วันนี้ (13 พฤศจิกายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยอมรับถึงความหวั่นไหวในการกระแสต้านที่เกิดขึ้นก่อน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. .… กลับเข้าที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง ยอมรับว่าเคยมีความรู้สึกนั้น แต่ไม่ใช่ช่วงนี้ เป็นความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นช่วงแรก
อนุทินระบุว่า ด้วยความที่เราศึกษาเกี่ยวกับกัญชาระหว่างทำนโยบายมานานหลายปี และลืมไปว่ามีคนบางส่วน เขาไม่ได้มาอัปเดตข้อมูลความรู้เหมือนกับเรา พอมีประกาศปลดล็อกกัญชา หลายคนตกใจ เราก็ตกใจที่เขาตกใจ แล้วก็ค่อยๆ มาตกผลึกแล้วพบว่า เขายังติดอยู่กับความเข้าใจเดิมว่ากัญชาเป็นยาเสพติด และภาพในหัวของเขายังรู้สึกว่ากัญชาไม่ต่างกับยาบ้า
ขณะที่เราอยู่กับแพทย์ที่ใช้กัญชารักษาคนมาหลายปี เราได้ฟังการนำเสนองานวิจัยและสถิติต่างๆ จากต่างประเทศ เราได้รู้ว่ากัญชาไม่ได้ติดง่าย เมื่อเทียบกับเหล้า บุหรี่ ไม่เคยทำให้ใครตาย แต่กัญชามีประโยชน์มหาศาล ทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ แถมอยู่คู่ภูมิปัญญาไทยมานานด้วย สิ่งเหล่านี้คนทั่วไปไม่รู้เลย แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดรู้ เขาจึงได้ให้ถอนกัญชาออกจากความเป็นยาเสพติด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดความหวั่นไหวนั้นจึงหายไป อนุทินกล่าวว่า เป็นธรรมชาติของเราตลอดชีวิต เจอปัญหาก็แก้ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ คนไม่เข้าใจก็สร้างความเข้าใจ มีคณะทำงาน มีการให้ความรู้ในแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ ประชาชนตื่นตัวกันมาก เครือข่ายกัญชาต่างๆ เขารู้มากกว่าตนอีก
“ในที่สุดวันนี้พูดได้เลยว่าคนเข้าใจกัญชามากขึ้นกว่าเดิมมาก ถ้าไม่อคตินะครับ ถ้าศึกษาจริงๆ อย่าลืมว่ามันเป็นพืช เป็นสมุนไพร เราใช้ดีๆ ก็เป็นประโยชน์ได้ ชาวบ้านเขาต้มชาช่วยให้หลับสบาย เอาใบมาชูรสอาหาร เอามาทำน้ำมัน ทำยามานาน ในเมื่อเรารู้แล้วว่าประโยชน์มันมี และโทษมันควบคุมได้ ทำไมเราจะไม่เอามันคืนให้คนไทยได้ใช้งาน ผมคิดแค่นี้ ประโยชน์มีมากเหนือโทษ” อนุทินระบุ
อนุทินกล่าวเสริมอีกว่า โลกนี้ไม่มีอะไรคุมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในการบริหารบ้านเมือง ต้องชั่งน้ำหนัก ซึ่งเป็นสำคัญมาก นักบริหารต้องมีเกณฑ์ในการตัดสินใจกับทุกนโยบาย เกณฑ์นั้นคืออะไร คือการชั่งน้ำหนัก ประโยชน์มีแค่ไหน โทษมีแค่ไหน ถ้าประโยชน์เหนือโทษแล้วจะจำกัดความเสี่ยงอย่างไร การจำกัดความเสี่ยงไม่ได้แปลว่าความเสี่ยงจะเป็นศูนย์ ถ้าจะให้ความเสี่ยงเป็นศูนย์คือห้ามขับรถ แต่จำกัดความเสี่ยงคือการสร้างกฎ จำกัดความเร็ว จำกัดอายุความสามารถผู้ขับขี่ แล้วมีตำรวจจราจร เป็นแบบนี้ มนุษย์เราจึงก้าวหน้าไปได้ทุกวัน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วเหตุใดจึงยังมีคนคัดค้านที่นำ พ.ร.บ.กัญชา เสนอให้เอากลับไปเป็นยาเสพติด อนุทินกล่าวว่าตนเองก็ยังงงเหมือนกัน พรรคการเมืองทุกพรรคไม่กล้าพูดสักพรรคว่าไม่เอากัญชาเลย พรรคการเมืองล้วนสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ เพราะกลัวเสียคะแนน แต่พอจะทำกฎหมายให้ควบคุมกัญชากลับออกมาต้าน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าย้อนแย้งหรือไม่
“พรรคภูมิใจไทยสัญญาว่าจะปลดล็อก คืนกัญชาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เรื่องการออก พ.ร.บ. ไม่ได้อยู่ในคำสัญญาของเรานะครับ แต่เราริเริ่มทำเพื่อตอบสนองต่อข้อห่วงใยของทุกฝ่าย แล้วสภาก็รับไปปรับปรุงต่อ ถ้าไม่ผ่านใครจะรับผิดชอบกับความต้องการของประชาชนในส่วนนี้ ในส่วนของเราที่พูดไป เราทำหมดแล้ว” อนุทินกล่าว
อนุทินกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ยังไม่คิดว่า พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะผ่านหรือไม่ผ่าน ยืนยันว่าเราทำหน้าที่ของเราสมบูรณ์แล้ว วันนี้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ วันนี้กัญชาคือสมุนไพร ได้คืนกัญชาให้ประชาชน พร้อมออกกฎกำกับดูแลเท่าที่ขอบเขตอำนาจจะทำได้แล้ว พร้อมทั้งเสนอร่าง พ.ร.บ. จนคณะกรรมาธิการของสภานำไปพิจารณาต่อยอดเพิ่มเติมไปอีก 50 มาตราแล้ว ถ้าสุดท้ายสภาไม่เอาสิ่งที่ร่วมกันสร้างมา สมัยหน้าจะนำเสนอเข้าไปใหม่
อนุทินตอบคำถามถึงกรณีข้อกล่าวหาถึงความไม่รอบคอบที่ปลดล็อกก่อนมีกฎหมายควบคุมว่า ความรอบคอบในความที่ตนเป็นคนทำงานและเป็นผู้บริหารคือการที่ตนได้ให้กระทรวงสาธารณสุขออกระเบียบเป็นประกาศกระทรวงเพื่อให้การดำเนินนโยบายกัญชา กัญชงไม่สะดุด เพราะคาดไว้ระดับหนึ่งว่าจะต้องมีผู้ขัดขวางการออกกฎหมายด้วยเหตุผลในทางการเมือง ซึ่งก็คือการกลัวพรรคภูมิใจไทยของตนได้รับความนิยมจากพี่น้องประชาชนมากเกินไป ดูได้จากคำพูดของสมาชิกพรรคที่ต่อต้านก็เข้าใจได้เลยว่าพวกเขาไม่ได้ทำการบ้าน ไม่ได้อ่านร่างกฎหมาย ไม่มีหลักการ รับวาระแรกแล้ว จะคว่ำวาระสอง ไม่รักประชาชน
อนุทินยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงพรรคร่วมรัฐบาลต่อ พ.ร.บ.กัญชา กัญชงว่า “เราเคารพกันครับ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจนครบถ้วนแล้ว เป็นประชาธิปไตยกัน สุดท้ายผมเคารพการตัดสินใจของทุกคน”