×

Antebellum เมื่อความเกลียดชังต่อเพื่อนมนุษย์ คือความปั่นประสาทเหนือหลักเหตุและผล

16.09.2020
  • LOADING...

สำหรับใครที่เป็นคอภาพยนตร์สยองขวัญ เราเชื่อว่าสองผลงานสุดปั่นประสาท อย่าง Get Out และ Us โดยผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง จอร์แดน พีล จะต้องอยู่ในลิสต์ภาพยนตร์สยองขวัญในดวงใจของใครหลายคนอย่างแน่นอน

 

ซึ่งแม้ว่าครั้งนี้ Antebellum จะไร้เงาของ จอร์แดน พีล ก็ตาม แต่เราคิดว่าสองผู้กำกับหน้าใหม่อย่าง เจอราร์ด บุช และ คริสโตเฟอร์ เรนซ์ ที่ ฌอน แม็กคิตทริก และ เรย์มอนด์ แมนส์ฟิลด์ สองโปรดิวเซอร์จาก Get Out และ Us เลือกให้มานั่งแท่นผู้กำกับในครั้งนี้ ต่างร่วมกันสร้างสรรค์โลกอันบิดเบี้ยวของ Antebellum ผ่านประเด็นการเหยียดสีผิวออกมาได้อย่างน่าสนใจทีเดียว       

 

 

โดยกล่าวถึงเรื่องราวของ เวโรนิกา เฮนลีย์ (จาเนลล์ โมเน) นักเขียนหญิงและนักเคลื่อนไหวสิทธิคนผิวสีที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขภายใต้ความสำเร็จที่เธอสร้างไว้ 

 

แต่แล้ววันหนึ่ง เวโรนิกากลับพบว่าตัวเองถูกย้อนเวลากลับไปในยุคสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกัน ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นทาสโดยมีชื่อใหม่ว่า อีเดน ที่ต้องทำงานในไร่ฝ้ายของเหล่าทหารอเมริกันผิวขาวผู้เลือดเย็น เธอจึงต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อพาทุกคนหลบหนีออกจากขุมนรกให้จงได้

 

 

จุดอ่อนสำคัญของ Antebellum ที่เราต้องกล่าวถึงเป็นอันดับแรกคือ สำหรับใครที่เฝ้ารอความสยองขวัญชวนปั่นประสาทเช่นเดียวกับ Get Out และ Us ที่ จอร์แดน พีล เคยสร้างไว้ อาจจะต้องผิดหวังพอสมควร เนื่องด้วยตัวภาพยนตร์ค่อนข้างดำเนินเรื่องไปในทิศทางดราม่าเป็นส่วนใหญ่ เพื่อขับเน้นให้เราเห็นถึงความโหดร้ายทารุณที่เหล่าคนผิวขาวกระทำต่อคนผิวดำอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมามากที่สุด นั่นจึงส่งผลให้ฉากปั่นประสาทต่างๆ ถูกลดทอนลงไปพอสมควร

 

แต่ในขณะเดียวกัน เจอราร์ด บุช และ คริสโตเฟอร์ เรนซ์ ยังถือเป็นสองผู้กำกับที่มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยม

ทั้งการค่อยๆ พาผู้ชมไปทำความรู้จักตัวละครหลักอย่าง เวโรนิกา เฮนลีย์ และ อีเดน ในทุกมิติ การดำเนินเรื่องที่หลอกล่อให้ผู้ชมเชื่อกับเรื่องราวที่พวกเขากำลังนำเสนออย่างสนิทใจ ก่อนที่จะเซอร์ไพรส์ผู้ชมด้วยการ ‘หักมุม’ ที่ทำให้เราเผลอร้อง อ่าวเฮ้ย ออกมากลางโรงภาพยนตร์ ซึ่งเรื่องราวหลังจากการหักมุมยังเป็นการไขปริศนาต่างๆ ที่ถูกปูไว้ในตอนต้นเรื่องอย่างสมเหตุสมผลอีกด้วย

 

เรียกได้ว่า Antebellum อาจจะไม่สามารถนำเสนอความระทึกขวัญออกมาได้ดีเท่าไรนัก แต่ชั้นเชิงในการเล่าเรื่องที่นำไปสู่การหักมุม ถูกสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้ Get Out และ Us เลยทีเดียว

 

อีกหนึ่งจุดเด่นสำคัญของ Antebellum คือการแสดงอันยอดเยี่ยมของ จาเนลล์ โมเน ศิลปินหญิงและนักแสดงเจ้าบทบาทที่ใครหลายคนจดจำเธอได้เป็นอย่างดีจาก Hidden Figures (2016) และ Moonlight (2016) ซึ่งเธอก็ทำหน้าที่พาเราไปสำรวจทุกห้วงอารมณ์ความรู้สึกของคนผิวดำที่ถูกกลุ่มคนผิวขาวทำร้ายออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม 

 

 

และอย่างที่เรากล่าวไว้ในตอนต้น สิ่งที่เข้ามาทดแทนความระทึกขวัญ คือการฉายภาพความโหดร้ายทารุณที่เหล่าคนผิวขาวกระทำต่อคนผิวดำให้เราได้ชมอย่างตรงไปตรงมา

 

โดย เจอราร์ด บุช และ คริสโตเฟอร์ เรนซ์ จะพาเราย้อนเวลากลับไปสำรวจความดิบเถื่อนที่เคยเกิดขึ้นในยุคสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกัน (ค.ศ. 1861-1865) ซึ่งถือเป็น ‘อีกหนึ่ง’ หน้าประวัติศาสตร์ที่ชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ตกเป็น ‘ทาส’ ถูกกลุ่มคนผิวขาวทารุณอย่างโหดเหี้ยมเสมือนว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์

 

นอกจากนี้ Antebellum ยังอัดแน่นไปด้วยสัญลักษณ์ของการถูกกดขี่และการแบ่งชนชั้น เริ่มตั้งแต่ ไร่ฝ้าย สถานที่ทำงานของเหล่าแรงงานผิวดำที่ตกเป็นทาส, ธง ที่เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America), เครื่องแต่งกายชาวสวนของเหล่าคนผิวดำ ฯลฯ

 

เรื่องราวทั้งหมดล้วนแสดงให้เราเห็นว่า สิ่งที่น่าหวาดกลัวยิ่งกว่าเรื่องราวสุดปั่นประสาทที่เรามิอาจหาคำตอบได้ คือความเกลียดชังที่ก่อตัวขึ้นในจิตใจของมนุษย์ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดเหี้ยม

 

ซึ่งมันยิ่งเจ็บปวดเมื่อเรื่องราวที่ Antebellum กำลังฉายภาพให้เราเห็นนั้น คือส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นจริง และความเกลียดชังเหล่านั้นยังคงถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน 

 

Antebellum จึงเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ชวนเราตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ความเกลียดชังต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันยังคงอยู่ เพื่อช่วยกันหยุดยั้งประวัติศาสตร์แห่งการกดขี่อันยาวนานนี้ลงเสียที

 

Antebellum กำหนดเข้าฉายในวันที่ 17 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

สามารถรับชมตัวอย่างภาพยนตร์ Antebellum ได้ผ่านทาง 

 

 

ภาพประกอบโดย

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X