เกิดอะไรขึ้น:
รัฐบาลไทยกำลังศึกษาความเหมาะสมในการยกเลิกร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) สำหรับผู้โดยสารขาเข้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมากขึ้น (คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566)
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจาก AOT สัญญาสัมปทานกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่บริษัททำไว้กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานนั้น จะยังคงมีผลอยู่ แต่จะต้องปรับแก้ไขด้วยการลดพื้นที่ลง เนื่องจากพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้าคิดเป็นสัดส่วน ~10% ของพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากรทั้งหมดที่สนามบินของ AOT
InnovestX Research ประเมินได้ว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ AOT ราว 2% และกำไรปกติราว 3-4% จากประมาณการ และจะทำให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF ปรับลดลง 2 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะนำไปปรับใช้ในประมาณการหลังจากมีการประกาศอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี ผลกระทบเชิงลบที่ประเมินได้จะลดลงหาก AOT เปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่นๆ อาทิ พื้นที่ให้เช่า และเชื่อว่ามาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอื่นๆ ของรัฐบาล ยกตัวอย่างเช่น การยกเว้นวีซ่า โดยเฉพาะตลาดจีน จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ AOT ได้
ด้านแผนขยายสนามบินของ AOT ตามข้อมูลที่รวบรวมได้แสดงให้เห็นว่า AOT ตั้งงบลงทุนไว้ที่ ~9.6 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่สนามบินเดิม อีกทั้งยังมีการลงทุนอื่นเพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายสนามบินที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การรับบริหารจัดการสนามบิน (~1.0 หมื่นล้านบาท, อยู่ระหว่างดำเนินการ) และการสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง (~1.5 แสนล้านบาท, อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้)
แผนการลงทุนดังกล่าวจะทำให้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของ AOT เพิ่มขึ้น 80-89% จาก 116 ล้านคนต่อปี สู่ 209-219 ล้านคนต่อปีภายในปี 2574 และจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว รวมทั้งมองว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ AOT ที่ 3.2-4.6 หมื่นล้านบาทในปี FY2567-2569 จะเพียงพอสำหรับใช้สนับสนุนรายจ่ายลงทุนตามที่บริษัทตั้งเป้าไว้ และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งด้วยฐานะเงินสดสุทธิจะเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถก่อหนี้เพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามแผนบริหารจัดการสนามบินและสร้างสนามบินใหม่จำนวน 2 แห่ง
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AOT ปรับขึ้น 3.28% สู่ระดับ 63.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 0.77% สู่ระดับ 1,401.72 จุด
กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ:
ใน 1QFY67 (ตุลาคม-ธันวาคม 2566) ประเมินกำไรปกติของ AOT ได้ที่ 5.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด YoY และ 54%QoQ โดยอิงกับจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ 16.9 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 54%YoY และ 13%QoQ, 83% ของระดับก่อนเกิดโควิด-19) AOT จะประกาศผลประกอบการในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ในระหว่างวันที่ 1-16 มกราคม จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศอยู่ที่ ~80% ของระดับก่อนเกิดโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้น MoM
ด้าน Valuation ปัจจุบันสะท้อนความคาดหวังระดับต่ำของตลาด โดยปัจจุบันหุ้น AOT เทรดที่ P/E ปี FY2567 ระดับ 35 เท่า (+1SD ของค่าเฉลี่ยในอดีตในปี FY2553-2562) หรือ PE-to-Earnings Growth (PEG) ระดับ 0.2 เท่า ต่ำกว่า PEG เฉลี่ยของหุ้นกลุ่มเดียวกันในตลาดภูมิภาคที่ 0.3 เท่า ซึ่งบ่งชี้ถึงความคาดหวังของตลาดที่ต่ำ ในขณะที่กำไรของ AOT มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยประเมินราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 อ้างอิงวิธี DCF อยู่ที่ 84 บาทต่อหุ้น โดยอิงกับ WACC ที่ 7.2% และการเติบโตระยะยาวที่ 2%
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้าน ESG คือ การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งก๊าซเรือนกระจก พลังงาน น้ำเสีย เสียงรบกวน และขยะ ที่มีประสิทธิภาพ (E)