×

อนุพงษ์ แจงปมท้องถิ่นจัดหาวัคซีน หวั่นเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม มีหลักต้องพิจารณา และอยู่ภายใต้แผน ศบค.

โดย THE STANDARD TEAM
02.06.2021
  • LOADING...
อนุพงษ์ เผ่าจินดา

วันนี้ (2 มิถุนายน) พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลุกขึ้นชี้แจงกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้อภิปรายในประเด็นการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงมหาดไทยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืนยันว่าทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จะต้องผ่านการพิจารณาจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ซึ่งหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามมาตรการและกฎหมาย และปฏิบัติตามอำเภอใจจะต้องประสบกับปัญหาภายในประเทศอย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก หากยังจำได้จะเห็นได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้ามามีส่วนร่วมทั้งการรณรงค์ป้องกันโควิด-19 และการจัดหาหน้ากากอนามัยให้กับพี่น้องประชาชน และใช้สถานที่ท้องถิ่นเป็น Local Quarantine รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม

 

ดังนั้น การจัดหาวัคซีนโควิด-19 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็อยากที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องมาดูทีละประเด็นว่า ประเด็นใดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้ โดยการสรุปรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใด เพื่อนำไปสู่การจัดหาวัคซีน ว่าจะเป็นการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ 

 

พล.อ. อนุพงษ์กล่าวด้วยว่า หากเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาจัดหาวัคซีนจะมีปัญหาใดบ้าง ก็ได้มีข้อเสนอแนะจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้ทำการแจ้งมายังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมาว่า การจัดหาวัคซีนในระยะแรกนี้ขอให้ภาครัฐเป็นคนทำ ก็ถือเป็นอันจบกระบวนความไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายก็ต้องเข้าใจและยอมรับ 

 

พล.อ. อนุพงษ์ยังได้ตอบคำถามแทนกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ได้เตรียมการที่จะจองหรือซื้อมาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยการพิจารณาว่าจะใช้ยี่ห้อใดนั้นมันมีรายละเอียดมากมาย และทำไมเขาถึงจอง AstraZeneca นั้นไม่สามารถที่จะก้าวล่วงระบบสาธารณสุขได้ ซึ่งภายหลังจากการจองวัคซีนแล้วต่อมาได้มีการแจ้งไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ขณะนี้ทราบว่าทุกแห่งในประเทศไทยก็ได้เตรียมการร่วมกันหมดแล้ว รอเพียงการกระจายวัคซีนเท่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็อยากที่จะเข้ามาช่วยในการจัดหาวัคซีนเช่นกัน ซึ่งถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยก็ต้องมีประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณา เช่น อปท. บางแห่งมีงบประมาณและไม่มีงบประมาณที่แตกต่างกันไป รวมทั้งวิธีในการจัดซื้อวัคซีนว่าจะมีวิธีในการจัดซื้ออย่างไร ราคาและยี่ห้อจะต้องไปในทิศทางไหน 

 

“โดยส่วนตัวต้องการที่จะให้ประชาชนมองเห็นปัญหาอยู่ข้อหนึ่งคือ หลักในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นอย่างไร ซึ่งสาธารณสุขบอกว่าต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ 70% ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 70% ของทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และทุกตำบล ซึ่งถ้าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านของราคา และงบประมาณที่จัดลงในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือข้อเปรียบเทียบ เช่น บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดซื้อวัคซีนได้ 100% แต่บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถที่จะจัดซื้อวัคซีนและจัดสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำที่สาธารณสุขต้องการให้สร้างภูมิคุ้มกันไปพร้อมกัน จึงเป็นเรื่องที่น่านำมาพิจารณา” พล.อ. อนุพงษ์กล่าว

 

พล.อ. อนุพงษ์กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้แม้ว่าโดยกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดซื้อวัคซีนเองได้ แต่ยังมีบางระเบียบที่กำหนดไว้ว่าในการดำเนินการจัดซื้อวัคซีน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ศบค. เตรียมแจ้งข้อมูลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าท่านสามารถจัดซื้อวัคซีนได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้แผนของ ศบค. ทั้งการกระจายและการฉีดวัคซีน โดยวิธีการซื้ออย่างไรนั้นวัคซีนแต่ละยี่ห้อก็จะต้องติดต่อกับทางรัฐโดยตรง ซึ่งถ้าซื้อยี่ห้อใดก็ต้องผ่านรัฐอยู่ดี 

   

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising