลกใบนี้พอสมควร ทั้งเรื่องข่าวปลอม, การเผยแพร่ความรุนแรง, เป็นช่องทางกระจายข้อความแสดงความเกลียดชัง และเริ่มส่งสัญญาณดิสรัปต์กับบางอุตสาหกรรมอยู่กลายๆ
แดน เนียรี (Dan Neary) รองประธานบริษัท Facebok ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์แอปพลิเคชันในครอบครัวของ Facebook ครอบคลุมตั้งแต่ Facebook, Instagram, WhatsApp และ Messenger มีผู้ใช้งานมากกว่า 2.8 พันล้านรายต่อเดือน และ 2.2 พันล้านรายต่อวัน แล้ว
ขณะที่ 4 ประเด็นสำคัญที่เปรียบเสมือนเสาหลักที่ Facebook จะยึดถือและเริ่มยกระดับความจริงจังในการออกนโยบายต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป เพื่อตอบคำถามทั้งหมดว่าชุมชนในอุดมคติของ Facebook มีหน้าตาเป็นอย่างไร ประกอบด้วย
1. Address Major Social Issues จัดการประเด็นปัญหาสังคม: แดนบอกว่า Facebook ต้องมีส่วนช่วยจัดการประเด็นความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมให้ได้ เช่น การแทรกแซงทางการเมือง หลังจากช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ 2016 ถูกโจมตีอย่างหนักจากการปล่อยให้ผู้ไม่หวังดีในรัสเซียเข้ามาแทรกแซงจนมีส่วนในการกำหนดอนาคตประเทศ
ปีนี้เราจึงได้เห็น Facebook รันโปรเจกต์ Political Ads ให้ผู้ใช้งานตรวจสอบได้ว่าโฆษณาการเมืองที่มีการบูสต์โพสแล้วปรากฏให้เราเห็น มีรายละเอียดเบื้องหลังอย่างไร ใครเป็นคนจ่ายเงินซื้อโฆษณา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสกับแพลตฟอร์ม
ฟีเจอร์ดังกล่าวยังถูกนำไปใช้กับ ‘Why am i seeing this AD?’ ด้วย ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปตรวจเช็กได้ว่าทำไมโฆษณาทั้งหมดของ Facebook ถึงมาปรากฏบนหน้าฟีดของเรา โดยผู้ใช้งานที่ไม่ต้องการให้ Facebook เก็บข้อมูลเราไปก็สามารถเลือกตั้งค่าในโหมด Off-Facebook Activity เพื่อดูว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่ถูกเก็บไว้ และลบข้อมูลที่ถูกเก็บไปได้ด้วยตัวเอง
ส่วนคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม แอ็กเคานต์ปลอม-ข่าวปลอม Facebook ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะนำแมชชีนเลิร์นนิงเข้ามาทำงานร่วมกับองค์กรนอกกว่า 55 ราย เพื่อช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงของโพสต์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ถูกแชร์บนแพลตฟอร์มในกว่า 60 ประเทศ และ 40 ภาษา
รวมๆ แล้ว Facebook มีทีมงานที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะมากกว่า 35,000 คน และสามารถจัดการแอ็กเคานต์ปลอมไปแล้วทั้งสิ้น 2.2 พันล้านแอ็กเคานต์ (นับจนถึงไตรมาส 1/2019) ซึ่งเมื่อนับรวมตลอดทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา Facebook สามารถลบคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายได้กว่า 26 ล้านชิ้น
2. New Product Experiences เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ: ปีที่ผ่านมา Facebook เปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก เช่น Portal Mini, Portal TV และ Oculus Quest (ฮาร์ดแวร์), บริการหาคู่ Dating และ Facebook Pay ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมได้แบบจบในแพลตฟอร์ม รวมถึงลิบราและคาลิบราที่เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีหน้า
3. Business รุกหนักภาคธุรกิจ SMB: ทุกวันนี้ Facebook มีจำนวนเพจธุรกิจที่อยู่บนแพลตฟอร์มมากกว่า 140 ล้านเพจ ในจำนวนนี้มีเพจที่ซื้อโฆษณาบูสต์โพสต์ประมาณ 7 ล้านเพจ ซึ่งผู้ประกอบการ SMB (ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง) คือกลุ่มที่ Facebook ค่อนข้างให้ความสำคัญมากๆ เพราะถือเป็นฐานรากสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลภูมิภาคเอเชียน ไม่แปลกที่ระยะหลังๆ มานี้เราได้เห็นโครงการเวิร์กช็อปให้ความรู้ผู้ประกอบการจาก Facebook ถี่มากกว่าปกติ
4. Force for good คืนกำไรให้สังคม: ทำโครงการต่างๆ ที่ให้ความรู้ผู้คนในด้านความปลอดภัยบนโลกโซเชียล และรณรงค์ไม่ให้เกิดการบูลลี โดยนำ AI มาช่วยทำงานในหลายๆ ด้าน รวมถึงการตรวจจับการฆ่าตัวตายเพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้าให้ความช่วยเหลือเหยื่อได้ทันท่วงที (ในไทยร่วมมือกับสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย)
คนเอเชียติดโซเชียล ชอบดูวิดีโอ และใช้งานผ่าน ‘มือถือ’ เป็นหลัก
จากผู้ใช้งาน Facebook กว่า 2.45 พันล้านคน รู้หรือไม่ว่าในจำนวนนี้มีผู้ใช้งานที่อาศัยอยู่ในเอเชียมากกว่าเกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 1 พันล้านคน แถมยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี
รองประธาน Facebook ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบอกกับสื่อมวลชนว่าตัวเลขและเทรนด์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Facebook ในเอเชียยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก GSMA Intelligence ที่เปิดเผยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมายังบอกอีกด้วยว่า เมื่อเทียบสัดส่วน ‘ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนหน้าใหม่’ ใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย อเมริกา, ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา, เอเชียแปซิฟิก จะพบว่า ‘เอเชีย’ คือภูมิภาคที่ครองส่วนแบ่งผู้ใช้สมาร์ทโฟนหน้าใหม่มากสุดถึง 61% รองลงมาคือยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาที่ 25% และสุดท้ายอเมริกา 14%
ตัวเลขเหล่านี้ในอีกนัยหนึ่งยังตีความได้ว่า มีคนเอเชียจำนวนไม่น้อยที่เตรียมจะตบเท้าเข้ามาในแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย ด้าน eMarketer ก็เปิดเผยเช่นกันว่า ตลาด APAC สามารถครองส่วนแบ่งผู้ชมคอนเทนต์วิดีโอทั่วโลกในทุกแพลตฟอร์มสูงแซงทุกภูมิภาคเป็นอันดับหนึ่งที่ 54.4%
สอดคล้องกับตัวเลขของ Facebook ที่ระบุว่าในทุกๆ วันมีผู้ใช้งานในเอเชียใช้ฟีเจอร์ Stories สูงถึง 500 ล้านราย
ไม่แปลกที่ ‘Video is exploding’ จะกลายเป็นคำที่แดนหยิบขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นว่าวิดีโอตอนสั้นสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ใช้งานในเอเชียได้อย่างมหาศาล และสร้างเอ็นเกจกับคนได้เยอะ (ไม่ใช่แค่ Facebook หรือ Instagram เพราะ TikTok ก็เข้าข่ายเคสแพลตฟอร์มวิดีโอตอนสั้นเหมือนกัน)
อีกเทรนด์ที่แดนชี้ว่าต้องจับตาให้ดี คือการที่อีคอมเมิร์ซกำลังกลายพันธ์ุตัวเองเป็น ‘โซเชียลคอมเมิร์ซ (Social Commerce)’ ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สักเท่าไรในประเทศไทย เพราะผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในบ้านเราก็ไลฟ์สดขายของผ่าน Facebook หรือ LINE กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่กับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แดนคาดว่าเราน่าจะได้เห็นปรากฏการณ์นี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น
ชื่อของ ‘บังฮาซัน’ จึงกลายเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ Facebook หยิบยกขึ้นมาให้เห็น หลังจากที่เขาขายอาหารทะเลตากแห้งบน Facebook Live และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยทุกๆ ครั้งที่บังฮาซันไลฟ์ขายอาหารทะเลตากแห้ง ว่ากันว่าเขาจะได้รับออร์เดอร์มามากถึง 3,000 รายการเลยทีเดียว!
สรุปเทรนด์ที่แดนมองว่าต้องจับตาไว้ให้ดีคือ คนส่วนใหญ่จะเน้นหันมาใช้บริการดิจิทัลต่างๆ บนสมาร์ทโฟนกันมาก (Shift to Mobile), คนจะเน้นเสพคอนเทนต์ที่มีอายุชั่วคราว (Ephemeral Content เช่น Stories), คอนเทนต์วิดีโอจะได้รับความนิยมต่อเนื่อง (Video is Exploding), แชต แอปฯ ยังรักษาความนิยมได้ดี (Messaging is taking off) และวิวัฒนาการของการค้าออนไลน์ (Commerce is Evolving)
‘Facebook News’ หน้าฟีดข่าวแยก ทางรอดและความหวังเพจข่าวออนไลน์?
การปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมให้คอนเทนต์ต่างๆ ของเพจปรากฏบนหน้าฟีดผู้ใช้งานน้อยลงกว่าปกติสร้างผลกระทบให้แบรนด์ เพจในกลุ่ม UGC และ ‘เพจสำนักข่าวออนไลน์’ พอสมควร จนหลายฝ่ายต้องเร่งปรับตัวกันยกใหญ่ เนื่องจากมีผลต่อเนื่องกับยอดวิวและการหารายได้
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Facebook ได้เริ่มทดลองให้ผู้ใช้งานบางรายในสหรัฐฯ ได้ลองใช้งาน ‘Facebook News’ ซึ่งเป็นหน้าฟีดข่าวแบบแยกในแอปฯ Facebook (เพิ่มแถบใน Facebook เป็น 6 แถบจากที่ก่อนหน้านี้มี Home, Watch, Marketplace, Groups, Notifications และ Menu) และเป็นพื้นที่ที่กรองความสนใจให้คนที่อยากอ่านข่าวโดยเฉพาะ
ความเจ๋งของ Facebook News (จากที่ได้ดูตัวอย่างสาธิตการใช้งานคร่าวๆ) คือการที่ตัวหน้าฟีดถูกออกแบบมาเพื่อ ‘ข่าว’ จริงๆ แถมฟีเจอร์ต่างๆ ก็ยังสามารถชูความโดดเด่นของคอนเทนต์ข่าวได้เป็นอย่างดี เช่น Today’s Stories ที่นำฟีเจอร์ Stories ของ Instagram มาประยุกต์ใช้กับคอนเทนต์ข่าวเด่นประจำวัน หรือการกรองข่าวตามความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน (เลือกประเภทข่าวและสำนักข่าวที่เราติดตามได้แบบ Personalization) และการนำเสนอข่าวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของผู้ใช้งานแต่ละราย
อันจาลี คาปูร์ (Anjali Kapoor) ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือฝ่ายข่าวของ Facebook ใน APAC เผยว่า Facebook News ได้เริ่มทดลองให้ผู้ใช้งาน Facebook กว่า 300,000 รายในสหรัฐฯ เริ่มใช้งานไปแล้ว และเพราะเป็นจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่เล็กมาก และเพิ่งทดสอบได้ไม่นาน จึงยังไม่รู้ฟีดแบ็กที่แน่นอน
โดยในอนาคต Facebook News จะขยายการทดสอบไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงยังมีความเป็นไปได้ที่จะรองรับคอนเทนต์ข่าวอื่นๆ นอกเหนือจากแค่ลิงก์แนบหรือบทความในเว็บไซต์ แต่ยังไม่สามารถบอกไทม์ไลน์ที่แน่ชัด
แม้จะยังไม่สามารถบอกกรอบเวลาการให้ใช้บริการในประเทศไทยได้ แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยว่าเมื่อ Facebook News เริ่มให้ใช้บริการแพร่หลายและขยายมายังประเทศไทยจริงๆ เพจสำนักข่าวออนไลน์แต่ละเพจจะต้องปรับตัวอีกหรือไม่ หรือจะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมมากแค่ไหน ที่แน่ๆ หลายฝ่ายน่าจะได้รับประโยชน์จากฟีดแบบใหม่นี้แน่นอน
ลิบราในเอเชียเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?
นับตั้งแต่ที่เปิดตัวโปรเจกต์อย่างไม่เป็นทางการไปเมื่อกลางปี คำถามและความเคลื่อนไหวของ ‘ลิบรา’ ก็กลายเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่หลายๆ คนอยากได้ยินจาก Facebook มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาผู้ออกกฎระเบียบข้อบังคับและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มตั้งคำถามและมีทีท่าแสดงความกังวลต่อมันอย่างชัดเจน
ในงาน APAC เรามีโอกาสได้พบกับ เบนจามิน โจ (Benjamin Joe) รองประธานของ Facebook อาเซียน ผู้สื่อข่าว THE STANDARD จึงไม่รอช้า เปิดฉากถามเขาทันทีว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะได้เห็นลิบราเข้ามาให้บริการในประเทศแถบเอเชีย?
“ลิบราไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเรา มันก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมอิสระที่มีหน่วยงานหลายแห่งรวมเข้าด้วยกัน Facebook เป็นแค่หนึ่งในบริษัทที่อยู่ในสมาคมนั้น การตัดสินใจต่างๆ ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกส่วนใหญ่ของสมาคม
“ถ้าคุณมองในแง่ที่ว่า ลิบรา ตั้งเป้าจะทำอะไรกันแน่? มันจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือให้กับผู้คนทั่วโลกได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งในอาเซียนก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบปัญหาที่ว่า (การเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงิน) ในมุมมองความเข้าใจของผมจึงเชื่อว่าลิบราจึงน่าจะสามารถเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ได้ แต่ก็อย่างที่บอกว่า การตัดสินใจเป็นหน้าที่ของสมาคม ผมคงไม่สามารถบอกอะไรได้มากไปกว่านี้”
ถึงแม้คำตอบและท่าทีที่เราได้รับจากโจจะค่อนข้างแบ่งรับแบ่งสู้ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยยืนยันได้ว่า ‘อาเซียน’ จะเป็นหนึ่งในตลาดกลุ่มเป้าหมายที่ลิบราเล็งขยับมาให้บริการให้ได้เป็นลำดับต้นๆ
ส่วนจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ปีหน้าเราคงจะได้รู้กัน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์