×

AOT เดินหน้าลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ใส่เงินลงทุน 1.8 แสนล้านบาท ลุยเพิ่มขีดความสามารถสนามบิน

04.07.2024
  • LOADING...
AOT

บมจ.ท่าอากาศยานไทย ประกาศแผนลงทุนครั้งใหญ่ ทุ่มงบกว่า 1.8 แสนล้านบาท ลงทุนขยายขีดความสามารถสนามบิน รองรับปี 2577 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็นประมาณ 210 ล้านคน

 

ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT เปิดเผยว่า แผนการลงทุนในระยะ 5 ปีข้างหน้านับจากงวดบัญชีปี 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) ของบริษัทตั้งงบลงทุนรวมไว้ประมาณกว่า 1.8 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนหลักจะใช้ลงทุนขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินเพื่อรองรับการเติบโตของการเดินทางและจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยตามแผนงานดังกล่าวมีรายละเอียดโครงการลงทุนที่สำคัญดังนี้

 

  • โครงการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ (South Terminal) วงเงินลงทุน 1.2 แสนล้านบาท รองรับผู้โดยสารอีก 60 ล้านคนต่อปี เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 512,000 ตารางเมตร 
  • โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ของสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าลงทุน 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น จาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง 
  • โครงการพัฒนาอาคารรับรองผู้โดยสาร 3 (Terminal 3) พร้อมการปรับปรุงพื้นที่ภายในทั้งหมดของสนามบินดอนเมือง มูลค่า 3.6 หมื่นล้านบาท 
  • โครงการปรับปรุงสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 มูลค่า 8 พันล้านบาท
  • โครงการลงทุนพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 2 มูลค่า 7 พันล้านบาท

 

“แผนการลงทุน 5 ปีนี้จะใช้ลงทุนรวมกว่า 1.8 แสนล้านบาท หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของ AOT ในรอบกว่า 10 ปี ซึ่งตอนนี้เห็นเทรนด์แล้วว่าอุตสาหกรรมการบินฟื้นกลับมาแน่นอน เพราะปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารใน 4 สนามบินที่หนาแน่นมาก จึงมั่นใจว่าไม่ใช่การลงทุนที่ Overinvestment แต่เป็นการเปิดโอกาสจำนวนผู้โดยสารที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งแหล่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทที่สร้างได้แต่ละปี และจะพิจารณาช่องทางอื่นๆ ที่เหมาะสมร่วมด้วย”

 

โครงการลงทุน  South Terminal 1.2 แสนล้านบาท

 

คาดผู้โดยสารปี 2577 แตะ 210 ล้านคน

 

ดร.กีรติ คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศของสนามบินในสังกัด 6 แห่งในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2572 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็นประมาณ 170 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน และในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2577 คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็นประมาณ 210 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1.2 ล้านเที่ยวบิน

 

โดยเป็นการทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งช่วง 8 เดือนของงวดปี 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มีผู้โดยสารรวมจาก 6 สนามบิน อยู่ที่ 81.05 ล้านคนฟื้นตัว 83.4% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 และในงวดปี 2568 AOT คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 140 ล้านคนเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด 

 

ทั้งนี้ปัจจุบันผู้โดยสารจากยุโรป อินเดีย สหรัฐฯ มีจำนวนสูงกว่าที่เคยเข้ามาช่วงปี 2562 สะท้อนถึงอุตสาหกรรมการบินและการเดินทางระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวกลับมาแล้ว โดยชาวจีนเป็นผู้โดยสารสำคัญในการฟื้นตัวกลับมา ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารจีนกลับเข้ามาในสัดส่วนประมาณ 65% ของจำนวนในอดีต ดังนั้นเชื่อว่าในงวดปี 2568 มีโอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น

 

รายได้ปี 2567 ใกล้เคียงปี 2562 ที่ทำได้ 6.47 หมื่นล้านบาท

 

ขณะที่คาดว่ารายได้รวมของบริษัทงวดปี 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) จะทำได้ไม่น้อยกว่าปี 2562 ที่มีรายได้รวม 6.47 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์ก่อนที่จะมีโควิด และดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 4.84 หมื่นล้านบาท หลังจากในงวดครึ่งปีแรกงวดบัญชีปี 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567) ทำรายได้รวม 3.4 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของการเดินทางระหว่างประเทศและจำนวนผู้โดยสารที่มีการฟื้นตัวขึ้นได้ค่อนข้างดี

 

ส่วนกรณีขอคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาออกบางส่วนนั้นก็เพื่อทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็น 80 ล้านคนต่อปีในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 60 ล้านคน โดยบริษัทต้องจัดเตรียมพื้นที่รองรับผู้โดยสารและกลุ่มผู้โดยสารพักรอคอยมากขึ้น เช่น Co-working Space รวมทั้งจัดพื้นที่ให้แม่และเด็กในการให้นมบุตร ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางในการให้บริการผู้โดยสารมากขึ้น  

 

อย่างไรก็ดี การขอคืนพื้นที่คืนดังกล่าวจะกระทบกับรายได้ค่าเช่าพื้นที่ลดลงประมาณเดือนละ 90 ล้านบาท แต่เชื่อว่าบริษัทจะได้รับค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges: PSC) ที่คิดอัตรา 730 บาทต่อคนเข้ามาชดเชย 

 

AOT

แผนขยายขีดความสามารถทุกสนามบินของ AOT

 

ยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้าไม่กระทบรายได้

 

ส่วนกรณีการยกเลิกพื้นที่ร้านสินค้าปลอดภาษี (Duty Free) ขาเข้า รวมถึงยกเลิกการยกเว้นอากรสินค้าที่ซื้อจากร้านดิวตี้ฟรีสำหรับผู้โดยสารขาเข้า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ในส่วนของบริษัทพร้อมจะยกเลิกพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้าทุกสนามบิน เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งพื้นที่เชิงพาณิชย์ขาเข้ามีไม่มาก รวมแล้วมีประมาณ 20% ของพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด และคิดเป็นรายได้ไม่ถึง 10% ของพื้นที่ขาออก ดังนั้นจึงไม่ได้กระทบกับรายได้ของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ 

 

ทั้งนี้ การขอคืนพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ผลักดันให้สนามบินของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ และเพิ่มความสามารถของสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นเพื่อก้าวเป็น Aviation Hub 

 

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ AOT ที่ 55% มาจากรายได้จากกิจการการบิน (Aero) ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องการบิน (Non-Aero) อยู่ที่ 45%

โดย Non-Aero นอกจากพื้นที่ให้เช่าร้านค้า บริษัทยังมีพื้นที่ Airport City ประมาณ 600 ไร่ และพื้นที่ 723 ไร่ ใกล้สนามบิน โดยจะนำพื้นที่ Airport City มาให้สัมปทาน เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ประชุมโรงแรม หรืออื่นๆ สามารถช่วยเพิ่มรายได้กลุ่ม Non-Aro ได้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะเปิดประมูลให้ผู้ที่สนใจโครงการในปลายปี 2567 นี้ และคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในปี 2568  

 

สำหรับส่วนพื้นที่ 723 ไร่ ปัจจุบันได้เริ่มเจรจากับผู้ประกอบการบางส่วนที่สนใจเพื่อจะพัฒนาเป็นโลจิสติกส์พาร์ก กับศูนย์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่การบินของสายการบิน โดยประเมินว่าบริษัทจะได้รับรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ทั้งจาก Airport City และพื้นที่ 723 ไร่ ได้ประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี  ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2569 หรือ 2570 โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะยังใกล้เคียงกับปัจจุบัน โดยมาจากรายได้จากกิจการการบิน (Aero) สัดส่วน 55% ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องการบิน (Non-Aero) อยู่ที่ 45% 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising