วันนี้ (4 กุมภาพันธ์) อันวาร์ สาและ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ส.ส. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันแถลงข่าวรายงานความคืบหน้าการติดตามแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชายแดนใต้ หลังจัดตั้งสภาประชาชนแดนใต้เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 เพื่อรับฟังและแก้ไขปัญหาต่างๆ
โดยหนึ่งในปัญหาที่ได้รับเรื่องร้องเรียนคือ ความเดือดร้อนของชาวประมงในจังหวัดปัตตานี หลังได้รับผลกระทบจากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการตื้นเขินหรือปัญหาสันดอนทราย รวมถึงปัญหาเครื่องมือประมงผิดกฎหมาย
เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในช่วงเดือนเมษายน 2560 ถึงกลางปี 2562 ผลการทำประชาคมได้ข้อสรุปว่า วัสดุที่ได้จากการขุดลอกกว่า 1,1000 ลูกบาศก์เมตร จะถูกนำไปจัดการ 4 แนวทาง คือ
- นำออกไปทิ้งในทะเลอ่าวไทยที่ระดับน้ำลึกไม่ต่ำกว่า 15 เมตร ห่างจากอ่าวปัตตานีประมาณ 9 กิโลเมตร
- นำไปทิ้งบนฝั่ง
- นำไปทิ้งริมอ่าวปัตตานี
- นำไปเสริมชายหาด
แต่ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสำรวจพบว่า ผู้รับเหมาและกรมเจ้าท่าไม่ได้นำวัสดุจากการขุดลอกไปทิ้งตามกำหนด จนทำให้เกิดปัญหาการตื้นเขินตามมา
ขณะที่ สมมติ เบญจลักษณ์ ส.ส. ปัตตานี พรรคประชาชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ประชาชนไม่ต้องการสันดอนทราย และต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำสันดอนทรายออกจากพื้นที่รอบๆ อ่าวปัตตานี เนื่องจากทำให้จับสัตว์น้ำได้น้อยลง กระทบรายได้ของชาวบ้าน อีกทั้งยังขัดขวางเส้นทางเดินเรือ เกิดปัญหาเรือติดกลางสันดอนทราย และทำลายเครื่องมือประมง เช่น อวนขาด เรือพลิกคว่ำ เป็นต้น และยังทำให้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้แหล่งอาหารของสัตว์น้ำลดลง รวมถึงสันดอนทรายขัดขวางทางน้ำ ส่งผลให้ระยะเวลาการทำประมงสั้นลงจากเดิม
นอกจากนี้ยังพบปัญหาการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในอ่าวปัตตานี โดย อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส. ยะลา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้ลอบพับซึ่งเป็นอุปกรณ์ดักปลาที่กำลังได้รับความนิยม เพราะลงทุน ลงแรงน้อย เพียงเอาไปวางไว้ตามร่องน้ำ เมื่อถึงเวลาก็ไปเก็บโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเหมือนการทำประมงชนิดอื่น ที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดินเครื่องยนต์ อีกทั้งอุปกรณ์ดังกล่าวทำให้เกิดผลเสียกับสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติประมง พ.ศ. 2558 ห้ามมีอุปกรณ์ดังกล่าวไว้ในความครอบครอง และลอบพับยังก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวประมง โดยเฉพาะชาวประมงอวนลอยกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากการนำลอบพับมาทำประมงในพื้นที่อ่าวปัตตานี
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย
ทั้งนี้ ทางสภาประชาชนแดนใต้จึงนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยอาจจะมีการพิจารณาไปถึงประเด็นการใช้งบประมาณคุณค่า และเป็นไปตามแบบแผนดำเนินการหรือไม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากปฏิบัติงานตามแนวทางที่วางไว้ก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาดังกล่าวได้ โดยสภาประชาชนแดนใต้จะติดตามความคืบหน้าและขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชนภาคใต้โดยไม่มีการแบ่งพรรค ยึดความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล