วันนี้ (27 ธันวาคม) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ว่า กระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และสงขลา แต่จังหวัดนราธิวาสหนักสุด อพยพประชาชนออกมายังศูนย์พักพิง ซึ่งเป็นอาคารที่ให้มาพักอาศัย มีอาหาร และปลอดภัยจากอุบัติภัยน้ำท่วม อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกพื้นที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เร่งดำเนินการช่วยเหลือ ส่วนงบประมาณก็จะลงไปดูในพื้นที่อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ 2 วันแล้ว และนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดที่เกิดเหตุตั้งแต่เมื่อวานนี้ (26 ธันวาคม) ซึ่งให้การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง
ประสานพื้นที่เร่งดูแลและให้ความช่วยเหลือประชาชน
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 32 อำเภอ 164 ตำบล 890 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 68,941 ครัวเรือน ประสานพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ระหว่างวันที่ 22-27 ธันวาคม 2566 มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 32 อำเภอ 165 ตำบล 922 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 71,401 ครัวเรือน
น้ำท่วมหนัก 5 จังหวัดภาคใต้
โดยปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ รวม 5 จังหวัด 32 อำเภอ 164 ตำบล 890 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,941 ครัวเรือน ได้แก่
- จังหวัดสตูล เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนโดน รวม 4 ตำบล 16 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,801 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- จังหวัดสงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอรัตภูมิ รวม 9 ตำบล 29 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 836 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- จังหวัดปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอกะพ้อ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอหนองจิก อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอไม้แก่น อำเภอยะรัง และอำเภอสายบุรี รวม 30 ตำบล 95 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 8,360 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- จังหวัดนราธิวาส เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแว้ง อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอศรีสาคร อำเภอยี่งอ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอรือเสาะ อำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอบาเจาะ อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหงโก-ลก รวม 70 ตำบล 457 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 39,604 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- จังหวัดยะลา น้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอธารโต อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอเมืองยะลา อำเภอกาบัง อำเภอรามัน และอำเภอกรงปินัง ยกเว้นอำเภอเบตง รวม 51 ตำบล 293 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 18,340 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน
จัดตั้งจุดอพยพชั่วคราว 6 จุด
โดยจัดตั้งจุดอพยพให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าพักชั่วคราวจำนวน 6 จุด แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่รวมกว่า 189,000 ชุด และระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เช่น เครื่องสูบน้ำจำนวน 31 เครื่อง รถบรรทุกเครื่องสูบน้ำระยะไกลจำนวน 5 คัน รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยจำนวน 5 คัน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยจำนวน 14 คัน รถผลิตน้ำดื่มจำนวน 4 คัน รถขุดตักไฮดรอลิกจำนวน 1 คัน และเรือท้องแบนจำนวน 18 ลำ เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
แจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือ 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทาง LINE ‘ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784’ โดยเพิ่มเพื่อน LINE ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT
เร่งส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน สถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ทั้งนี้ หลายพื้นที่มีการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่แล้ว
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เร่งส่งทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม (ทีม SEhRT กรมอนามัย) ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ร่วมกับทีมจังหวัดลงพื้นที่เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ประสบภัยของภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ที่มีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เน้นสนับสนุนการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงสุขภาพประชาชน
สำหรับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายทีมภารกิจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา สนับสนุนการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดทดสอบภาคสนาม ประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ เพื่อประเมินและเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพประชาชนอย่างเร่งด่วนแล้ว
ตั้งศูนย์อพยพดำเนินการภายใต้หลัก 3S
ด้าน นพ.อรรถสิทธิ์ แดงมณี ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กล่าวว่า ทีม SEhRT กรมอนามัย ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ได้ประสานงานและเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือ โดยในศูนย์อพยพดำเนินการภายใต้หลัก 3S คือ
- Survey สำรวจเตรียมการจัดกระบวนการเฝ้าระวัง
- Surveillance กำหนดผังงานและระบบที่ดี
- System ส่งทีมภารกิจปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์อนามัย ช่วยสนับสนุนการสำรวจ ประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดเตรียมสถานที่ รวมถึงการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในศูนย์อพยพให้ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ลดความเสี่ยงโรคจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น