ชัยชนะถล่มทลายของพรรคเลเบอร์ และนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบาเนซี ในการเลือกตั้งทั่วไปของออสเตรเลียช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนความน่าสนใจหลายประการในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งชัยชนะของขั้วการเมืองเสรีนิยมฝ่ายซ้าย และปัจจัยจากภาวะเงินเฟ้อ และ ‘ทรัมป์เอฟเฟกต์’ ที่ซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างน่ากังวล
การเลือกตั้งของออสเตรเลียครั้งนี้ ฉายให้เห็นภาพรวมปฏิกิริยาของชาวออสเตรเลียที่มีต่อระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง อันเนื่องจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำหนดเป้าหมายขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ต่อประเทศต่างๆ และมีท่าทีไม่เกรงใจใคร แม้แต่พันธมิตรดั้งเดิมของวอชิงตัน
ผลเลือกตั้งที่ออกมา คล้ายกับการเลือกตั้งของแคนาดา ที่จัดขึ้นไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ซึ่งพรรคลิเบอรัล ของนายกรัฐมนตรี มาร์ก คาร์นีย์ พรรครัฐบาลฝ่ายซ้าย สามารถคว้าชัยชนะได้เป็นสมัยที่ 4 จากแนวนโยบายที่พร้อมต่อต้านทรัมป์ โดยคะแนนเสียงที่ออกมา บ่งบอกชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ‘ไม่เอา’ ผู้สมัครสายอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา ที่มีแนวคิดคล้ายกับทรัมป์
ขณะที่ออสเตรเลียเอง ก็มีผู้สมัครแนวหน้าที่มีแนวคิดขวาจัดคล้ายทรัมป์ ทำให้อัลบาเนซีกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบและเอาชนะไปแบบขาดลอย
และนี่คือความน่าสนใจหลายอย่างที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งของออสเตรเลีย ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความท้าทายจากวิกฤตทั้งในและนอกประเทศ
ทรัมป์ เอฟเฟกต์ กระตุ้นความนิยมฝ่ายซ้าย
พรรคเลเบอร์กวาด สส. ไปได้ 87 ที่นั่ง จากทั้งหมด 150 ที่นั่ง นำหน้าคู่แข่งหลักอย่างกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมือง LNP (Liberal-National Coalition) พรรคฝ่ายค้านสายอนุรักษนิยม กลาง-ขวา ของ ปีเตอร์ ดัตตัน ที่ได้ไป 39 ที่นั่ง
ชัยชนะของพรรคเลเบอร์และอัลบาเนซี ค่อนข้างน่าประหลาดใจ หากดูจากผลสำรวจความนิยมในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งอัลบาเนซีมีคะแนนนิยมลดลง และเป็นดัตตัน ที่ถูกจับตามองว่า มีโอกาสนำกลุ่มพรรคการเมือง LNP ชนะการเลือกตั้งและพลิกกลับมาเป็นรัฐบาล
แต่เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามา ผลสำรวจกลับเปลี่ยนเป็นอัลบาเนซีที่มีคะแนนนิยมนำเป็นอันดับ 1 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า น่าจะเป็นผลจากแคมเปญหาเสียง ที่ส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่นโยบายแก้ปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง ภาวะเงินเฟ้อ และที่อยู่อาศัยราคาแพง ซึ่งกระทบต่อชีวิตของชาวออสเตรเลียจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม นโยบายและท่าทีต่างๆ ของทรัมป์ เป็นอีกปัจจัยกระตุ้นที่มีผลสำคัญต่อการเลือกตั้ง
นักวิเคราะห์มองว่าการที่อัลบาเนซีชนะเลือกตั้งไปแบบขาดลอย เป็นเพราะดัตตัน มีแนวนโยบายหลายอย่างที่คล้ายกับทรัมป์มากจนเกินไป เช่น การให้คำมั่นสำคัญว่าจะลดจำนวนข้าราชการพลเรือน การมุ่งกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมาย หรือการประกาศว่าจะไม่ยืนต่อหน้าธงชาติของกลุ่มชนพื้นเมืองอะบอริจิน
ความคล้ายคลึงดังกล่าว ทำให้นักวิจารณ์บางคนขนานนามดัตตันว่าเป็น ‘Temu Trump’ ซึ่งคำว่า Temu อ้างอิงถึงแอปพลิเคชันขายสินค้าราคาถูกสัญชาติจีนที่มีสินค้าลอกเลียนแบบไร้ยี่ห้อจำหน่าย ในที่นี้สะท้อนถึงการเลียนแบบนโยบายและสไตล์ของทรัมป์
อย่างไรก็ตาม การที่ทรัมป์ มีนโยบายขึ้นภาษีต่อประเทศต่างๆ และอาจซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่พุ่งสูงในออสเตรเลีย ทำให้ชาวออสเตรเลียจำนวนมากที่ไม่ไว้ใจทรัมป์ก็ไม่ไว้ใจให้ดัตตันและกลุ่มพรรคการเมือง LNP เช่นกัน
โดยแม้ว่าดัตตันจะอ้างว่า ตนเองมีแนวนโยบายเป็น ‘ตัวของตัวเอง’ แต่เขาก็ถูกหลายฝ่ายกล่าวหาว่าเป็นผู้ปลุกปั่นยุยงให้เกิดสงครามวัฒนธรรม อีกทั้งยังกล่าวโจมตีผู้อพยพและสื่อต่างๆ ด้วยวาทกรรมที่คล้ายกับทรัมป์
ในช่วงหาเสียงที่ผ่านมา ดัตตันพยายามแสดงให้ประชาชนออสเตรเลียเห็นว่าเขาแตกต่างจากทรัมป์ แต่นั่นไม่เพียงพอที่จะโน้มน้าวใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มองว่าเขาคือบุคคลที่เหมาะสมจะนำพาประเทศผ่านช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายระดับโลกนี้ไปได้
ยุคใหม่การเมืองออสเตรเลีย
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ (3 พฤษภาคม) ทำให้อัลบาเนซีกลายเป็นนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งซ้ำในรอบ 20 ปี และอาจเป็นสัญญาณการสิ้นสุดการหมุนเวียนอำนาจรัฐบาลของผู้นำและพรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นมาอย่างยาวนาน
ช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ออสเตรเลีย มีนายกรัฐมนตรี 6 คน โดยส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 3 ปี ซึ่งสอดคล้องกับความถี่ในการเลือกตั้งของออสเตรเลีย
ชัยชนะในการเลือกตั้งที่เด็ดขาดและเสียงข้างมากที่มากพอ จะทำให้อัลบาเนซีสามารถดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 ได้ครบวาระ 3 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้น และอาจทำให้เขามีโอกาสปรับเปลี่ยนทิศทางการเมืองของประเทศ ในแบบที่ไม่มีผู้นำออสเตรเลียคนใดทำได้ นับตั้งแต่ยุคนายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด (John Howard) ของพรรคลิเบอรัล ที่ครองอำนาจต่อเนื่องถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 1996-2007
โดยในช่วงเวลาที่แห่งความวุ่นวายจากนโยบายของทรัมป์นี้ อัลบาเนซีสามารถแสดงให้เห็นถึงความนิ่งและท่าทีที่น่าเชื่อถือในการตอบโต้การตัดสินใจของทรัมป์ที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากออสเตรเลีย 10% ก่อนที่จะมีการระงับภาษีนำเข้าดังกล่าว
ปากท้อง-โลกร้อน สำคัญ
ชาวออสเตรเลียจำนวนมาก แสดงความเชื่อมั่นในนโยบายของอัลบาเนซีที่จะรับมือกับ 2 ปัญหาสำคัญ ณ ตอนนี้ คือค่าครองชีพที่เพิ่มสูงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มากกว่าแนวคิดในทางอนุรักษนิยมของดัตตัน เช่น การต่อต้านนโยบายส่งเสริมชนพื้นเมือง ต่อต้านผู้อพยพ หรือการมุ่งปราบปรามวัฒนธรรมการตื่นรู้ และการปลูกฝังแนวคิดต่างๆ ในโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาอัลบาเนซีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังไม่ได้ทำอะไรมากพอที่จะช่วยลดค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยแรก
แต่เขาให้คำมั่นว่า ในปีต่อๆ ไปหลังจากนี้ รัฐบาลของเขาจะดำเนินนโยบาย ทั้งการลดหย่อนภาษี ลดราคายารักษาโรค และออกนโยบายสนับสนุนผู้ซื้อบ้านหลังแรก เพื่อบรรเทาปัญหาที่อยู่อาศัยราคาแพง
ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าอัลบาเนซีจะเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการอนุมัติโครงการขุดเจาะถ่านหินและก๊าซในช่วงสมัยแรก แต่อัลบาเนซีก็เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินการรับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ และย้ำความสำคัญของพลังงานหมุนเวียน ที่เขาเชื่อมั่นว่าเป็นโอกาสเพื่ออนาคตเศรษฐกิจของออสเตรเลีย
ภาพ: AAP Image/Lukas Coch/via REUTERS
อ้างอิง: