×

‘AOT’ คาดปี 66 ยอดผู้โดยสารฟื้น 68% แตะ 96 ล้านคน หนุนผลงานพลิกกำไร ส่วนปี 67 คาดยอดผู้โดยสารแตะ 140 ล้านคนเท่าก่อนโควิด

08.11.2022
  • LOADING...
AOT

บมจ.ท่าอากาศยานไทย คาดปี 2566 จำนวนผู้โดยสารต่างชาติเข้าไทยแตะ 96 ล้านคน ฟื้นแรง 68% ส่วน 2567 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาปกติได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดที่ 142 ล้านคน 

 

นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง และหลายประเทศปลดล็อกมาตรการให้ประชาชนสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้แล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นมา ส่งผลให้มียอดผู้โดยสารชาวต่างชาติทยอยเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดย AOT คาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานตามงวดบัญปีในปี 2566 (1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566) ของบริษัทภายใต้ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 96 ล้านคน ฟื้นตัวจากปีก่อน 68% โดยยังไม่ได้นับรวมผู้โดยสารจากจีนที่ปัจจุบันยังไม่เปิดประเทศให้ชาวจีนเดินทางออกมา

 

พร้อมทั้งคาดว่าในปี 2567 ยอดผู้โดยสารจะกลับมาฟื้นตัวเป็นระดับปกติได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด มีจำนวนผู้โดยสารถึง 142 ล้านคน หรือมีจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาประมาณ 4 แสนคนต่อวัน 

 

สำหรับข้อมูลล่าสุดที่สายการบินทั่วโลกได้นำส่งการจองตารางเที่ยวบินฤดูหนาวเข้ามาในประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ถึงปัจจุบัน พบว่ายังเป็นตามที่คาดการณ์ไว้ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% เมื่อเปรียบเทียบกับตารางเที่ยวบินฤดูร้อนที่ผ่านมา โดยยอดผู้โดยสารต่างชาติทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565  

 

ส่วนตัวเลขล่าสุดวานนี้ (7 พฤศจิกายน) อยู่ที่ 2.3 แสนคนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงตารางเที่ยวบินฤดูร้อนที่เพิ่งจบไปอยู่ที่ 1.9 แสนคนต่อวัน แม้จะยังไม่มีชาวจีนที่เดินทางเข้ามา เพราะรัฐบาลจีนยังไม่อนุญาตให้คนจีนเดินทางออกประเทศ 

 

สำหรับผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาไทย มาจากประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นหลังจากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันในการโปรโมตทำการตลาด

 

คาดผลงานปี 2566 พลิกมีกำไร

นอกจากนี้ประเมินว่าจากยอดผู้โดยสารของ AOT ในงวดบัญชีปีในปี 2566 ของบริษัทที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี จะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนบริษัทเริ่มกลับมามีผลประกอบการที่มีกำไรในระดับหลักพันล้านบาท โดยมาจากรายได้ที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นไปตามจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาไทยตามที่บริษัทประเมินไว้ 

 

ขณะที่งวดผลการดำเนินงานงวดปี 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565) ยอมรับว่าจะยังมีผลขาดทุน หลังจากในช่วงงวด 9 เดือนแรกปี 2565 (สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2565) ยังมีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 9,755 ล้านบาท จากผลกระทบที่จำนวนผู้โดยสารลดลงจากปัจจัยการแพร่ระบาดของโควิด แต่คาดว่าในงวดบัญชี 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567) บริษัทจะกลับมากำไรในระดับหมื่นล้านบาทได้ จากการประเมินจำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิดที่ระดับ 142 ล้านคน

 

สำหรับรายได้ปี 2566 ที่ฟื้นตัว ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินจะเพิ่มขึ้นหลังจากวันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่ง AOT มีกำหนดกลับมารับผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) จากผู้ประกอบการพื้นที่เชิงพาณิชย์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ AOT ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยการงดเว้นการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบในช่วงสถานการณ์โควิด

 

ส่วนคิง เพาเวอร์ ที่มีสัญญาบริหารพื้นที่ดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่ รวมถึงบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ และส่วนผู้โดยสารในประเทศของสนามบินสุวรรณภูมิ ยังคงเก็บตามอัตราขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) จำนวนรายได้ต่อหัว โดยสนามบินสุวรรณภูมิเก็บ 233 บาทต่อคน, สนามบินภูมิภาค 127 บาทต่อคน และพื้นที่เชิงพาณิชย์และในประเทศสุวรรณภูมิ เก็บ 71 บาทต่อคน หากมีจำนวนผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิเกิน 66 ล้านคนต่อปี ก็จะปรับการเก็บเป็นรายได้ต่อหัว รวมกับการพิจารณาอัตราการเติบโตของผู้โดยสารและอัตราเงินเฟ้อของปีก่อนหน้า (MAG I)  

          

นอกจากนี้ AOT ยังติดตามแนวโน้มในช่วง 300-400 วันจากนี้ เพราะถือเป็นช่วงชี้เป็นชี้ตายหรือโกลาหลของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยและทั่วโลก เนื่องจากจะมีดีมานด์จากผู้โดยสารทั่วโลกที่จะเดินทางทะลักเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งสวนทางกับฝั่งซัพพลายเซนในประเทศที่ล่มสลายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยฝั่งซัพพลายสัดส่วนมากกว่า 50% หายไปจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงบุคลากรกับแรงงานในอุตสาหกรรม และจำนวนรถยนต์แท็กซี่ที่หายไปจำนวนมากด้วย ดังนั้นจึงทำให้มีความเสี่ยงที่เกิดความไม่สมดุลขึ้นระหว่างดีมานด์กับซัพพลายได้ตลอดทั้งปี 2566 เพราะยังใช้เวลาในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน

 

จับมือพันธมิตรเปิดตัวแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT

AOT จึงมีแผนนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างสมดุลระหว่างดีมานด์กับซัพพลายในภาคการท่องเที่ยว โดยร่วมมือกับ บมจ.สกาย ไอซีที (SKY) นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาบริการแอป ‘SAWASDEE by AOT’ ให้กลายเป็น Thailand Travel Super App ใช้ตัวช่วยให้บริการผู้โดยสารต่างชาติตลอดการเดินทางในไทย อีกทั้งบริษัทจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการบริการในแอปนี้ด้วย

 

สิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สกาย ไอซีที กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะมีผู้มาลงทะเบียนใช้งานแอป ‘SAWASDEE by AOT’ จำนวน 4 ล้านรายภายในปี 2567 และคาดว่าจะแตะระดับ 10 ล้านรายภายในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า และคาดการณ์ว่าจะช่วยให้เงินสะพัดจากแอปเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ SAWASDEE by AOT ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน 3 ด้าน ได้แก่ 1. Digital Airport Experiences ยกระดับประสบการณ์ภายในสนามบิน 2. Digital Lifestyle ยกระดับบริการด้านการใช้จ่ายและสิทธิพิเศษ และ 3. Digital Travel Safety ยกระดับความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว 

 

SAWASDEE by AOT มีฟีเจอร์ที่โดดเด่น คือ ‘Flights’ เชื่อมต่อข้อมูล Flight Board จากสนามบิน ค้นหาเที่ยวบินทั้งขาเข้า-ขาออก สามารถบันทึกไฟลต์บินล่วงหน้าก่อนการเดินทาง พร้อมแจ้งเตือนหากมีการเปลี่ยนแปลงของเที่ยวบิน ‘Queue Time’ แสดงข้อมูลเวลารอคิวในทั้ง 3 โซนภายในสนามบิน ได้แก่ จุดเช็กอิน จุดตรวจค้นเพื่อการรักษาความปลอดภัย และจุดตรวจหนังสือเดินทาง เป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้โดยสารไม่พลาดเที่ยวบิน และ ‘Taxi Reservation’ สะดวกรวดเร็วกว่ากับบริการจองรถแท็กซี่ เฉพาะผู้ใช้งานแอปเท่านั้น

 

นอกจากนี้แอปนี้ยังมีบริการ SAWASDEE Pay หรือกระเป๋าเงินดิจิทัลที่พัฒนาร่วมกับธนาคารกรุงไทย (KTB) เพื่อให้บริการใช้จ่ายร้านค้ากับบริการต่างๆ กับนักท่องเที่ยว โดยสามารถผูกการใช้จ่ายกับบัตรเดบิตและบัตรเครดิต Visa และ Mastercard สำหรับใช้จ่ายกับร้านค้าพันธมิตรทั้งในและนอกสนามบิน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X