×

AOT ขอคืนพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วนในสุวรรณภูมิจาก ‘คิง เพาเวอร์’ ใช้สร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร พร้อมมองรายได้ปี 68 เป็นขาขึ้น

23.11.2024
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (21 พฤศจิกายน) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า การขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (East Expansion)

 

AOT เตรียมจะดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะมีพื้นที่ก่อสร้างบางส่วนอยู่บริเวณสวนหย่อมภายนอกอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออก (Food Stop (City Garden เดิม)) ชั้น 2 ซึ่งพื้นที่บางส่วน KPS ได้รับสิทธิ์ในการประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์สำหรับร้านค้าย่อยหรือบริการต่างๆ โดยมีอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 – 31 มีนาคม 2576

 

ทั้งนี้ AOT จึงจำเป็นต้องขอคืนพื้นที่ดังกล่าวจาก KPS โดยมีหนังสือแจ้งและ KPS ได้ส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวคืนให้แก่ AOT ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 โดย KPS ขอให้ AOT จัดสรรพื้นที่อื่นภายในอาคารผู้โดยสารภายในประเทศขนาดเท่ากันให้แทน แต่ AOT ไม่สามารถจัดหาทดแทนให้ได้ เนื่องจากปัจจุบันไม่เหลือพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ

 

โดยที่ประชุมคณะกรรมการ AOT จึงมีมติอนุมัติให้ AOT ขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการของ KPS ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวนรวมประมาณ 1,257.560 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 4.97% ของพื้นที่ประกอบกิจการทั้งหมดของ KPS โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดย AOT จะคืนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปีสัญญาที่ 2 (วันที่ 1 เมษายน 2566 – 31 มีนาคม 2567) ที่ KPS ได้จ่ายให้ AOT ไว้แล้วตามจำนวนพื้นที่ประกอบกิจการที่ลดลง ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา เป็นจำนวนเงินประมาณ 193.08 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ การขอคืนพื้นที่จาก KPS จะทำให้ AOT มีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลดลงเดือนละ 591,000 บาท และค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนในช่วงปีสัญญาที่ 3 (วันที่ 1 เมษายน 2567 – 1 มีนาคม 2568) ลดลงเดือนละประมาณ 23.46 ล้านบาท ซึ่ง AOT ได้รับรู้รายการดังกล่าวไว้ในงบการเงินประจำปี 2567 แล้ว

 

แต่อย่างไรก็ตาม AOT คาดว่าเมื่อโครงการก่อสร้าง East Expansion แล้วเสร็จ จะทำให้ AOT มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการผู้โดยสาร และการอนุญาตให้ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการชดเชยรายได้ส่วนที่ลดลงต่อไป

 

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย

 

AOT มั่นใจรายได้ปี 2568 เป็นขาขึ้น อานิสงส์จำนวนผู้โดยสารเพิ่มต่อเนื่อง

 

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยในงานแถลงข่าวผลประกอบการของ AOT ประจำปีงบประมาณ 2567 และคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ว่า มีความมั่นใจว่ารายได้รวมของบริษัทงวดปี 2568 (เดือนตุลาคม 2567 – กันยายน 2568) จะยังคงอยู่ในขาขึ้นต่อเนื่องจากงวดปี 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) โดยปัจจัยสนับสนุนธุรกิจในงวดปี 2568 จะมาจากทั้งกลุ่มธุรกิจการบินเป็นหลัก (Aero) กับธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินโดยตรง (Non-Aero) ที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากจำนวนผู้โดยสารที่งวดปี 2568 ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นจากงวดปี 2567

 

ทั้งนี้ AOT ได้ประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ในปีงบประมาณ 2568 (เดือนตุลาคม 2567 – กันยายน 2568) ว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมอยู่ที่ประมาณ 130 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 78.61 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.17% และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 51.36 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.18%

 

ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.02% และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.02%

 

จากประมาณการการจราจรทางอากาศของปีงบประมาณ 2568 จะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้โดยสารฟื้นตัวใกล้เคียงกับปริมาณผู้โดยสารช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 AOT คาดว่าระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2567 – 4 มกราคม 2568 จะมีผู้โดยสารเดินทางมาใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่ง ประมาณ 2.86 ล้านคน ฟื้นตัว 92.9% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด (วันที่ 29 ธันวาคม 2562 – 4 มกราคม 2563) แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 1.83 ล้านคน ฟื้นตัว 95.3% และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 1.03 ล้านคน ฟื้นตัว 88.8%

 

ขณะที่คาดว่าในปี 2568 จะมีเที่ยวบินประมาณ 17,410 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 97.5% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด (วันที่ 29 ธันวาคม 2562 – 4 มกราคม 2563) แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 10,370 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 102% หรือฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 7,040 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 91.6%

 

คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารของ AOT ประจำปีงบประมาณ 2568

 

ดร.กีรติ ประเมินถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจในปี 2568 คือเหตุการณ์ที่จะมีผลกระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างนัยสำคัญ โดยปัจจุบันยังไม่มีปัจจัยที่จะมากระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การแพร่ระบาดของโรค ส่วนประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Conflicts) ที่เกิดขึ้นในยุโรปจะส่งบวกต่อประเทศไทย เพราะชาวต่างชาติจะหันมาเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคที่ปลอดภัยแทน โดยจะเห็นได้ว่าแม้มีเหตุการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่ในช่วงรอยต่อระหว่างปี 2566 ต่อเนื่องถึงปี 2567 ยังมีนักท่องเที่ยวชาวยูเครน รัสเซีย และตะวันออกกลาง เดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น

 

“เราค่อนข้างมั่นใจว่ายังไม่มีปัจจัยเสี่ยงกังวลว่าจะมากระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยว ฉะนั้นหน้าที่ของ AOT คือทำอย่างไรที่จะขยาย Capacity เพิ่มขีดความสามารถของสนามบินเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น”

 

สำหรับ AOT มีความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารที่จะเดินทางผ่านท่าอากาศยานอย่างเต็มที่ ด้วยการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 ระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: ABIS) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition สำหรับระบุตัวตนของผู้โดยสารจะมีความพร้อมสมบูรณ์ในการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแก่ผู้โดยสารทุกท่าน ทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศและผู้โดยสารภายในประเทศ

 

โดยผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลก่อน ซึ่งระบบ ABIS จะทำให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็ว ตั้งแต่ขั้นตอนการโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง โดยผู้โดยสารไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีกต่อไป ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูล ABIS สำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

 

สำหรับผลประกอบการปีงบประมาณ 2567 ในรอบ 12 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2566 ถึงเดือนกันยายน 2567 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 19,182.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,391.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118.21% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้รวม 67,827.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.01% ซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 18,980.38 ล้านบาท หรือ 39.43% แบ่งเป็นรายได้เกี่ยวกับกิจการการบินจำนวน 31,000.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,734.64 ล้านบาท หรือ 39.23% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินจำนวน 36,120.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,245.74 ล้านบาท หรือ 39.60% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

 

ผลการดำเนินงานของ AOT ปีงบประมาณ 2567

 

สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ในปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01%

 

ประกาศแผน 5 ปี ลุยลงทุน 2 แสนล้านบาท

 

ขณะที่แผนการลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้า นับจากงวดบัญชีปี 2568 (เดือนตุลาคม 2567 – กันยายน 2572) บริษัทตั้งงบลงทุนรวมไว้ประมาณ 1.8-2 แสนล้านบาท ซึ่งกรอบระยะเวลาการเบิกจ่ายใช้เงินลงทุนจะเกิดในช่วงกรอบเวลา 10 ปี โดยสัดส่วนหลักจะใช้ลงทุนขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินเพื่อรองรับการเติบโตของการเดินทางและจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยแผนงานดังกล่าวมีรายละเอียดโครงการลงทุนที่สำคัญดังนี้

 

  • โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ของสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าลงทุน 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร ส่งผลให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 480,000 ตารางเมตร ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จะดำเนินการเปิดประมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยจะรู้ผลและเซ็นสัญญาได้ไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2568 เริ่มก่อสร้างกลางปี 2568 และแล้วเสร็จในปี 2571

 

  • โครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ (South Terminal) วงเงินลงทุน 140,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารอีก 60-70 ล้านคนต่อปี เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 512,000 ตารางเมตร จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2570 และแล้วเสร็จในปี 2575

 

  • อาคารรับรองผู้โดยสาร 3 (Terminal 3) พร้อมการปรับปรุงพื้นที่ภายในทั้งหมดของสนามบินดอนเมือง มูลค่า 36,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลกลางปี 2568 เริ่มก่อสร้างปลายปี 2568 และแล้วเสร็จในปี 2572
  • โครงการปรับปรุงสนามบินภูเก็ตระยะที่ 2 มูลค่า 10,000 ล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างกลางปี 2569 และแล้วเสร็จในปี 2572

 

  • โครงการลงทุนพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ คาดเริ่มก่อสร้างปลายปี 2568 และแล้วเสร็จในปี 2572

 

งานแถลงข่าวผลประกอบการ AOT ประจำปีงบประมาณ 2567

 

สำหรับปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวน 65 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าจำนวนผู้โดยสารในปี 2568 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะใกล้เคียงจำนวน 65 ล้านคน เพิ่มจากปี 2567 ที่มีผู้โดยสาร 60 ล้านคน ดังนั้นในระหว่างที่รอการก่อสร้าง East Expansion ที่จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มอีก 15 ล้านคนนั้น AOT พบว่าปัญหาคอขวดและทำให้สนามบินคับคั่งเป็นส่วนอาคารผู้โดยสารที่เป็นส่วนที่ใช้เช็กอิน ตรวจค้น และตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)

 

ดังนั้นจะเพิ่มจุด Self-Check In, Self-Bag Drop ติดตั้งระบบ ABIS และระบบ ตม. อัตโนมัติ เพื่อทำให้กระบวนการเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันคิว ตม. เร็วขึ้นเป็น 7,200 คนต่อชั่วโมง จากเดิม 5,500 คนต่อชั่วโมง ทั้งนี้ จะช่วยให้ยังใช้เทอร์มินัลหลักจนกว่าจะก่อสร้าง East Expansion แล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่ให้ผู้โดยสารพักคอยก่อนขึ้นเครื่องไม่ได้มีปัญหา เพราะจากที่เปิดใช้อาคาร SAT-1 ในปี 2566 ได้มารองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนี้ AOT อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าจะมีความชัดเจนไม่เกินเดือนเมษายน 2568 โดยจะพิจารณาว่ายังจำเป็นต้องสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันตกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (West Expansion) หรือไม่ ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลักเป็น 560,000 ตารางเมตร

 

ดร.กีรติ กล่าวต่อว่า AOT เตรียมออก Terms of Reference (TOR) เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการโครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรายที่ 3 และโครงการให้บริการคลังสินค้า (Cargo) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยคาดว่าจะทราบผลในเดือนมีนาคม 2568

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X