วานนี้ (23 พฤษภาคม) ที่หอประชุมกิติยาคาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ มอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ประจำปีการศึกษา 2566
โดยในพิธีได้มีการพระราชทานปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2566 แก่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้ทำประโยชน์ต่อวงการแพทย์และสาธารณสุข เป็นที่ประจักษ์
สำหรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก สบช. โดยปกติแล้วเป็นปริญญาที่ให้กับผู้นำ หรือผู้บริหารสูงสุดในประเทศ พร้อมกับเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ประเทศชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์
ก่อนหน้านี้ ศ.พิเศษ ดร. นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดี สบช. ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่อนุทินได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ว่า เมื่อครั้งอนุทินดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทำโครงการ สบช. สัญจร เดินทางไปแนะแนวนักเรียนทั่วประเทศกว่า 2,360 แห่ง
สร้างความเสมอภาคให้กับนักเรียนทุกคนในการเข้าศึกษาใน สบช. ในสาขาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักเรียนจากทุกโรงเรียนในระดับอำเภอได้เข้าเรียนใน สบช. เพื่อให้เกิดการกระจายบุคลากรไปทั่วประเทศ พร้อมทั้งให้โอกาสเด็กในถิ่นทุรกันดารในชนบทได้ศึกษาในหลักสูตรการพยาบาล
นอกจากนี้ อนุทินได้ส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าเรียนในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ขณะนี้เรียนจบไปกว่า 2,000 คนแล้ว เพื่อให้โครงการ 3 หมอสำเร็จลุล่วงอย่างสมบูรณ์ ทั้งยังมีความคิดว่า กรณี อสม. ที่จบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มีผลการเรียนดี และมีความมุ่งมั่นตั้งใจดี ควรได้รับทุนเรียนต่อในระดับชั้นปริญญาตรี เช่น สาขาพยาบาลศาสตร์ หรือสาขานักการสาธารณสุขศาสตร์
ทั้งนี้อนุทินเป็นนักการเมืองคนแรกได้เข้ารับปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก สบช.
สำหรับผลงานของอนุทินที่ได้รับปริญญาสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก สบช. โดยภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา/ปริญญา ได้แก่
- นโยบายเกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุขที่ทำให้ระบบปฐมภูมิเข้มแข็ง ให้คนไทยทุกคนมีหมอ 3 คนคอยดูแลประจำ ได้แก่ อสม. หมออนามัย และหมอครอบครัว, ส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชนในการใช้พืชสมุนไพรกัญชากัญชง, ผลักดันพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสาธารณสุข ให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น
- ส่วนผลงานที่เกี่ยวข้องกับ สบช. เช่น บันทึกความร่วมมือกับ สบช. เพื่อเป็นเครือข่ายสร้างความร่วมมือในการผลิตบุคลากรตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข, โครงการ สบช. โมเดล สร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดโรคแทรกซ้อน, พร้อมทั้งให้โอกาส อสม. กว่า 3,000 คน อบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล, ผู้ริเริ่มโครงการอบรม ‘พระบริบาลภิกษุไข้’ ประจำ 1 วัด 1 รูป เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังมีผลงานเด่นคือ ‘ภารกิจหัวใจติดปีก’ ซึ่งเป็นปฐมบทของภารกิจเหนือการเมือง เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอนุทินและ นพ.พัชร อ่องจริต อาจารย์ศัลยแพทย์ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกและหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย