วันนี้ (2 ตุลาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมาที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เพื่อมอบนโยบายให้กับกรุงเทพมหานคร โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ
จากนั้น ชัชชาติกล่าวต้อนรับระบุว่า หน้าที่ของ กทม. คือปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล กระทรวงมหาดไทยถือเป็นโซ่สำคัญในการเชื่อม กทม. กับรัฐบาล ทั้งนี้ กทม. ได้รับบริการจากหลายหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยและพูดคุยกันในระดับปฏิบัติการตลอด ไม่ว่าจะเป็น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประปานครหลวง และการไฟฟ้านครหลวง พร้อมทั้งบูรณาการกับ 6 จังหวัดปริมณฑล แก้ปัญหาขยะ น้ำเสีย และอากาศ
“เป็นนิมิตหมายที่ดีในการตรวจเยี่ยม หวังว่าเราจะทำงานอย่างไร้รอยต่อ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สมกับนโยบายของรัฐบาล” ชัชชาติกล่าว
จากนั้นอนุทินกล่าวหลังการมอบนโยบายกับข้าราชการกรุงเทพมหานครว่า เราสองคนมาจากการเลือกตั้ง มีเป้าหมายตรงกันคือ ประโยชน์สูงสุดของพี่น้องชาว กทม. กระทรวงมหาดไทยพร้อมสนับสนุนภารกิจให้เกิดประสิทธิภาพ รวดเร็ว และไร้รอยต่อ ส่วนนโยบายระยะยาวเป็นหน้าที่ของชัชชาติที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน หากมีเรื่องเร่งด่วนกระทรวงมหาดไทยจะหารือกับ กทม. เป็นเรื่องๆ ไป เราอยู่ในคณะกรรมการเร่งรัดการพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ทุกคนมีภารกิจหน้าที่ร่วมมือทำงานเพื่อพี่น้องชาว กทม.
สำหรับประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน เพราะยังมีขั้นตอนอื่นๆ อีกมากมาย กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ตอบสนองให้ทุกอย่างมีประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้ใช้บริการ ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาปลดล็อกมาตรา 44 เพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเดินต่อไปได้หรือไม่นั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า หากคำสั่งใดจะให้ยกเว้นหรือคาไว้ต้องเร่งแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย แต่เรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยคงไม่ได้แจ้ง ให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ทั่วไป
โดยเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะเข้า ครม. ต่อให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เสนอ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องสอบถามความคิดเห็นส่วนราชการด้วย เรื่องนี้ต้องสอบถามไปยังกระทรวงคมนาคม, สำนักงบประมาณ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน ขออย่าให้ผิดกฎหมายเท่านั้นเอง
หาก กทม. เสนอให้ยกเลิกมาตรา 44 แล้วทุกอย่างอธิบายได้ตามหลักกฎหมาย ตนเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมีปัญหา แต่วันนี้มีโจทย์ยากคือ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดอดีตผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหาร BTS จึงต้องเคลียร์เรื่องนี้ให้ขาดก่อน
“หากจะเริ่มกระบวนการใหม่ต้องเคลียร์ให้เป็นยุคของผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็นยุคของผม ไม่ใช่รับอะไรจากที่เราไม่เกี่ยวข้อง ฝืนโดยที่ไม่มีความเข้าใจในปัญหาอย่างถ่องแท้ คงแก้ปัญหาได้ อย่าไปให้หน่วยงานยอมรับในสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย รัฐไม่มีสิทธิ์เอาเปรียบผู้ประกอบการ จากนี้หากเรื่องเริ่มเดินไปได้แล้ว ผมกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะต้องหารือกันให้มากขึ้น”
ขณะที่ชัชชาติกล่าวว่า สภา กทม. กำลังพิจารณาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อสภา กทม. มีข้อสรุปจากคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้วจะแจ้งกระทรวงมหาดไทย โดยมาตรา 44 ที่ค้างอยู่เป็นคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 ให้เดินรถอย่างไร้รอยต่อ กระทรวงมหาดไทยและ กทม. จะต้องหารือก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม. ส่วนจะเสนอให้ยกเลิกมาตรา 44 หรือไม่ ชัชชาติกล่าวเพียงว่า “แล้วแต่”
ทั้งนี้ การชำระหนี้ต้องรอให้สภา กทม. อนุมัติ เนื่องจากเป็นโครงการงบผูกพัน และต้องใช้เงินสะสมจ่ายขาด หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน น่าจะชำระหนี้ภาระค่างานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ภายใน 2-3 เดือน ซึ่งเป็นส่วนที่แยกออกจากค่าจ้างการให้บริการเดินรถ (O&M)
“เราทั้งคู่ไม่ได้รับผิดชอบ แต่มาจากคนก่อนหน้านี้ ต้องดูให้ถูกต้อง เพราะเราเป็นตัวแทนประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัวเรา เป็นเงินของประชาชน”
ชัชชาติกล่าวว่า กทม. เคยขอให้รัฐบาลชุดก่อนรับภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องนี้คงจะต้องดูอีกทีและทำข้อเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทย โดยรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ยังไม่เก็บค่าบริการ คงไม่ฟรีจนไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทของรัฐบาลด้วย เราเชิญเอกชนมาพูดคุยเรื่องนี้ได้ แต่ตัวเลขไม่ใช่ง่ายๆ เพราะสัมปทานมี 2 ส่วน คือส่วนไข่แดงช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ส่วนต่อขยายเป็นส่วนที่ กทม. จ้างเอกชนเดินรถ ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 และจะจ้างเดินรถต่อถึงปี 2585 เราจ่าย 20 บาทได้ไม่มีปัญหาในส่วนต่อขยาย แต่เมื่อคำนวณค่าจ้างเอกชนเดินรถเฉลี่ยอยู่ที่ 33 บาท เท่ากับว่า กทม. ต้องแบกรับส่วนต่าง 13 บาท ยกเว้นจะไปต่อรองกับเอกชนให้ค่าจ้างถูกลงได้