วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังถูกอภิปรายกล่าวหาว่าการอนุมัติก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองอยู่ในแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งแต่ปี 2552 โดยให้สายรองเป็นอำนาจดำเนินการของท้องถิ่น
ต่อมาคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกได้เห็นชอบให้ กทม. ดำเนินการโครงการ และมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ กทม. ดำเนินการ ในระหว่างนั้น กทม. โดยเคที (บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด) หาแนวทางที่จะลงทุนในส่วนนี้ เพราะ กทม. ไม่มีสภาพคล่อง โดยทางเคทีตกลงกับภาคเอกชนที่จะให้เอกชนซื้อโฆษณาล่วงหน้าของสายสีทองจำนวน 30 ปี ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าของการโฆษณามีจำนวนมาก
พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้น กทม. มอบหมายให้เคทีดำเนินการ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่พึ่งงบประมาณของ กทม. เคทีก็ได้ลงนามใน MOU เรื่องโฆษณา เมื่ออนุมัติดำเนินการ ทางเอกชนให้งบประมาณกับเคทีเพื่อเป็นค่าโฆษณา เคทีไปดำเนินการสร้างโยธาของสายสีทอง ถ้าพิจารณาตรงนี้ถือว่าระบบขนส่งมวลชนเป็นความจำเป็นของทุกเมือง เพราะสามารถแก้ไขปัญหาการจราจร สิ่งแวดล้อม ลดการใช้ยานพาหนะของประชาชน และลดอุบัติเหตุ ระบบขนส่งมวลชนที่จะต้องเป็นระบบรางที่มีทั้งระบบหลักและระบบราง เพื่อดึงให้คนเข้าสู่ระบบการขนส่งมวลชนให้มากที่สุด
ปัญหาของการดำเนินการคือ ทำได้ช้ามากและใช้เงินลงทุนมาก กว่าจะคุ้มทุนต้องใช้เวลา 10 ปี ในอดีตที่ผ่านมามีเอกชนลงทุนงานโยธาเพียงรายเดียวคือ BTS และประสบปัญหาการขาดทุน จากนั้นเป็นต้นมา ภาครัฐต้องเข้ามาลงทุนสร้างงานโยธาเอง และจ้างบริษัทเดินรถ ทำให้การลงทุนเป็นไปอย่างล่าช้า จึงนำมาสู่การลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง คือ หากมีเอกชนรายใดต้องการสร้างงานโยธาของระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่และขอดำเนินการลงทุนทั้งหมด ก็ควรจะต้องพิจารณา โดยมีหลักการพิจารณาว่า ถ้าประเทศชาติได้ประโยชน์ก็ควรรับพิจารณา แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายและเป็นธรรม มิเช่นนั้นจะต้องรอให้รัฐลงทุนเอง ซึ่งจะเป็นไปได้ช้ามาก
เรื่องนี้เมื่อมีการดำเนินการก่อสร้างแล้ว รัฐจะได้เส้นทางสายสีทองมาโดยไม่ได้ลงทุนงานก่อสร้าง ประชาชนได้สายรองในพื้นที่ที่จะสามารถขยายต่อไปได้อีก ส่วนเอกชนก็สามารถดำเนินประกอบธุรกิจได้ ส่วนการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีปี 2537 ที่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์จะต้องสร้างเป็นระบบใต้ดินนั้น สายสีทองเป็นสายรองที่ต้องเชื่อมกับสายอื่นๆ เช่น สายสีเขียวที่มีอยู่แล้ว เป็นต้น หากไม่ทำเช่นนี้จะต้องใช้เงินลงทุนและเวลาดำเนินการอีกมาก ดังนั้นมติ ครม. จึงยกเว้นให้สามารถก่อสร้างบนดินได้ เพื่อเชื่อมกับสายสีเขียว
“อยากเสนอสภาให้ช่วยพิจารณาเรื่องคำว่า ‘เอื้อ’ ด้วย การลงทุนในประเทศจะต้องมีนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องมีช่องให้นักลงทุนภายในประเทศได้มีโอกาสลงทุน ขณะนี้สังคมกำลังคิดว่าทางเอกชนรวยมากและได้เปรียบ ขอให้ลองพิจารณาดูว่าที่จะให้คนที่รวยที่ลงทุนในแผ่นดินภายใต้กฎหมาย ถ้าไม่ให้ลงทุนแล้วก็อยู่อย่างนี้ อยู่เฉยๆ แต่เมื่อเรามีความสามารถจะทำได้ ก็ควรดำเนินการ ในคณะรัฐมนตรีนั้น นายกฯ เพียงคนเดียวสั่งไม่ได้หรอกครับ เพราะไม่มีใครยอมไปเป็นคดี และอยู่ในคณะรัฐมนตรีก็มีหลายเรื่องที่ไม่เห็นด้วย และก็ถอนกลับไปเสมอ ดังนั้นมติ ครม. ก็เป็นมติ ครม. ไม่ใช่นายกฯ” พล.อ. อนุพงษ์ กล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า