แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ ณ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน วานนี้ (26 พฤษภาคม) โดยระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะมุ่งเน้นไปที่ 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ‘การลงทุน การประสานความร่วมมือ และการแข่งขัน’ พร้อมย้ำว่า แม้สหรัฐฯ จะไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับจีน แต่สหรัฐฯ ก็เตรียมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชาติอย่างเต็มที่
“เราจะลงทุนในระดับรากฐานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในประเทศ ซึ่งได้แก่การลงทุนในด้านขีดความสามารถทางการแข่งขัน นวัตกรรม และประชาธิปไตย เราจะประสานความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรของสหรัฐฯ ให้ร่วมบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน และด้วยการใช้ประโยชน์จาก 2 ปัจจัยนี้ เราจะแข่งขันกับจีนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับอนาคต” บลิงเคนกล่าว
การกล่าวสุนทรพจน์ที่มีความยาวกว่า 40 นาทีของบลิงเคน มีขึ้นท่ามกลางช่วงเวลาที่ประชาคมโลกต่างให้ความสนใจกับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยเขากล่าวในประเด็นนี้ว่า “จีนออกตัวปกป้องการทำสงครามของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อหวังบั่นทอนอำนาจอธิปไตยของยูเครน และพยายามรักษาอิทธิพลของจีนที่มีต่อยุโรป” บลิงเคนกล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญที่ชาวอินโด-แปซิฟิกจะต้องให้ความสนใจเกี่ยวกับภัยคุกคามจากรัฐบาลจีนที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก แม้ขณะนี้สถานการณ์ในยูเครนจะน่าเป็นห่วงอย่างมากก็ตาม
บลิงเคนกล่าวว่า จีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีความตั้งใจที่จะจัดระเบียบโลกใหม่ อีกทั้งยังเป็นชาติที่มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ การทูต การทหาร และเทคโนโลยี ที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
อนึ่ง ท่ามกลางความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีทั้งความขัดแย้งและผลประโยชน์ บลิงเคนได้อธิบายถึงแนวทางที่สหรัฐฯ หวังใช้สร้างสัมพันธ์กับจีนในภาพรวม แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้กล่าวโจมตีจีนถึงแนวทางที่แตกต่างกันระหว่าง 2 ชาติ ได้แก่ ประเด็นที่รัฐบาลจีนชอบใช้วิธีการกดขี่ประชาชน การค้าที่ไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แต่ถึงเช่นนั้น บลิงเคนก็ย้ำว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการที่จะขัดขวางเป้าหมายของจีนในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลก หรือต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองในประเทศ และที่สำคัญคือสหรัฐฯ ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับจีน
“เราไม่ได้พยายามขัดขวางจีนในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก และไม่ได้พยายามสร้างอุปสรรคให้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือขัดขวางผลประโยชน์ของประชาชนชาวจีน แต่เราจำเป็นต้องปกป้องและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎหมาย ข้อตกลง หลักการ และสถาบันระหว่างประเทศซึ่งทำหน้าที่รักษาสันติภาพและความมั่นคง สหรัฐฯ จะปกป้องสิทธิของบุคคลและประเทศเอกราช พร้อมทำให้ทุกประเทศสามารถอยู่ร่วมกันและร่วมมือกันได้ รวมถึงสหรัฐฯ และจีนเองด้วย
“เราไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้งหรือก่อสงครามเย็นกับจีน ในทางตรงกันข้าม เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาทั้งสองอย่างเกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ” บลิงเคนกล่าว
ทั้งนี้ บลิงเคนกล่าวว่าสหรัฐฯ พร้อมที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและการสื่อสารกับจีนในประเด็นต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ และพร้อมที่จะประสานความร่วมมือเพื่อบรรลุผลประโยชน์ของชาติที่มีร่วมกัน เช่น ประเด็นภาวะโลกร้อนและการต่อสู้กับโควิด
“เราจะไม่ยอมปล่อยให้ความขัดแย้งมาเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถเดินหน้าบรรลุเป้าหมายที่สำคัญได้ ซึ่งคือการร่วมมือกับเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนของเราและพลเมืองโลก” บลิงเคนกล่าว
“นี่คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นของโลก” บลิงเคนกล่าว “และในช่วงเวลาเช่นนี้ บทบาททางการทูตจึงสำคัญมาก เพราะเป็นวิถีทางที่เราจะได้สะสางความวิตกกังวล พร้อมทำความเข้าใจถึงมุมมองของกันและกันได้ดีขึ้น เพื่อที่จะขจัดความกังขาในเจตนาของแต่ละชาติ
“เราพร้อมที่จะยกระดับการสื่อสารโดยตรงกับจีนในประเด็นต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ และเราหวังว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จริง” บลิงเคนกล่าว
ส่วนในประเด็นไต้หวันนั้น บลิงเคนยังคงเน้นย้ำเหมือนเช่นเดิมว่า นโยบายของสหรัฐฯ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะสร้างความขุ่นเคืองให้กับจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยการกล่าวว่า สหรัฐฯ พร้อมส่งกำลังทหารเข้าช่วยปกป้องอธิปไตยของไต้หวัน หากในท้ายที่สุดจีนตัดสินใจเข้ารุกรานเกาะดังกล่าว
“เราคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบันจากทุกฝ่าย เราไม่สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน และเราหวังว่าความขัดแย้งข้ามช่องแคบจะสามารถแก้ไขได้ด้วยสันติวิธี” บลิงเคนกล่าว “แต่ถึงแม้นโยบายของเราจะไม่ได้เปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงคือจีนได้กระทำการข่มขู่ไต้หวันเพิ่มขึ้น เช่น จีนพยายามตัดสัมพันธ์ไต้หวันกับชาติอื่นๆ ทั่วโลก หรือปิดกั้นไม่ให้ไต้หวันได้เข้าร่วมในองค์กรระดับโลก อีกทั้งยังมีการกระทำที่เป็นการยั่วยุต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น การส่งเครื่องบินทหารเข้าใกล้เขตแดนของไต้หวันแทบจะทุกวัน
“คำพูดและการกระทำเหล่านี้เป็นการบ่อนทำลายความมั่งคงอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นการคุกคามสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน
“ดังที่เราเห็นจากการหารือของท่านประธานาธิบดีกับชาติพันธมิตรและพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิก การรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคดังกล่าวไม่ใช่แค่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่เป็นประเด็นในระดับสากล ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก”
ภาพ: Alex Wong / Getty Images
อ้างอิง: